ไม่พบผลการค้นหา
'เพื่อไทย’ ร้องตัดงบคมนาคม ย้ำงบกรมทางหลวงฯ กระจุกตัวอยู่บุรีรัมย์ยังไม่ยอมปรับ ท้ายสุดสภาฯ ดันผ่านงบฯ 'คมนาคม' ขณะที่ฝ่ายค้านอภิปรายถล่ม 'ดีอีเอส' จัดงบฯ 'ศูนย์ต้านข่าวปลอม' ด้านวิปรัฐบาลแย้มเพิ่มวันถกงบฯ 24 ส.ค.นี้

วันที่ 19 ส.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านบาท ในวาระที่ 2 ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วเป็นการพิจารณาต่อเนื่องวันที่สาม

โดย ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปรายขอตัดงบกระทรวงคมนาคม 10% พร้อมชี้ให้เห็นข้อบกพร่องในการทำงานของกรมทางหลวงและทางหลวงชนบท มีการนำงบไปละเลงกับโครงการซ่อมบำรุงถนน แต่ขาดเครื่องหมายจราจรที่ชัดเจน ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ รวมถึงน้ำท่วมขัง ตนเคยติติงปัญหาเดิมมา 4 ปีแล้ว กลับไม่ได้รับการสนองตอบ ตลอดจนอุบัติเหตุล่าสุดในท่าอากาศยานก็ไม่ได้รับการเหลียวแล อีกทั้งรัฐบาลยังไปค้ำประกันสายการบินไทยที่กำลังจะล้มละลาย แต่ใช้เงินภาษีจากประชาชนไปอุ้มถือว่าคุ้มหรือไม่

วิสาร เพื่อไทย งบประมาณ ประชุมสภา -682A-4441-BB00-CCB56081A75A.jpeg

ด้าน พัฒนา สัพโส ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ย้ำถึงการจัดสรรงบประมาณของกรมทางหลวงและทางหลวงชนบท ที่ยังกระจุกตัวอยู่ใน จ.บุรีรัมย์ ทั้งข้อสังเกตของกรรมาธิการคือต้องไม่จัดสรรงบโดยยึดโยงกับพื้นที่หรือฐานเสียงทางการเมือง เคยอภิปรายตั้งวาระ 1 แต่ในวาระ 2 กลับยังไม่มีการปรับลด 

จากนั้น ที่ประชุมสภาฯ มีมติ 201 ต่อ 85 เสียง งดออกเสียง 2 เห็นชอบตามการแก้ไขของคณะกรรมาธิการฯ เสียงข้างมากในมาตรา 15 งบประมาณกระทรวงคมนาคม วงเงิน 57,975 ล้านบาท

ประชุมสภา งบประมาณ -9197-475F-8269-600310121A33.jpegศรัณย์ -9944-4E08-B760-2149D3C139E3.jpeg

‘ก้าวไกล’ ถล่ม ‘ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม’ เครื่องมือทางการเมือง ขยันปิดปากประชาชน

จากนั้น ที่ประชุมพิจารณาในมาตรา 16 ว่าด้วยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ซึ่ง กมธ.เสียงข้างมากได้ปรับเป็นวงเงิน 3,735 ล้านบาท

โดย ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อยที่สงวนความเห็น คัดค้านการให้งบประมาณของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของไทย ซึ่งไม่ได้รับความเชื่อถือจากหลายหน่วยงานทั่วโลก เพราะศูนย์ดังกล่าวไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง และขาดมาตรฐานในการตรวจสอบข่าว เพราะไม่ได้ใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น Reverse Image Search หรือ WeVerify ขณะที่การตรวจสอบของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของไทย มีวิธีเดียวคือการสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจริงหรือไม่ และรายงานมาตามนั้น ไม่มีมีการตรวจสอบกับหน่วยอื่นเลย

“เหมือนมาโฆษณานโยบายให้กระทรวงต่างๆ เท่านั้น กระบวนการแบบนี้ไม่ใช่การตรวจสอบข้อเท็จจริง เป็นเพียงการเผยแพร่ความคิดเห็นของหน่วยงานรัฐ และนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมประชาสัมพันธ์ มีเงินเยอะแยะ งบปีละ 2 พันกว่าล้านบาท ถ้าทำไม่ได้ ผมแนะนำท่านนายกฯ ปลดอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ทิ้ง”

ทั้งนี้ ปกรณ์วุฒิ ยังชี้ให้เห็นว่างานที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมให้ความสำคัญคือเน้นดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างทางการเมือง จะเห็นได้จากเจ้าหน้าที่จัดเก็บหลักฐานสนับสนุนงานคดีถึง 10 คน จากทั้งหมด 50 คน และยังได้ประกาศราวกับภาคภูมิใจว่าได้ดำเนินคดีกับประชาชนไปแล้วกว่า 100 ราย จึงย้ำว่าต้องตัดงบประมาณทั้งหมด 86 ล้านบาท ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม

ฝ่ายค้านชำแหละหน่วยงานดีอีเอส ไร้ผลสัมฤทธิ์

นภาพร เพ็ชร์จินดา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย อภิปรายว่า กระทรวงดีอีเอสยังไม่สามารถสร้างระบบที่เอื้อต่อการทำงานของราชการให้สามารถช่วยเหลือประชาชนจากภัยทางไซเบอร์ได้เท่าที่ควร เมื่อประชาชนพบปัญหาก็ต้องวิ่งมาบอก ส.ส. เพราะกระทรวงดิจิทัลฯ ไม่สามารถแก้ให้ได้ พร้อมเผยว่าในอนุกรรมธิการเองยังมีผู้ทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์งบ คอยขัดขวางการปรับลดงบประมาณของแต่ละกระทรวง

ขณะที่ ศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า หลายๆ หน่วยงาน เช่น คอลเซ็นเตอร์ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ที่มีงบประมาณร่วมกันเกือบ 100 ล้านบาท แต่ไม่ได้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อประชาชน แม้กระทั่งศูนย์ดิจิทัลชุมชน 64.5 ล้านบาท ก็มีความน่าสงสัยในกระบวนการซื้อขาย แต่ไม่มีผู้ใดแตะต้องตรวจสอบได้

จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบงบประมาณของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 3,735 ล้านบาท ด้วยคะแนนเสียง 224 เสียง ไม่เห็นด้วย 106 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง

226A823B-BB0C-4C2B-986C-8EFF8C7D555A.jpeg677C4DAC-3418-4AC1-B8D8-A1D3A1290208.jpegCE7C04DF-8664-447F-8445-A09040B5DE97.jpeg

‘วิปรัฐบาล’ เล็งชงนัดประชุมถกงบ วาระ 2 เพิ่มวันพุธที่ 24 ส.ค.

ที่รัฐสภา สุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมการประสานงานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการนัดหารือร่วมกันระหว่างวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านถึงกรณีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในวาระสอง ที่มีข้อเสนอให้เพิ่มวันประชุม ว่าตามกรอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ พ.ศ.2566 ที่กำหนดให้สภาฯ พิจารณาให้เสร็จภายใน 105 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 29 ส.ค.นี้ ดังนั้นหากจะเพิ่มวันพิจารณาในสัปดาห์หน้าสามารถทำได้ เพราะไม่เกินกรอบเวลา อย่างไรก็ดีกรณีที่ฝ่ายค้านเสนอให้เพิ่มวันประชุม คือ วันที่ 22 ส.ค. นั้น ตนมองว่าอาจมีข้อขัดข้อง หากเพิ่มวันที่ 24 ส.ค. จะเหมาะสม เพราะเป็นวันประชุมของสภาฯ ส่วนการประชุมสภาฯ สามารถเลื่อนเป็นวันที่ 25 -26 ส.ค. นี้ได้

“เบื้องต้นเชื่อว่าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ในมาตราท้ายๆ จะทำได้รวดเร็ว ทั้งนี้วิปต้องการให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. เสร็จตามกรอบเวลา ซึ่งหากทำแบบนั้นอาจต้องใช้เวลาอภิปราย ถึง ตี 3 หรือ ตี 4 ซึ่งไม่แน่ใจว่าส.ส.จะไหวหรือไม่ และหากต่อประชุมวันเสาร์ที่ 20 ส.ค. อาจมีปัญหาเรื่ององค์ประชุมได้” สุรสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า วิปรัฐบาลมีข้อกังวลต่อกรณีที่สภาฯพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ ไม่เสร็จ แต่เกิดเหตุยุบสภา ซึ่งเกี่ยวกับวาระ 8 ปีนายกฯ หรือไม่ สุรสิทธิ์ กล่าวว่า ตนมองว่าวาระ 8 ปี ไม่น่าเกี่ยว ส่วนการยุบสภานั้นเชื่อว่าไม่เกิดขึ้น และไม่มีเหตุผลที่จะยุบสภาทั้งนี้หากมีเหตุการณ์ที่อายุของสภาฯต้องสิ้นสุด แต่ร่าง พ.ร.บ.งบฯ เสร็จไม่ทันตามกรอบ 105 วัน ไม่มีปัญหาเพราะรัฐบาลสามารถใช้งบประมาณของปีก่อนไปพรางก่อนได้