ดีเจไอ บริษัทผู้ผลิตโดรนชั้นนำจากประเทศจีน หันมาเน้นการผลิตโดรนสำหรับการใช้งานในการประกอบอาชีพมากขึ้น เช่นโดรนเพื่อการเกษตร หรือทำงานเสี่ยงอันตราย แทนการผลิตโดรนเพื่อการใช้งานทั่วไป
ดีเจไอ บริษัทผู้นำด้านการผลิตโดรนสำหรับการใช้งานของประชาชนทั่วไปจากประเทศจีน ประกาศว่าจะหันมาผลิตโดรนเพื่อการใช้งานสำหรับมืออาชีพมากขึ้น โดยมองว่าจะมีการนำโดรนเพื่อมาใช้งานสำหรับอาชีพต่างๆมากขึ้นในอนาคต จึงหันมาพัฒนาโดรนที่ใช้งานด้านนี้เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในธุรกิจนี้ต่อไป
โดรนของดีเจไอ ราวร้อยละ 75 ถูกจำหน่ายในต่างประเทศ ส่วนมากคือในสหรัฐฯและยุโรป โดยส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อการผ่อนคลายหรือถ่ายภาพขณะท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้ โดรนของประชาชนถูกควบคุมการใช้งานมากขึ้นทั้งในสหรัฐฯและยุโรป ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและป้องกันการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ขณะที่ก็มีการแข่งขันจากผู้ผลิตโดรนรายใหม่ๆมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ ดีเจไอ ต้องมองหาตลาดใหม่ๆสำหรับการจำหน่ายโดรน
ปัจจุบัน ดีเจไอ เป็นผู้ผลิตโดรนที่จำหน่ายให้กับประชาชนทั่วโลกถึงเกือบ 2 ใน 3 และมีผลประกอบการกำไรปีละ 1,500 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ดีเจไอ จะเป็นผู้นำการผลิตโดรนสำหรับประชาชนทั่วไป แต่ว่าการผลิตโดนสำหรับการใช้งานที่มีความซับซ้อน ยอดขายโดรนของดีเจไอ กลับมีสัดส่วนน้อยกว่าโดรนของบริษัทอื่นๆอย่างเห็นได้ชัด โดยโดรนที่มีราคาแพงกว่า 7,500 ดอลลาร์ ดีเจไอมีส่วนแบ่งการตลาดในทวีปอเมริกาเหนือเพียงร้อยละ 33 ดีเจไอจึงต้องการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในกลุ่มผู้ใช้งานโดรนเพื่อการประกอบอาชีพ
นายพอล ซู รองประธานของบริษัท ดีเจไอ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP ว่าดีเจไอมีพนักงานอยู่ 8,000 คน และในจำนวนนี้ 2,000 คน ทำงานด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้เขาเชื่อมั่นว่าดีเจไอจะสามารถผลิตโดรนเพื่อการใช้งานสำหรับมืออาชีพมาแข่งขันในตลาดได้อย่างไม่มีปัญหา ซึ่งในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ดีเจไอขยายฐานการผลิตจากการผลิตโดรนเพื่อการถ่ายภาพเพียงอย่างเดียว มาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตโดรนเพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการเกษตร
ในปี 2015 ดีเจไอ ได้ผลิตโดรนรุ่น Agras MG-1 ซึ่งมีแปดใบพัด สามารถบรรทุกยาฆ่าแมลงได้หนัก 15 กิโลกรัมและพ่นยาฆ่าแมลงจากกลางอากาศได้ครอบคลุมพื้นที่ที่ต้องใช้คนงานถึง 30 คน ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจากกลุ่มเกษตรกร เพราะประหยัดเวลาและประหยัดค่าใช้จ่าย
ดีเจไอยังเริ่มผลิตโดรนสำหรับใช้ในการปฏิบัติภารกิจที่เสี่ยงอันตราย เช่นโดรนขนาดเล็กเพื่อการตรวจสอบเครือข่ายพลังงานในจุดที่ยากแก่การเข้าถึง หรือโดรนสำหรับนักดับเพลิงที่ทนทานความร้อน หรือโดรนถ่ายภาพที่ติดตั้งเลนส์กล้องที่สามารถซูมเป็นระยะทางไกลได้เป็นพิเศษสำหรับปฏิบัติการค้นหาผู้รอดชีวิตเวลาเกิดภัยพิบัติ โดยดีเจไอมองว่าฐานลูกค้าในอนาคตของดีเจไอจะมาจากกลุ่มผู้ใช้งานโดรนเพื่อการประกอบอาชีพที่มีจุดประสงค์ในการใช้งานโดรนที่เฉพาะเจาะจง และดีเจไอก็จะหันมาพัฒนาโดรนให้มีความสามารถตรงกับความสามารถที่มืออาชีพด้านต่างๆต้องการ
ยอดขายโดรนทั่วโลกยังคงเติบโตต่อเนื่อง เมื่อปีที่แล้วยอกขายก็เพิ่มมากกว่าปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 60 ขณะที่ปีนี้ คาดการณ์ว่ายอดขายโดรนทั่วโลกจะอยู่ที่ 6,000 ล้านดอลลาร์ และจะเพิ่มเป็น 1,120 ล้านดอลลาร์ในปี 2020