ไม่พบผลการค้นหา
ช่องว่างระหว่างค่าแรงของชายและหญิงที่ไม่เท่ากันเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการกีฬาหลายชนิด และมีการตั้งความหวังว่าหาก ‘มูลค่าทางการตลาด’ ของกีฬาประเภทที่ผู้หญิงเล่นสูงขึ้น พวกเธอก็จะได้รับค่าตอบแทนสูงตามด้วยเช่นกัน

ช่องว่างระหว่างค่าแรงของชายและหญิงที่ไม่เท่ากัน (Gender wage gap) เป็นเรื่องที่พบได้ทั่วทุกมุมในโลก แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม อย่างญี่ปุ่นพบว่า ร้อยละ 73 ผู้หญิงได้รับค่าแรงต่ำกว่าผู้ชายในตำแหน่งและลักษณะงานเดียวกัน ส่วนในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 28 ประเทศ พบว่าผู้หญิงได้ค่าแรงต่อชั่วโมง ต่ำกว่าชาย ร้อยละ 16.3

ในวงการกีฬาก็มีกรณีช่องว่างนี้อยู่เช่นกัน บ่อยครั้งที่นักกีฬาหญิงออกมาเรียกร้องค่าแรงให้เท่าเทียมกับนักกีฬาชาย แม้จะมีมุมมองที่ว่าการเรียกร้องลักษณะนี้อาจดูไม่สมเหตุสมผล เพราะกีฬาส่วนใหญ่การแข่งขันในฝั่งผู้ชายมักจะได้รับความนิยมมากกว่า มีเงินสนับสนุนมากกว่า เหล่านี้เป็นเหตุผลรองรับว่าทำไมนักกีฬาชายควรได้รับเงินมากกว่า

แต่ในหลายกรณีก็ดูไม่เป็นธรรมกับนักกีฬาหญิง อย่างเงินสนับสนุนจากรัฐบาลในกรณีของทีมชาติ ที่รัฐบาลควรสนับสนุนให้เท่ากับผู้ชาย “Equal Play, Equal Pay” สโลแกนที่นักกีฬาฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐฯ ใช้เรียกร้อง การจ่ายเงินสนับสนุนอย่างเท่าเทียม แม้ที่ว่าทีมฟุตบอลหญิงจะประสบความสำเร็จในเวทีโลกมากกว่าทีมชาติมาโดยตลอด โดยสามารถคว้าแชมป์โลกได้ในปี 2016 แต่กลับได้รับค่าตอบแทนรวม 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่างจากทีมชายที่จอดป้ายเพียงรอบแรกในฟุตบอล 2014 (ฟุตบอลโลกครั้งล่าสุดไม่ผ่านการตัดเลือกไปเล่นในรอบสุดท้าย) แต่ได้ค่าตอบแทนรวม 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่น่าสนใจคือสมาคมฟุตบอลนอร์เวย์ได้ประกาศว่าในปี 2018 สมาคมจะให้เงินสนับสนุนแก่ทีมฟุตบอลทีมชาติทั้งหญิงและชายเท่ากัน หลังจากที่ทีมฟุตบอลชายตกลงจะตัดเงินสนับสนุนของตนเองออกส่วนหนึ่งเพื่อนำไปเพิ่มให้ทีมหญิง เพื่อให้ทั้งสองทีมได้รับเงินสนับสนุนที่เท่าเทียมกัน หรือในกีฬาเทนนิสที่ US Open หนึ่งในสี่รายการแข่งขันเทนนิสใหญ่ที่สุดหรือแกรนด์สแลม เป็นรายการแข่งขันกีฬาอาชีพรายการแรกของโลกที่ให้เงินรางวัลผู้ชนะประเภทชายและหญิงเท่ากันมาตั้งแต่ปี 2516 ทำให้ต่อมาแกรนด์สแลมอีกสามรายการที่เหลือก็ปฏิบัติตามเป็นธรรมเนียมนี้

ในสารคดีเชิงข่าว The Second Jobs of WNBA All-Stars: Seimone Augustus in Russia ของ Vice News ซึ่งเล่าเรื่องของ Seimone Augustus นักบาสเกตบอลหญิงระดับออลสตาร์ใน WNBA ลีกบาสเกตบอลหญิงประจำชาติสหรัฐฯ ที่ต้องเดินทางไปรับจ็อบเล่นให้ทีมสโมสรในรัสเซียช่วงปิดฤดูกาล เนื่องจากค่าจ้างที่ต่ำใน WNBA จากการสำรวจเมื่อปี 2015  พบว่า Diana Taurasi นักบาสเกตบอลหญิงที่ได้ค่าจ้างมากที่สุดใน WNBA อยู่ที่ 107,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หากเปรียบเทียบค่าจ้างที่ Taurasi ได้รับนั้น สามารถจ้างนักบาสเกตบอลชายในลีก NBA ที่ได้รับค่าจ้างต่ำที่สุดได้เพียง 198 นาทีเท่านั้น 

ซึ่งอาจจะไม่ใช่แปลกอะไรเมื่อดูตัวมูลค่าลีก NBA ที่มีมากกว่า WNBA หลายสิบเท่า ในฤดูกาล 2016 -2017 ค่าเหนื่อยเฉลี่ยรายของผู้เล่นทั้งหมด WNBA อยู่ที่ 75,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ต่อปี ขณะที่เรตค่าจ้างต่ำที่สุดของ NBA อยู่ที่ 838,464 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

“เราควรได้มากกว่านี้” Kayla McBride นักบาสเกตบอลสาวจากทีม Las Vegas Aces ทวีตว่าพวกเธอไม่ได้เรียกร้องค่าเหนื่อยเท่ากับผู้เล่นใน NBA เพียงแต่มองว่าพวกเธอควรจะได้ค่าเหนื่อยมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเรื่องนี้ถูกพูดถึงกันมากในหมู่นักบาสเก็ตบอลหญิง เพราะเมื่อมองในเรื่องส่วนแบ่งแล้ว จากตัวเลขปี 2015 นักบาสเกตบอลในลีก NBA ได้รับค่าจ้างร่วมกันเป็นร้อยละ 50 ของมูลค่าทางการตลาดรวมของลีก แต่ในลีกบาสเกตบอลของผู้หญิงอย่าง WNBA กลับได้ค่าจ้างรวมกันคิดเป็นเพียงร้อยละ 33 ของมูลค่ารวมของ ลีกบาสเกตบอลหญิงของสหรัฐฯ จึงถูกพูดถึงในเรื่องความไม่เท่าเทียมอยู่บ่อยครั้ง

แม้ลีก WNBA จะเติบโตพุ่งขึ้นอย่างมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา อันเป็นผลจากการทำตลาดรูปแบบใหม่ทั้งเจาะตลาดกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ทำให้มีสัดส่วนเพศทางเลือกติดตามลีกมากขึ้น หรือการใช้ช่องทางด้านออนไลน์มากขึ้นในการถ่ายทอดเกมส์การแข่งขัน จนทำให้ WNBA มียอดคนดูในสนามมากเฉลี่ย 7,716 คนต่อเกมส์ สูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งลีกมาเมื่อ 21 ปีก่อน ทำให้ประเด็นเรื่องค่าเหนื่อยของผู้เล่น WNBA ยิ่งถูกหยิบขึ้นมาถกเถียงกันอีกครั้ง

แม้จะทำให้ผู้เล่นได้รับค่าเหนื่อยเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ Dave Berri ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ได้ ประมาณการ ออกมาว่าค่าเหนื่อยทั้งหมดของผู้เล่น WNBA คิดเป็นเพียงร้อย 22 ของมูลค่าลีกในปี 2017  (น้อยกว่าปี 2015 ที่อยู่ที่ 33) เท่ากับว่าค่าเหนื่อยของผู้เล่นไม่ได้เพิ่มตามมูลค่าลีกที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหาก WNBA ได้ค่าเหนื่อยคิดเป็นร้อยละ 50 เท่ากับ NBA จะมีค่าเหนื่อยเฉลี่ยอยู่ที่ 126,000 ต่อคนต่อปี เขาจึงได้สรุปว่า “ช่องว่างของค่าเหนื่อยในบาสเกตบอลอาชีพของสหรัฐฯยิ่งย่ำแย่ลงกว่าเดิม”

แต่อย่างไรก็มีการมองไปทางที่ว่าเพราะการเติบโตแบบก้าวกระโดดของลีก WNBA เพิ่งจะเกิดขึ้นไม่นานมานี้ ผู้เล่นหลายคนยังติดสัญญาเดิมอยู่ จะต้องรอจับตาดูว่าต่อไปว่าเมื่อเริ่มมีการเซ็นสัญญาผู้เล่นใหม่ พวกเธออาจจะได้รับสัญญาที่ค่าเหนื่อยสูงขึ้นตามมูลค่าลีก ก็เป็นได้



Smanachan Buddhajak
0Article
0Video
0Blog