ไม่พบผลการค้นหา
กมธ.กม.ลูก เลือกตั้ง-พรรคการเมือง พิจารณาเสร็จสมบูรณ์ ยื่นต่อประธานสภาฯ 'วิปฝ่ายค้าน' เล็งลัดคิวเข้าถกต่อในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา 9-10 มิ.ย. นี้

วันที่ 24 พ.ค. 2565 ที่ห้องประชุมข้าราชการสำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา รับยื่นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.(ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว

โดยตัวแทนคณะ กมธ. ได้แก่ สาธิต ปิตุเตชะ ประธานคณะ กมธ. วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พร้อมด้วย มหรรณพ เดชวิทักษ์ รองประธานคณะ กมธ. คนที่หนึ่ง สมชาย แสวงการ รองประธานคณะ กมธ. คนที่สี่ ศุภชัย ใจสมุทร รองประธานคณะ กมธ. คนที่หก กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ รองประธานคณะ กมธ. คนที่เจ็ด และ ชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานคณะ กมธ. คนที่แปด พร้อมด้วยคณะ 

นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร และ สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมในการดังกล่าว

กมธ. กฏหมายลูก 02.jpg

เร่งส่ง กม.ลูกเข้าที่ประชุมสภา 9-10 มิ.ย. นี้

สำหรับร่างกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ คณะ กมธ. ได้ดำเนินการประชุม และได้มีการปรับแก้ไขหลังจากที่ประชุมมีมติรับหลักการ ซึ่งใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 3 เดือน และคณะ กมธ. ได้พิจารณาแล้วเสร็จ ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ และเห็นว่าร่างกฎหมายทั้งสองฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือในการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชนได้

อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายทั้งสองดังกล่าวมีรายละเอียดจำนวนมาก และมีประเด็นที่สำคัญหลายประเด็น ในส่วนของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น คณะ กมธ. ได้มีการปรับแก้ไขในรายละเอียดทั้งสิ้น 37 มาตรา โดยคงร่างเดิมของคณะรัฐมนตรีไว้ 23 มาตรา มีการแก้ไขเพิ่มเติม 9 มาตรา และเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ 5 มาตรา และในส่วนของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น มีรายละเอียดทั้งสิ้น 16 มาตรา โดยคงร่างเดิมของ วิเชียร ชวลิต และคณะ ที่ได้เสนอ จำนวน 7 มาตรา มีการแก้ไขเพิ่มเติม 6 มาตรา และเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ 3 มาตรา

ทั้งนี้ หลังจากคณะ กมธ. ได้ยื่นร่าง พ.ร.ป. ทั้งสองฉบับต่อประธานรัฐสภาแล้ว ประธานฯ ได้มีดำริว่าจะนัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวันที่ 9 - 10 มิ.ย. 2565 เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ ได้มีการหารือในเบื้องต้นระหว่างคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) คณะกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (วิปฝ่ายค้าน) และวุฒิสภาว่า กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีความสำคัญและตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 81 กำหนดไว้ว่า ร่าง พ.ร.ป. และร่าง พ.ร.บ. จะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภาก่อน จึงควรเร่งรัดให้ผ่านการพิจารณาในวาระที่สองและวาระที่สาม เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว โดยจะเสนอในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาให้เลื่อนร่าง พ.ร.ป. ทั้งสองฉบับขึ้นมาพิจารณาก่อนเรื่องที่ค้างพิจารณาอยู่ อย่างไรก็ตาม จะมีการประชุมร่วมกันเพื่อหารือในรายละเอียดอีกครั้งก่อนการประชุมร่วมกันของรัฐสภา

สุทิน 6-C3108402306E.jpeg

'วิปฝ่ายค้าน' เล็งขอลัดคิวถก กม.ลูก ก่อน พ.ร.บ.ตำรวจ

โดยในวันเดียวกันนี้ (24 พ.ค.) สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ได้เผยว่า วิปฝ่ายค้านมีมติร่วมกันที่ต้องการให้ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา บรรจุวาระพิจารณาร่าง พ.ร.ป. จำนวน 2 ฉบับดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาก่อนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ..​ ซึ่ง กมธ.พิจารณาแล้วเสร็จเช่นกัน

สุทิน กล่าวว่า ทางวิปฝ่ายค้านได้พูดคุยร่วมกันและเห็นว่าจะขอให้พิจารณาร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับก่อน เพราะพิจารณาวันเดียวก็คงจบ จากนั้นค่อยพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ต่อ ทั้งนี้ หากประธานรัฐสภานัดพิจารณากรอบวาระการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อใด ตนก็จะแจ้งมติขอฝ่ายค้านนี้ให้ทราบ เพื่อขออย่างเป็นทางการ