วันที่ 19 ส.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 2 ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วเป็นการพิจารณาต่อเนื่องวันที่สาม
เมื่อพิจารณาถึงมาตรา 17 ว่าด้วยงบประมาณของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ประชุมใช้เวลายาวนานหลายชั่วโมง เนื่องจากมีกรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อยผู้สงวนความเห็น และมีผู้แปรญัตติขออภิปรายถึง 30 คน ในประเด็นต่างๆ ที่กว้างขวาง
จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายระบุว่า กระทรวงนี้ถือว่ามีลับลมคมใน เนื่องจากมีการซื้อรถขุดเจาะน้ำบาดาลทุกปี มีรถกว่า 100 คัน พร้อมเบิกเงินหลวงเป็นเบี้ยเลี้ยงจิปาถะซ้อนกันอยู่ในหมวดต่างๆ มองว่าเป็นการเลี่ยงบาลีใช้งบประมาณซ้ำซ้อนกัน พร้อมย้ำว่าเวลานี้กระบวนการนิติบัญญัติมักถูกแทรกแซงโดยฝ่ายบริหารเสมอมา พร้อมย้ำว่า กระบวนการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ไม่มีใครมุ่งร้ายต่อกัน หากตอบคำถามกรรมาธิการได้ ก็ขอให้มาตอบ จะถามวัวตอบควายก็ได้ แต่การหลีกเลี่ยงไม่ตอบจะดูเหมือนพยายามซุกซ่อนการทุจริตต่อบ้านเมือง
จากนั้นที่ประชุมสภาฯ มีมติเห็นชอบกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก อนุมัติงบประมาณของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วงเงิน 13,450 ล้านบาท ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 235 ไม่เห็นด้วย 108 งดออกเสียง 1 โดยไม่มีการปรับลดงบ
สับนโยบายพลังงานห่วย แบกค่าไฟแพงมหาโหด
จากนั้นที่ประชุมสภาฯ พิจารณาต่อในมาตรา 18 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงพลังงาน เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สงวนคำแปรญัตติขอตัดงบประมาณของกระทรวงพลังงานลงร้อยละ 5 โดยระบุถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นต่อเนื่องอย่างมหาโหด เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ ได้วางนโยบายด้านพลังงานที่ผิดพลาด เอื้อกลุ่มทุนพลังงานให้สร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าเกินจำเป็น
และอีกสาเหตุคือความผิดพลาดบกพร่อง ไม่รัดกุมในการบริหารพลังงาน สืบเนื่องจากบริษัท เชฟรอน คอร์ปอเรชัน ฟ้องร้องอนุญาโตตุลาการต่อรัฐบาลไทย กรณีพิพาทรื้อถอนแท่นผลิตปีโตรเลียมภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัปทานแหล่งพลังงานเอราวัณไปแล้ว แต่เมื่อมีการรัฐประหาร 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ได้มีการแก้กฏกระทรวงให้บริษัท เชฟรอน เป็นผู้รื้อถอนแท่นผลิตเองทั้งหมด พร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วย ทำให้ เชฟรอน สู้คดีในส่วนนี้
เบญจา ตั้งคำถามว่า การดำเนินนโยบายเช่นนี้เป็นไปตามหลักนิติรัฐหรือไม่ เป็นเหตุให้รัฐบาลต้องอนุมัติงบประมาณสำหรับต่อสู้คดีกว่า 450 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เบิกงบกลางจ้างที่ปรีกษาทางกฏหมายไปแล้วรวม 207 ล้านบาท ทั้งนี้ จากกรณีพิพาททำให้การส่งมอบสัมปทานแหล่งผลิตพลังงานคลาดเคลื่อน ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เกิดการขาดแคลนก๊าซ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทดแทน ทำให้ก๊าซ LPG มีราคาแพง ประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่สูงขึ้นด้วย มองได้ว่าเป็นการวางนโยบายโดยไม่เอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
ด้าน มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ อภิปรายว่า งบประมาณของกระทรวงพลังงาน ในส่วนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ทั้ง 3 หน่วยงานมีรายได้จากการขายไฟ 1.253 ล้านล้านบาทต่อปี กำไรสุทธิรวม 20 ปีได้ถึง 8-9 แสนล้านบาท ถือเป็นเงินนอกงบประมาณที่มาจากเลือดของประชาชน แม้แต่ล่าสุดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานยังมีมติขึ้นค่าเอฟทีในสัดส่วน 24,67% จนเป็นภาระค่าไฟฟ้า และเพิ่มค่าครองชีพของประชาชน
“เรียนไปยังนายกรัฐมนตรีที่ยังเหลือระยะเวลาดำรงตำแหน่งเพียง 5 วันผ่านประธานสภาฯ ขอระงับค่าขึ้นค่าไฟฟ้า และนำเงินกำไรสะสมของทั้งสามหน่วยงานมาชดเชยค่าไฟฟ้า ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชน” มงคลกิตติ์ กล่าว
ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบตาม กมธ.เสียงข้างมากแก้ไขงบประมาณของกระทรวงพลังงาน ที่เสนอให้ปรับเป็นวงเงิน 1,859 ล้านบาท ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 229 เสียง ไม่เห็นด้วย 41 เสียง งดออกเสียงไม่มี