เนื่องในวันที่ 18 มกราคมของทุกปี เป็น ‘วันกองทัพไทย’ เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของบูรพกษัตริย์และบรรพชนที่เสียสละปกป้องแผ่นดินไทย ผ่านพิธีถวายสักการะและพิธีสวนสนามกระทำสัตย์ปฏิญานตนต่อธงเฉลิมชัย เพื่อให้กำลังพลยึดมั่นและรักษาสัตย์ในการปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบเพื่อส่วนรวมและประเทศชาติ
ทว่าตลอดช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้คนในสังคมต่างเริ่มตั้งคำถามถึง ‘งบประมาณของกองทัพ’ สอดคล้องกับข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพของผู้เรียกร้องประชาธิปไตย เนื่องจากเห็นว่า ‘งบประมาณซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์’ นับหมื่นล้านคุ้มค่าในยุคสมัยปัจจุบันหรือไม่
โดยเฉพาะในห้วงที่ประเทศกำลังเผชิญกับไวรัสโควิด-19 ที่งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขอาจไม่เพียงพอต่อการจัดการปัญหา ข้อเรียกร้องที่ถูกประสานเสียงทั้งในและนอกรัฐสภา คือการขอให้กองทัพตัดงบซื้อ ‘เรือดำน้ำ’ และ ‘เครื่องบินรบ’ ผ่าน ‘งบผูกพัน’ หรือ ‘การก่อหนี้ข้ามปี’ ซึ่งในแง่หนึ่งคือภาระในอนาคต ที่ประชาชนต้องร่วมจ่ายในรูปแบบภาษี
ท่ามกลางขบวนสวนสนามของเหล่าทหารในวันกองทัพไทย ‘วอยซ์’ ชวนตรวจสอบงบกระทรวงกลาโหม ซึ่งในปี 2566 ตามเอกสารงบประมาณรายจ่าย (หน้า 719) ฉบับปรับปรุง ตาม พ.ร.บ.งบฯ ปี 2566 มีจำนวนอยู่ที่ 194,498,728,200 บาท
ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ของกระทรวงกลาโหม ‘ให้มีศักยภาพทางทหารที่ทัดเทียมกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีพ.ศ. 2570’ โดยผลสัมฤทธิ์ที่คาดว่าจะเกิดประโยชน์กับประชาชน คือ ‘กองทัพมีความพร้อมในการเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ’ และ ‘ธำรงรักษาไว้ซึ่งพระสถาบันพระมหากษัตริย์’
เมื่อเหลียวมองรายการผูกพันที่ต้องผ่อนจ่าย ในงบประมาณ รวม 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2566-2569 มีจำนวนอยู่ที่ 60,554.4257 ล้านบาท จำแนกงบรายจ่ายไปยัง 5 หน่วยงานดังนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม, กองทัพบก, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ, กองบัญชาการกองทัพไทย
โดยมีสัดส่วนแบ่งจ่ายในปี 2566 จำนวน 20,170.9286 ล้านบาท, ปี 2567 จำนวน 23,088.1156 ล้านบาท, ปี 2568 จำนวน 13,249.8484 ล้านบาท, ปี 2569 จำนวน 4,045.5331 ล้านบาท ซึ่งหลักเกณฑ์การจ่ายงบผูกพันมีผลใช้หลังผ่านกระบวนการทางกฎหมาย
ด้วยเหตุนี้ ‘วอยซ์’ ได้สอบถามไปยัง ‘พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้อภิปราย ‘งบกระทรวงกลาโหม’ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เขาเคยนิยามการจัดงบว่า ‘ไม่คุ้มค่า ไม่ตอบโจทย์ ไม่โปร่งใส’
‘พิจารณ์’ ได้ยกตัวอย่างเรื่องการ ‘ซื้อเรือดำน้ำ’ เพื่ออธิบายคำว่า ‘งบผูกพัน’ ให้ชัดขึ้น หากสัญญาจัดซื้อระบุว่า 6 ปี รัฐก็จะเริ่มทยอยจ่ายทีละงวด ซึ่งตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ระบุว่าการก่อหนี้ผูกพันข้ามปี ต้องชำระงวดแรก 20% ของมูลค่าโครงการ
แต่ที่ผ่านมากองทัพเรือมีความพยายามที่จะตั้งงบ ‘จัดซื้อเรือดำน้ำ’ โดยใช้มติคณะรัฐมนตรี ลดเพดานการจ่ายต่ำกว่า 20% ของมูลค่าโครงการ หรือเรียกว่า ‘ดาวน์น้อยๆ ผ่อนนานๆ’ เลยเป็นผลพวงให้ตัวเลขงบผูกผันขยายตัวเลขไปเรื่อยๆ
“นึกออกไหมถ้าจ่ายงวดแรกไป 20% จะเป็นเงินก้อนใหญ่ที่ไปเบียดบังงบของกองทัพในการซื้ออาวุธอื่น เพราะในการจัดสรรงบประมาณให้กระทรวงกลาโหมหรือทุกกระทรวงในประเทศนี้ เขาแบ่งเค้กไว้อยู่แล้ว” พิจารณ์ ฉายภาพการจัดสรรงบ
ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลได้เสนอว่าการจัดสรรงบประมาณแบบ Zero-based budgeting หรือ การตั้งงบประมาณฐานศูนย์ ที่ต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ภัยคุกคามในปัจจุบัน ทว่ารัฐบาลชุดนี้กลับจัดงบสรรงบเหมือนเดิม แบ่งกันเป็นก้อนๆ แต่ละกระทรวงได้แบบไหนก็ได้เช่นเดิม
“งบผูกพันของกระทรวงกลาโหม ที่ระบุในเอกสารงบประมาณปี 66 ถือว่าผ่านเป็น พ.ร.บ.แล้ว เมื่อเป็นกฎหมายมีแต่อำนาจ มติ ครม.ที่จะยกเลิกรายจ่ายเหล่านี้ได้ หมายความว่าถ้าปีหน้าโครงการจัดหาอาวุธเหล่านี้เข้ามาในสภาฯ ส.ส.จะไม่มีอำนาจปรับลดงบ ทำได้แค่เลื่อนออกไป หากพบว่าคู่สัญญาไม่ดำเนินการตามเงื่อนไข”