ไม่พบผลการค้นหา
สภาฯ มีมติเสียงข้างมาก 258 ต่อ 180เสียงเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบฯปี 66 วงเงินกว่า 3.18 ล้านล้าน 'ก้าวไกล' ท้วง 'ประยุทธ์' ไม่กล้าเข้าสภาฯ ใกล้พ้นตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ขณะที่ ส.ส.เพื่อไทย-ก้าวไกลรุมสับงบทิพย์รัฐสภา 'รังสิมา' โวย ส.ส.ทำเนียนเบิกงบอาหารเบิ้ล ด้าน 'เรืองไกร' เจอ ส.ส.รุมจวกหลังกล่าวหาสภาฯ ผ่านร่างงบฯ ผิดข้อบังคับ

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 23 ส.ค. 2565 ที่รัฐสภา เวลา 13.00 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 19 เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 2 ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว และได้ดำเนินการประชุมมาถึงมาตรา 29 ขั้นตอนการลงมติซึ่งค้างไว้จากการประชุมนัดก่อน

'เพื่อไทย-ก้าวไกล' สับรัฐสภา ตั้งงบก่อสร้างทิพย์

เมื่อพิจารณาถึงมาตรา 30 ว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานของรัฐสภา วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการผู้สงวนความเห็น อภิปรายขอตัดลดงบประมาณการก่อสร้างอาคารที่พักข้าราชการรัฐสภาแห่งใหม่ และงบประมาณการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยของวุฒิสภา

วาโย กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ ยังมีการตั้งงบประมาณควบคุมการสร้างเข้ามาด้วย 30 ล้านบาท และยังมีการตั้งงบประมาณสำหรับการสำรวจและออกแบบอีกราว 30 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่าโครงการทั้งหมดนี้ ยังไม่มีการออกแบบ หรือแม้แต่การสำรวจและการทำ EIA ก็ยังไม่มีเกิดขึ้น แต่กลับมีการของบประมาณในการก่อสร้างไปแล้ว

ด้าน สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายขอตัดงบประมาณลง 5% โดยเฉพาะในส่วนของการก่อสร้างสวัสดิการของเจ้าหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตั้งงบประมาณไว้แล้ว 49 ล้านบาท แต่กลับไม่ได้ตรวจสอบว่ามีแบบก่อสร้างอาคารแล้วหรือยังด้วยซ้ำ เหตุใดจึงผ่านงบกันได้ง่ายดาย รวมถึงอีก 29 ล้านบาท คือค่าใช้จ่ายในการควบคุม ซึ่งไม่สมเหตุสมผลอีก

"ถ้าผมเป็นกรรมาธิการผมไม่ให้หรอก ด้วยเหตุผลว่าอาคารที่จะสร้างเป็นบ้านพักธรรมดานี่เอง ไม่ได้จะสร้างฐานอวกาศที่จะไปดวงจันทร์เลย ไม่ต้องใช้ที่ปรึกษาอะไรมากมาย คนของราชการเยอะแยะ กรมโยธาธิการและผังเมืองก็มีความสามารถจะคุมได้ ไม่จำเป็นต้องจ้างที่ปรึกษา 30 ล้านปีละ 10 ล้านเสียหายเปล่าๆ"

'รังสิมา' โวย ส.ส.เบิกงบอาหารซ้ำซ้อน

รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ตนขอปรับลดงบประมาณของหน่วยงานรัฐสภาลง 10% พร้อมยกตัวอย่าง ปี 2566 รัฐสภาของบประมาณอาหารห้องประชุมใหญ่ 72 ล้านบาท และงบอาหารของกรรมาธิการ 34 ล้านบาท รวมแล้ว 106 ล้านบาท ซึ่งตนเคยหารือประธานสภาฯ หลายครั้งแล้ว ให้ไปสั่งกรรมาธิการแต่ละคณะห้ามเบิกงบซ้ำซ้อน เช่น วันนี้ (23 ส.ค.) ประชุมสภาใหญ่ ค่าอาหาร ส.ส. หัวละ 1,000 บาท ใครที่ประชุมกรรมาธิการสามัญ และอนุกรรมาธิการ ก็อย่าเบิกซ้ำซ้อนอีก ตนอยากให้เอาจริงเอาจริงกับเรื่องการเบิกงบอาหารของสมาชิก เช่นตนถ้าวันใดมาประชุมสภาใหญ่ จะไม่เบิกอาหารห้องอื่น ซ้ำซ้อนและเสียงบไปเปล่าๆ

"ประธานฯ ต้องเอาจริง ดิฉันพยายามติดตามดูตลอด แล้วก็ยังทำเหมือนเดิม บอกว่าไม่ทำอย่างนี้ไม่ได้หรอก เพราะสมาชิกฯ ไม่ยอมไปรับประทานอาหารในห้องใหญ่ ถ้าเราออกกฎระเบียบ มันไม่ทานก็ไม่ต้องทานไป ถ้าอยากทานก็ไปทานห้องใหญ่ เพราะเรามีให้อยู่แล้ว ดังนั้นฝากท่านประธานฯ อย่าให้เห็นอีก ถ้าดิฉันเห็นอีกก็จะพูดอีก"

อนุทิน ชาดา ประชุมสภา -B2AF-A653A1C7D735.jpeg19513943-1471-4273-9531-97A618DD735E.jpegจิรายุ เพื่อไทย งบประมาณ CDB056FA00A.jpegเบญจา ก้าวไกล ประชุมสภา สถาบัน E6B1501A6465.jpegรังสิมันต์ โรม 29B-82A9-A943C1F0C283.jpeg


เรืองไกร งบประมาณ ประชุมสภา 6-04F5424E341F.jpegประชุมสภา ลงมติ ร่าง พรบ งบประมาณ C3-796E498FBD01.jpeg

'เรืองไกร' กล่าวหาสภาฯ ทำงบฯ 66 ขัดข้อบังคับ เจอ ส.ส.รุมทุบ

ในระหว่างพิจารณามาตรา 30 เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย อภิปรายว่า การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ ในวาระกรรมาธิการฯ อาจมีปัญหา ว่า ส.ส.ทำผิดข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 99 วรรคสอง และอาจมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยให้สภาฯ ต้องโหวตร่าง พ.ร.บ.งบฯ พ.ศ. 2563 วาระ 3 ใหม่อีกครั้ง และต้องส่งกลับไปให้กรรมาธิการพิจารณาใหม่ ทั้งนี้เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่การสงวนคำแปรญัตติของ ส.ส.ที่ไม่มีหนังสือมอบและผู้รับมอบให้เสนอคำแปรญัตติในห้องประชุมกรรมาธิการ โดยข้อบังคับสภาฯ ข้อ 99 วรรคสอง กำหนดให้ ส.ส.ที่เสนอคำแปรญัตติต้องมาเสนอด้วยตนเองตามวันและเวลา หากไม่มาถือว่าคำแปรญัตตินั้นตกไป โดยเอกสารที่ตนมี 15 แผ่นนั้น พบว่า ไม่มีการลงนามมอบและไม่มีการลงนามรับมอบ

ทั้งนี้ในประเด็นดังกล่าว มี ส.ส.ประท้วงและพร้อมขอให้ขอโทษต่อสภาฯ เนื่องจากทำให้เสียหาย โดยประท้วงว่า เรืองไกร ใช้โอกาสของกรรมาธิการเสียงข้างน้อยอภิปรายกล่าวหา ส.ส. ว่าไม่ทำตามข้อบังคับของตนเอง โดยไม่เกี่ยวกับญัตติและงบประมาณ ทั้งที่ท่านไม่ใช่สมาชิกรัฐสภา จึงไม่ทราบว่าพูดเรื่องนี้เพื่ออะไร เพราะเป็นปัญหาการทำงานในกรรมาธิการ ดังนั้นขอให้กรรมาธิการชี้แจงและแก้ปัญหา ส่วนกรณีที่การกล่าวหา ส.ส.ไม่ทำตามข้อบังคับของตนเอง ถือว่าเสียหาย

สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ได้สรุปว่า สภาฯ รับหลักการร่างพ.ร.บ.งบฯ ในวาระ 1 และตั้งกรรมาธิการ เรื่องที่อภิปรายนั้นเป็นเรื่องภายในของกรรมาธิการที่ทำงานก่อนเสนอรายงานให้สภาฯ ในวาระ 3 พิจารณาตามรายมาตรา ส่วนจะทำอย่างไรเป็นเรื่องของกรรมาธิการ ตนขอรับไปดำเนินการให้ อนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการกิจการสภาฯ รับไปดำเนินการ จากนั้นได้แจ้งให้ลงมติ 

'ก้าวไกล' ท้วง 'ประยุทธ์' ชิ่งหนีสภาฯ ก่อนเที่ยงคืนครบ 8 ปีนายกฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เริ่มเปิดประชุมวันนี้เวลา 13.00 น. ผ่านมาประมาณ 8 ชั่วโมง ที่ประชุมสามารถพิจารณางบประมาณผ่านไปได้ทั้งหมด 6 มาตรา ตั้งแต่มาตรา 29 ถึง มาตรา 36 และเมื่อเวลา 20.00 น. ได้เข้าสู่การพิจารณามาตรา 37 ว่าด้วยการพิจารณาของแผนบูรณาการ

โดยระหว่างการพิจารณาในช่วงท้ายวาระที่สอง ส.ส.พรรคก้าวไกล บางคน โดย พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ทักท้วงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ไม่ได้เข้ากล่าวขอบคุณต่อที่ประชุมสภาฯ ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ข่าวบอกว่าจะไม่มาหรือใกล้เวลาเที่ยงคืนก่อนพ้นวันที่ 23 ส.ค. ถึงไม่มาเข้าสภาฯ เพราะเกรงว่าจะมีปัญหาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี

สภาฯ ผ่านฉลุยทุกมาตราก่อนโหวต 258 ต่อ 180 เสียง เห็นชอบงบฯ วาระ 3

ในที่สุด เวลา 22.43 น. หลังการพิจารณารายมาตราครบ 40 มาตรา เสร็จสิ้น ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ประธานได้ขอให้ที่ประชุมลงมติร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในวาระที่ 3 โดยที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยคะแนน 258 ต่อ 180 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นด้วยกับข้อสังเกตของกรรมาธิการ ด้วยคะแนน 409 ต่อ 2 งดออกเสียง 2 ซึ่งจะได้นำส่งข้อสังเกตนี้ไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบและดำเนินการต่อไป

จากนั้น สุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะผู้แทนรัฐบาล ได้กล่าวขอบคุณรัฐสภา และสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ที่ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนนโยบายสำคัญต่างๆ ของรัฐบาล เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง ประชาชนมีความสุข สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

สำหรับข้อคิดเห็น คำเสนอแนะ ที่ท่านสมาชิกฯ ได้เสนอแนะไว้ตลอดระยะเวลาการประชุมรัฐบาลขอรับไว้ด้วยความขอบคุณ และจะนำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงการดำเนินการของหน่วยงานรับงบประมาณ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากงบประมาณมากที่สุด 

"นอกจากนี้ ขอขอบคุณท่านกรรมาธิการวิสามัญทุกท่านที่ได้ให้ความสำคัญเสียสละเวลาร่วมกันในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ.2566 อย่างเต็มที่จนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยข้อสังเกตของกรรมาธิการวิสามัญซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการ รัฐบาลจะได้นำไปประกอบการพิจารณา ปรับปรุงการดำเนินการ เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรมีความคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ และประชาชนทุกคนต่อไป" สุพัฒนพงษ์ กล่าว

จากนั้น ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานการประชุม ได้สั่งปิดการประชุมเมื่อเวลา 22.56 น.