วันที่ 9 มี.ค. 2565 ที่รัฐสภา สมชัย ศรีสุทธิยากร และ ปิยฉัฏฐ์ วันเฉลิม ส.ว. ในฐานะโฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... แถลงผลการประชุมนัดแรก ซึ่งประเด็นในวันนี้มีการหารือว่าด้วยเรื่องของคำนิยามเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งแบบเขต และแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนให้เกิดความชัดเจน โดยจะพิจารณาเป็นรายมาตราไป และล่าสุดได้พิจารณาไปถึง มาตรา 3 แล้ว
ในเรื่องคำนิยาม ที่ประชุมกำหนดให้มีการกำหนดนิยามเขตเลือกตั้งของ ส.ส. ทั้ง 2 ประเภท โดย ส.ส.เขต กำหนดให้ใช้คำว่า 'เขตเลือกตั้งของ ส.ส.' เป็นเขตเลือกตั้ง ขณะที่แบบบัญชีรายชื่อ กำหนดให้ใช้คำว่า 'ประเทศ' เป็นเขตเลือกตั้ง โดยมีสาเหตุเพื่อปรับให้สอดคล้องกับหลักการในรัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี 2540 และ 2550 รวมถึงการแก้ไขเพิ่มเติมในฉบับปี 2564 ซึ่งขณะนั้นมี ส.ส. ทั้ง 2 ประเภท จึงต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะใช้อะไรเป็นเขตเลือกตั้ง เพื่อความสะดวกในการจัดการของทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และพรรคการเมือง
อีกส่วนที่มีการปรับแก้คือ มาตรา 3 ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ซึ่งแก้ไขให้สอดคล้องตามคำนิยาม คือกรณีเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน กำหนดให้ประชาชนเลือกบัญชีรายชื่อ จากพรรคการเมืองที่ส่งเพียงพรรคเดียว โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ประเด็นอื่นๆ ซึ่งเป็นที่ถกเถียงและสนใจของสังคม เช่น เรื่องการใช้เบอร์เดียวทั้งประเทศ เรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อนั้น ยังไม่ได้มีการลงรายละเอียดในวันนี้ คาดว่าจะได้คุยกันต่อไปในวาระประชุมหน้า หรือวันพุธที่ 16 มี.ค. นี้
ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังจำเป็นต้องรอการขอแปรญัตติทั้งหมดจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ในการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ ก่อน ซึ่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะรอถึง 11 มี.ค. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จะรอถึง 12 มี.ค. จากนั้นที่ประชุมจะได้นำข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณาพร้อมกันในลำดับต่อไป โดยภาพรวมคาดการณ์ว่าจะพิจารณาเสร็จสิ้นในช่วงเดือน เม.ย. นี้
'สมชาย’' คาด กมธ. เร่งดันกฏหมายลูกเสร็จก่อนเปิดสภา
ด้าน สมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กล่าวถึงการประชุม กมธ.นัดแรกในวันนี้ว่า มีการพูดคุยกันเรื่องกรอบเวลาให้พิจารณาเสร็จได้ก่อนเปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งหน้า เบื้องต้นมี กมธ.เสนอให้เสร็จสิ้นภายในเดือน เม.ย. ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนเวลาประชุมจาก 10.30 น. เป็น 09.30 น. ในทุกวันพุธ ส่วนวันพฤหัสบดีจะประชุมร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งมีความง่ายกว่า คาดว่าน่าจะเสร็จเร็ว ก็จะนำเวลามาทดให้กับการประชุมร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. แทน คาดว่าภายในเดือน มี.ค. ก็จะเห็นสถานการณ์ชัดเจนแล้วว่าช้าหรือเร็ว อย่างไรก็ตาม กมธ.มีระยะเวลา 180 วัน แต่ ส.ส.ทุกคนก็อยากให้เสร็จก่อนเปิดสมัยประชุมหน้า มองว่าน่าจะมีความคืบหน้า
สมชาย กล่าวต่อว่า กรอบการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีทั้งหมด 4 ร่าง ต้องใช้ร่างรัฐบาลเป็นหลัก ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองจะใช้ร่างของ วิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นหลัก ในที่ประชุมมีการคุยกันว่าร่างที่ถูกตีตกไปแล้ว ถือว่าสภาฯ ไม่รับ จะแปรญัตติเข้าไปไม่ได้ เว้นเสียแต่มีเนื้อหาสาระที่เกี่ยวเนื่องบางประการก็อาจได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องหลักการสำคัญ เช่น มาตรา 28-29 ว่าด้วยการครอบงำพรรคการเมือง น่าจะไม่ได้ หรือแม้แต่เรื่องการยุบพรรค ถ้าเสนอมาก็อาจจะขัดหลักการ ทั้งนี้ยืนยันว่าที่ประชุมให้ช่วยกันพิจารณา สามารถเห็นต่างกันได้ สภาจะเป็นคนตัดสิน ที่สำคัญคือให้เดินไปโดยไม่สะดุดและไม่ขัดรัฐธรรมนูญในภายหน้า
สำหรับเรื่องที่หลายคนกลัวว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ คือเรื่องหมายเลขบัตรเลือกตั้ง สมชาย กล่าวว่า ยังมีความเห็นต่างอยู่เรื่องเบอร์เดียวทั้งประเทศหรือ 2 เบอร์ ซึ่งก็ไม่เป็นไร ฝ่ายไหนชนะใน กมธ. อีกฝ่ายก็ย่อมเสนอความเห็นเป็นปกติ ซึ่งตนได้เรียนไปถึง สาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธาน กมธ.ว่าการจะนัดลงมติแต่ละครั้งจะต้องให้สมาชิกรับทราบล่วงหน้า เพื่อให้ กมธ. 49 คน ได้มาพร้อมหน้าพร้อมตา ส่วนจะลงมติอย่างไรทำได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องนัดหมายให้ชัดเจน ส่วนเรื่องวิธีการคำนวน จะใช้ 500 หรือ 100 หารก็ยังไม่ลงตัว โดยวันนี้เพิ่งเริ่มต้นพิจารณา
เมื่อถามถึง ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะ กมธ. ซึ่งไม่มาประชุมในวันนี้ จะมีปัญหาอะไรหรือไม่ สมชาย กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่า ไพบูลย์ ลาเพราะสาเหตุใด อีกทั้งวันที่ประชุมนอกรอบหลังจากที่มีการโหวตให้ สาธิตเป็นประธานแล้ว ตนเป็นผู้เสนอให้ ไพบูลย์ เป็นรองประธานคนที่ 1 จะได้ถือว่าทำงานด้วยกันต่อได้ แต่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะ กมธ. เสนอให้ สามารถ แก้วมีชัย อดีตรองประธานสภา มาแข่งขัน ซึ่งไพบูลย์ก็มีสปิริต จึงถอนตัว และให้รองประธานคนที่ 1 เป็น มหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว.โดยสลับกันเป็นฝ่ายรัฐบาล ส.ว. และฝ่ายค้าน
สมชาย ยังยืนยันว่าบรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยความราบรื่น และคิดว่าคงไม่มีปัญหา พร้อมทั้งคาดว่าพรุ่งนี้ ไพบูลย์ จะเข้าร่วมประชุมตามปกติ