หากพูดถึงความนิยมเกี่ยวกีฬา หลายคนจะหนึ่งถึงภูมิภาคอย่างฝั่งอเมริกาหรือยุโรปที่มีรูปแบบเป็นธุรกิจเต็มตัว แต่ในช่วงที่ผ่านประเทศจีนได้เริ่มพัฒนาวงการกีฬา ทำให้อุตสาหกรรมกีฬาของจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด ก้าวมาเป็นพื้นที่ทรงอิทธิพลด้านกีฬาอันดับต้นๆ ของโลก
ในกีฬาอันดับ 1 อย่างฟุตบอล หากดูรายชื่อนักฟุตบอลที่ได้รับค่าเหนื่อยต่อปีมากที่สุดในโลกปี 2017 ปรากฏว่าใน 10 อันดับแรก มีผู้เล่นถึง 4 คน ที่ค้าแข่งอยู่ใน Chinese Super League ของจีน และหากมองกว้างออกมาพบว่า 20 อันดับแรก มีผู้เล่นในลีกจีนถึง 10 คน เลยทีเดียว
การดึงตัวผู้เล่นมีชื่อเสียงจากฝั่งยุโรปมาเล่นที่จีนแผ่นใหญ่ด้วยเม็ดเงินมหาศาล เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าวงการกีฬาของจีนได้เติบโตมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ฟุตบอลเท่านั้น กีฬาอย่างบาสเกตบอลก็มีจำนวนผู้ชมและสปอนเซอร์เพิ่มมากขึ้น ได้พัฒนาจากลีกภายในประเทศเป็นลีกระดับสากล โดยเหยา หมิง อดีตนักบาสชาวจีนคนแรกที่ได้เล่นในลีก NBA ของสหรัฐฯ ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นประธานสมาคมบาสเกตบอลจีน (Chinese Basketball Association - CBA) ประกาศว่าจะพัฒนาลีกบาสเกตบอลของจีนให้มีคุณภาพใกล้เคียงกับลีกใหญ่ๆ อย่าง NBA ให้ได้
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมกีฬาในจีน เป็นส่วนหนึ่งของแผนของรัฐบาลกลางของจีน ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพคนในชาติผ่านกีฬา แต่การเติบโตของอุตสาหกรรมกีฬานี้กลับสวนทางกับตัวเลขทางเศรษฐกิจส่วนอื่นๆ ของจีน ที่ชะลอตัวลงในระยะที่ผ่านมา
เมื่อช่วงต้นปี 2018 ที่ผ่านมาหน่วยงานด้านสถิติของประเทศจีนเปิดเผย ตัวเลขการเติบโตของอุตสาหกรรมเกี่ยวกับกีฬาของจีน ในปี 2016 พบว่ามีมูลค่าสูงถึง 1.9 ล้านล้านหยวน (หรือประมาณ 295,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) สูงขึ้นจาก 2015 ถึงร้อยละ 11.1 โดยระหว่างปี 2015-2016 นั้นมีองค์กรด้านกีฬาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21.7 และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 4.4 ล้านตำแหน่ง กีฬากลายเป็นภาคส่วนอุตสาหกรรมที่เติบโตขึ้นมากที่สุดของจีน ซึ่งเติบโตสูงกว่า GDP ของจีนที่มีการเติบโตอยู่ราวร้อยละ 6.5 มาสักพักใหญ่
อุตสาหกรรมกีฬาจึงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศจีน ภายในปี 2025 รัฐบาลจีนคาดว่าอุตสาหกรรมกีฬาในจีนจะมีมูลค่าสูงถึง 813,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ การเติบโตที่ก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมกีฬาในประเทศจีนไม่ได้มาจากเพียงการลงทุนของภาคธุรกิจเป็นหลัก แต่มาจากรัฐบาลกลางของนาย สี จิ้นผิง ที่ได้เทเงินลงไปกับกีฬาจำนวนมากในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการกีฬา ตัวอย่างเช่นภายในปี 2020 จีนมีแผนการสร้างสนามฟุตบอล 70,000 สนามทั่วประเทศจีน และการจัดมหกรรมกีฬาอย่างโอลิมปิกฤดูหนาวใน 2022 หรือความพยายามที่จะจัดฟุตบอลโลกผ่านการ ผลักดันธรุกิจจีนให้เข้าไปผู้สนับสนุนหลักของฟีฟ่า เพื่อปูทางสู่การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกภายในปี 2036
จาก รายงานของ Nielsen บริษัทด้านการตลาดระดับโลก ชี้ให้เห็นการเติบโตของแฟนกีฬาในจีนที่เพิ่มโดยเฉพาะในเขตเมือง ที่เกินกว่าครึ่งเป็นแฟนกีฬาที่ตื่นตัวในการจับจ่ายใช้สอย ทั้งยังได้กระจายไปตามหัวเมืองต่างๆ ถึงร้อยละ 84 ซึ่งในจำนวนนั้นร้อยละ 30 เป็นผู้รายได้สูงกว่า 29,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี
ปัจจุบันประเทศจีนกลายเป็น ตลาดที่ใหญ่อันดับ 2 สำหรับผลิตภัณฑ์กีฬา เป็นรองเพียงแค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาอย่าง Nike และ Adidas ต่างมีจีนเป็นพื้นที่ที่ยอดขายเพิ่มขึ้นมากที่สุด (Nike เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5, Adidas เพิ่มขึ้นร้อยละ 22) ยอดขายผลิตภัณฑ์กีฬาในจีนในปี 2016 เติบโตขึ้นประมาณร้อยละ 11 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึงร้อยละ 5