ไม่พบผลการค้นหา
จีนมีแผนที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึกในเมืองจ็อกพิวของเมียนมา แต่ก็ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า เมียนมาเสี่ยงจะติด 'กับดักหนี้' ของจีน โดยที่จีนเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ในการเปิดเส้นทางไปยังมหาสมุทรอินเดีย

สำนักข่าวเอเชียไทม์สระบุว่า สิ่งที่จีนให้ความสำคัญมากที่สุดในเมียนมา ไม่ใช่การเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ ไม่ใช่การรื้อฟื้นโครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่มิตโซนมูลค่า 3,900 ล้านดอลลาร์ที่ถูกระงับไป และไม่ใช่การรักษาสิทธิในการขุดทองแดงในเหมืองเล็ตปะดอง แต่เป็นการเข้าถึงเส้นทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์สำคัญไปยังมหาสมุทรอินเดีย โดยผ่านท่าเรือน้ำลึกจ็อกพิว ทางตะวันตกของรัฐยะไข่ ถือเป็นส่วนสำคัญของเส้นทางสายไหมใหม่ (OBOR)

อย่างไรก็ตาม การสร้างท่าเรือน้ำลึกจ็อกพิวก็สร้างความกังวลใจให้กับหลายฝ่ายว่า เมียนมาต้องจ่ายเงินไปกับโครงการนี้มากกว่า 7,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งฌอน เทอร์เนล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลเมียนมาก็แสดงความเห็นว่าราคาที่ต้องจ่ายสูงอย่างไม่สมเหตุสมผล

ขณะนี้ รัฐบาลเมียนมากำลังทบทวนแผนการสร้างท่าเรือจ็อกพิวอีกครั้ง หลังจากที่เคยประกาศว่าจะสร้างท่าเรือนี้ในปี 2007 ก่อนที่จะเปลี่ยนใจ เพราะกลัวว่าจะเป็นหนี้จีนจำนวนมหาศาลกับโครงสร้างพื้นฐานและโครงการร่วมทุนต่างๆ

ในปี 2015 ซิทิก กรุ๊ป บริษัทที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลจีนชนะการประมูลโครงการถึงร้อยละ 70 ส่วนอีกร้อยละ 30 ที่เหลือเป็นของรัฐบาลเมียนมา แต่การที่เมียนมาจะจ่ายเงินส่วนนี้ได้ รัฐบาลเมียนมาก็จำเป็นต้องไปกู้เงินจากต่างประเทศประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งก็คาดว่าเมียนมาจะต้องกู้ยืมเงินจากจีน

แม้ก่อนหน้านี้ เมียนมาจะคาดหวังว่าการลงทุนจากต่างประเทศจะหลั่งไหลเข้าไป หลังจากที่ประเทศมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว แต่ความหวังเหล่านั้นได้จางหายไป เพราะสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศยังย่ำแย่ ทำให้นักลงทุนตะวันตกไม่เข้าไปลงทุนในเมียนมาอย่างเต็มที่ เมียนมาจึงกำลังเสี่ยงกับการตกเป็นเหยื่อ 'การทูตกับดักหนี้' ที่ประเทศนั้นจะถูกบีบบังคับให้ต้องยอมผ่อนปรนอำนาจอธิปไตย เพื่อแลกกับการผ่อนปรนหนี้

สำนักข่าวเอเชียไทม์สยกตัวอย่างว่าศรีลังกาเป็นเหยื่อ 'การทูตกับดักหนี้' ของจีน โดยอ้างถึงโครงการท่าเรือฮัมบันโตตา ที่ทำให้ศรีลังกาเป็นหนี้จีนมหาศาล เมื่อศรีลังกาไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ ศรีลังกาต้องขายหุ้นท่าเรือร้อยละ 80 ให้กับบริษัท China Merchants Port Holdings ของรัฐบาลจีนเมื่อปี 2016

ขณะเดียวกัน จิบูตี ประเทศที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์จะงอยแอฟริกาและบริเวณคลองสุเอซและทะเลแดง ได้กลายมาเป็นสถานที่ตั้งฐานทัพจีนในต่างประเทศแห่งแรกเมื่อเดือน ส.ค. 2017 หลังจากที่จิบูตีติดหนี้จีนจำนวนมหาศาลจากโครงการสร้างท่าเรือ ทางรถไฟเชื่อมท่าเรือนี้กับกรุงแอดดิส อบาบา เมืองหลวงของเอธิโอเปีย รวมถึงสนามบิน และท่อส่งน้ำจากเอธิโอเปีย

หนึ่งในประตูสู่มหาสมุทรอินเดียของจีนที่ต้องผ่านเมียนมาเป็นช่องทางสำคัญสำหรับการค้ากับแอฟริกาและยุโรป รวมถึงการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลาง จีนได้สร้างท่อส่งน้ำมันและท่อส่งก๊าซผ่านเมียนมา เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัดในช่องแคบมะละกา โดยปัจจุบัน จีนนำเข้าพลังงานร้อยละ 80 ผ่านทางช่องแคบมะละกา ซึ่งจีนเกรงว่าสหรัฐฯ อาจเข้ามาปิดช่องแคบมะละกา หากเกิดความขัดแย้งขึ้น

แม้โครงการสร้างเขื่อนสำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำมิตโซนมูลค่ากว่า 3,900 ล้านดอลลาร์จะถูกระงับไปแล้วหลายปี แต่เมียนมาก็อาจยังต้องจ่ายหนี้ให้กับจีนอีก 800 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากบริษํทของรัฐบาลจีนอ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่จีนได้ใช้จ่ายไปแล้วสำหรับโครงการสร้างเขื่อนแห่งนี้ และในปี 2013 จีนได้ขยายวงเงินกู้ยืมให้เมียนมากว่า 200 ล้านดอลลาร์ เพื่อซื้ออุปกรณ์การเกษตรจากจีนเอง หมายความว่าจีนไม่จำเป็นต้องโยกเงินที่มีอยู่ข้ามแดนไปให้เมียนมาเลยตั้งแต่ต้น

ที่มา: Asia Times

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: