ไม่พบผลการค้นหา
‘พิจารณ์’ ส.ส.ก้าวไกล แจงงบกองทัพ 'จัดซื้ออาวุธ-จ่ายค่าบุคลากร' แฉงบฯ ทอ.ออก มติ ครม.ลับ ปรับแก้หนี้ผูกพันข้ามปี 'ดาวน์น้อยๆ ผ่อนนานๆ' ด้าน รมช.กลาโหม แจงจำเป็นจัดซื้อเรือดำน้ำ ปัดจัดซื้อยุทโธปกรณ์ไปรบกับใคร แต่ใช้เพื่อป้องกันประเทศในงบฯจำกัด

วันที่ 2 มิ.ย. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาวาระด่วนร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาทเป็นวันที่ 3 พิจารณ์ เชาว์พัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณในปี 2566 งบของกระทรวงกลาโหมคือ 197,300 ล้านบาท ก่อนอื่นต้องชม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ที่สัดส่วนงบของกระทรวงกลาโหมต่ำที่สุด คิดเป็น 6.19% ของงบประมาณทั้งหมด แต่เมื่อไปดูรายละเอียดทั้งหมด บอกเลยว่าให้สามคำคือ “ไม่คุ้มค่า ไม่ตอบโจทย์ ไม่โปร่งใส” 

พิจารณ์ กล่าวว่า ที่ไม่คุ้มค่า เพราะ งบประมาณกระทรวงกลาโหมลดลงก็จริง แต่ปรากฎว่า งบรายจ่ายบุคลากรของภาครัฐสูงขึ้น พูดง่ายๆ คือ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะพยายามลดงบประมาณลงอย่างไร แต่งบในส่วนบุคคลากร งบเงินเดือนค่าตอแทน ลดอย่างไรก็ลดไม่ลง เพราะ กองทัพมีกำลังพลที่มากจนเกินไป มีนายพลเยอะเกิน ค่าเฉลี่ยงบประมาณทั้งแผ่นดินเพิ่มขึ้นจาก 37% เป็น40% ขณะที่งบของกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้น 45% เป็น 54% ส่วนกองทัพบกจาก 52% เป็น 62% นี่คือความอุ้ยอ้ายของกองทัพ 

"มีงบบุคลากรที่ชื่อคล้ายๆ กัน ไปซ่อนตามงบกิจกรรมบ้าง งบดำเนินงานบ้าง มีตั้งแต่ค่าเช่าบ้าน ค่าตอบแทนกำลังพล ค่าตอบแทนด้านสาธารณสุข ค่าตอบแทนกำลังพลทหารเกณฎ์ เบี้ยเลี้ยงทหาร ฯลฯ ซึ่งมีงบซุกไว้ถึง 19,000 ล้านบาท ในงบดำเนินงาน และงบรายจ่ายอื่นๆ" พิจารณ์ กล่าว

พิจารณ์ กล่าวว่า โดยเฉพาะกองทัพบกจาก 62% ดีดไป 77% เปรียบเทียบง่ายๆ คือ เงิน 100 บาทที่ให้กองทัพ เอา 77 บาทไปเป็นค่าบุคลากร เหลือแค่ 23 บาทที่เป็นงบประมาณเพื่อปรับปรุงพัฒนาที่จะเป็นงบก่อสร้างอาคารสถานที่ราชการ เพื่อศึกษาทหาร หรืองานวิจัยของกองทัพ งบของทหารเกณฑ์มันมีความจำเป็นทางการทหารอย่างไร ถึงลดไม่ได้ ทำไมไม่ลดกำลังพล เพื่อไปพัฒนาอย่างอื่นของกองทัพ 

"ตกลง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือสมุหกลาโหมในสมัยอุยธยา ที่กำลังรวบรวมทหารราบ เอาไว้รบพุ่งกับข้าศึก ตกลงแล้วเราใช้งบได้คุ้มค่าหรือไม่อย่างไร ถ้าส่วนมากหมดไปกับค่าบุคลากร" พิจารณ์ กล่าว

พิจารณ์  ก้าวไกลB-4C3B-A82D-7C6FE658EBA1.jpeg

พิจารณ์ กล่าวอีกว่า ส่วนงบของกองทัพอากาศลดลงเล็กน้อยเพียง 10% ซึ่งในปีนี้กองทัพอากาศซื้ออาวุธไป 16,000 กว่าล้านบาท และมีการออกมติ ครม.ลับ เพื่อไปปรับแก้วินัยการเงินการคลังที่บอกว่า การก่อหนี้ผูกพันข้ามปีต้องเริ่มจ่ายปีแรกที่ 20% แต่ครม. อนุมัติเหลือเพียง 10% สรุปคือ กองทัพอากาศต้องการจะ 'ดาวน์น้อยๆ ผ่อนนานๆ' 

พิจารณ์ กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (1 มิ.ย.) มีการอภิปรายถึงการจัดหาฝูงบินขับไล่ทดแทน F-16 ซึ่งเป็นงบผูกพัน 8 ปี ความคุ้มค่าของมันคือเราต้องซื้อให้ครบ เพื่อจะได้ราคาประหยัด และตกลงแล้งแผนของรัฐบาลต้องการจะซื้อกี่ลำ 12 ลำหรือไม่ ถ้ารอบนี้ตั้งมา 7,000 กว่าล้านบาท หรือซื้อมือสองก็พูดให้ชัด ราคามันเลยถูก ไม่อยากให้รัฐบาลซื้อ เพราะถ้าซื้อแล้วมันผูกพันกับรัฐบาลหน้าก็ต้องมาปวดหัวกับการซื้ออาวุธที่พิจารณาผิดพลาดของครม.ชุดนี้

ขณะที่งบพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพเรือ พิจารณ์ ระบุว่า กองทัพเรือได้ออกนโยบายว่าไม่มีการซื้อ เปลี่ยนเป็นการซ่อม รถบรรทุกซื้อใหม่ราคา 2.1 ล้านบาท ไปซ่อมคันละ 2 ล้านบาท สิ่งนี้เรียกว่าคุ้มค่าหรือ และงบจ่ายค่าอาวุธแบบโครงการผูกผันที่ระบุไว้ 2,039 ล้านบาท แต่ตามแผนต้องจ่ายที่ 9,000 กว่าล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีโครงการค้างอยู่ 11 โครงการ 2 ใน 11 นั่นคือ เรือดำน้ำลำที่ 1 2 และ 3 

ชัยชาญ-B072-46BD-95A0-AAE3272875D9.jpeg

‘รมช.กลาโหม’เผยยานบินไร้คนขับตกบ่อย คนละรุ่นกับที่จัดซื้อ

จากนั้น พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงต่อที่ประชุมในประเด็นการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหมว่า การจัดสรรงบประมาณ ได้จัดเตรียมตามแผนปฏิบัติการของกระทรวงกลาโหม คือต้องเตรียมกำลังของกองทัพให้มีความพร้อม และใช้กำลังในการปฏิบัติภารกิจ รวมถึงสนับสนุนการแก้ไขความมั่นคงของชาติในรูปแบบอื่นๆ และช่วยเหลือประชาชนที่ประสบความเดือดร้อน โดยการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหมนั้น ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 สำหรับปีล่าสุด กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรน้อยลง 2.17%

ในภาพรวมของงบประมาณในปี 2566 ของกระทรวงกลาโหมนั้น ได้ปรับลดลงในทุกด้าน สำหรับงบประมาณในส่วนของบุคลากรภาครัฐที่เพิ่มขึ้น 2.4 ล้านบาท เป็นงบในการเลื่อนชั้นเงินเดือน และบำเหน็จบำนาญของบุคลากรตามสิทธิ แต่ไม่ได้หมายความว่ามีกำลังพลเพิ่มขึ้น

ส่วนการเตรียมกำลังด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ กระทรวงกลาโหมทุกเหล่าทัพตระหนักดีถึงเสถียรภาพการเงินในปัจจุบันของประเทศ พยายามสร้างความพร้อมของกองทัพให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบกฏหมายอย่างดีที่สุด เน้นการซ่อมบำรุง ยืดอายุการใช้งาน และจะจัดหามาทดแทนเฉพาะส่วนที่ซ่อมไม่ได้ ซ่อมไม่คุ้มค่า หรือไม่มีอะไหล่ ในปี 2565 นั้น งบซ่อมอาวุธเพิ่มขึ้น แต่งบการจัดหาลดลง 

“เหตุผลที่ต้องจัดหานั้น เพื่อทดแทนเครื่องบินขับไล่โจมตีที่ใช้มานาน เก่ามาก บางเครื่องอายุ 41 ปี เฉลี่ยอายุ 28 ปี ได้ทยอยปลดประจำการไปตั้งแต่ 2564 และจะปลดไปเรื่อยๆ จนถึงปี 2574 ถึงตอนนั้นกองทัพอากาศจะมีเครื่องบินขับไล่โจมตีเหลืออยู่ประมาณ 1 ใน 3 ของอัตรา นั่นหมายความว่ากองทัพอากาศ หรือประเทศไทยเอง จะมีความเสี่ยงเรื่องการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ”

พล.อ.ชัยชาญ กล่าวว่า และตามที่มีสมาชิกฯ ตั้งข้อสังเกตถึงงบปฏิบัติการของเครื่องบินที่ไม่มีระบบอาวุธ มีเพียงตัวเครื่อง เป็นเพราะอาวุธของเครื่องบินขับไล่โจมตีที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น สามารถใช้กับตัวเครื่องที่จัดซื้อมาใหม่ได้ เพราะเป็นเครื่องบินในตระกูลเดียวกัน ขณะที่การจัดหาอากาศยานไร้คนขับ หรือ UAV ของกองทัพเรือ ที่มีประวัติว่าตกบ่อยครั้งนั้น เป็นคนละรุ่นกับที่กองทัพเรือจัดหา 

กรณีการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ในกรณีที่จีนไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ MTU ตามที่กำหนดในสัญญาได้ รัฐบาลได้ประสานเชิญผู้แทนจากบริษัทผู้ผลิตเพื่อร่วมกันหาทางออก ยืนยันว่าต้องเป็นตามสัญญาและกฏหมาย ซึ่งคาดว่าในเดือนนี้จะได้ประสานงานกับตัวแทนบริษัทผู้ผลิต โดยยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ

“กระทรวงกลาโหมเองก็มีความจำเป็นต้องเตรียมกำลังทัพให้มีความพร้อมในระดับหนึ่ง ที่จะรองรับสถานการณ์ได้ ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด มิได้หวังว่าจะเตรียมกำลังไปรบกับใคร เตรียมกำลังไว้เพื่อป้องกันตัวเอง เพื่อรักษาสถาบันหลัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ดูแลประชาชนตามแนวชายแดน ช่วยเหลือประชาชน บรรเทาภัยพิบัติ พัฒนาประเทศ” พล.อ.ชัยชาญ กล่าว