ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุม กมธร่างแก้ไข พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.โหวตชนะขาดใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบแต่บัตรคนะเบอร์ ขณะที่ ‘เพื่อไทย-ปชป.’ อภิปรายหนุนบัตรเบอร์เดียวกัน ทำให้เข้าใจง่าย ส่งเสริมพรรคเข้มแข็ง

วันที่ 30 มี.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของรัฐสภา ที่มี สาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานได้พิจารณาวาระเรื่องลงมติกรณีบัตรเลือกตั้งคนละเบอร์ ตามความในร่าง พ.ร.ป. ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ หรือจะใช้เป็นบัตรเบอร์เดียวกัน ตามร่าง พ.ร.ป.ฉบับที่พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ 

โดยก่อนการลงมติ ที่ประชุมมีการเปิดโอกาสให้กรรมาธิการที่ยังเห็นต่าว ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็น 

‘พท.-ปชป.' จับมือหนุนบัตรเบอร์เดียวเข้าใจง่าย

สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกกรรมาธิการ อภิปรายว่า เรื่องหมายเลขบัตร มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการใช้บัตรเลือกตั้งแบบต่างเบอร์ เพราะบางครั้งก็เป็นการทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก 

สมคิด ตั้งคำถามต่อไปว่า อะไรที่ทำให้ประชาชนได้เปรียบ เหตุใดจึงไม่ทำ กลับเอาแต่กังวลถึงผลประโยชน์ของพรรคตนเองมากเกินไป ส่วนตัวมองว่าการแจ้งประชาชนไปว่าเบอร์เดียว เพียงครั้งเดียว จะทำให้ประชาชนไม่สับสน เพราะมั่นใจว่าถ้าประชาชนไม่เลือกพรรคการเมืองไหน อย่างไรเขาก็ไม่เลือก 

เช่นเดียวกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการ และผู้เสนอร่าง พ.ร.ป. มองว่า การมีบัตรเลือกตั้งเบอร์ต่างกันซื้อเสียงได้ง่ายกว่า เพราะไม่ต้องสนใจเบอร์พรรค แต่สนใจแค่เบอร์ตนเอง ซึ่งจะเป็นการทำลายระบบเลือกตั้ง ตนเชื่อว่าการมีเบอร์แตกต่างกัน จะทำให้ ส.ส.ไม่สนใจการหาเสียงให้พรรค และซื้อเสียงกันมากขึ้น ส่วนที่มีข้อสังเกตว่าจะเป็นการยัดเยียดนั้น ยืนยันว่าไม่จริง และไม่อยากให้ใช้เป็นประเด็นหลัก อยากให้ต่อสู้กันด้วยข้อกฎหมายมากกว่า 

ขณะที่ ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรอง กมธ. วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. อภิปรายแสดงความเห็นว่า ในประเด็นบัตรเบอร์เดียวหรือหลายเบอร์ ตนยืนยันจุดเดิมว่า ต้องการให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง ซึ่งการที่ กกต. จัดการเลือกตั้งอย่างมีประสิทธิภาพก็ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนนั้น ตนยังเชื่อว่าการที่พรรคการเมืองส่งผู้สมัครด้วยเบอร์เดียวกัน จะเป็นไปตามหลัก 'พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค' 

กรรมาธิการ บัตรเลือกตั้ง -DB7D-4F5F-B7D3-35CBB4AB3D41.jpeg

ซีกรัฐบาลหนุนต่างเบอร์ อ้างเคารพความหลากหลาย เป็นไปตาม ม.90 

รงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ อภิปรายว่า การที่ทำให้บัตรมีเบอร์เเตกต่างกัน ก็เพื่อเป็นการเคารพสิทธิ์ของประชาชน ทำให้พรรคการเมืองมีความหลากหลาย ตอบสนองความคิดที่หลากหลาย ขณะที่มองว่าการใช้เบอร์เดียว เป็นการจำกัดความคิด ความเชื่อ ตนเชื่อว่าระบบการเลือกตั้งจำเป็นจะต้องออกแบบให้เข้ากับธรรมชาติของคน 

ขณะที่ คารม พลพรกลาง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ โควตาของพรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับการใช้บัตรเลือกตั้งเบอร์เดียวกัน และมองว่าการเลือกตั้งต้องเป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม โดยเฉพาะการทำงานของ ส.ส. อาจมีการใช้ชื่อเสียงของพรรคในการหาเสียง เชื่อว่ามีคนร้องเรียนแน่นอนในวาระที่ 3 หากขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 90 

’สมชัย' จวกพวกกลัวผิด รธน. เรียนผูกต้องเรียนแก้ 

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แสดงความคิดเห็นก่อนลงมติประเด็นบัตรเลือกตั้งจะให้ใช้หมายเลขเดียวกันทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือจะให้แยกกันเป็นคนละเบอร์ว่า เท่าที่ตนได้ฟังหลายคนอภิปรายด้วยเหตุผลและผล มองว่าแบบหมายเลขเดียวกันจะเป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่า เพราะประชาชนจะไม่สับสนและจะเลือกตามเจตนารมณ์ของเขา อีกทั้งพรรคการเมืองจะใหญ่จะเล็ก หรือจะรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ก็จะหาเสียงง่ายประชาสัมพันธ์ทีเดียวไม่ต้องวุ่นวาย และที่สำคัญคือใช้งบประหยัดขึ้น ส่วน กกต. ก็ดำเนินงานได้ง่ายขึ้นในหลายมิติด้วย 

ส่วนการที่หลายบุคคลพูดถึงข้อกังวลจะผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่หากใช้รูปแบบดังกล่าว สมชัย ถามกลับว่า แล้วทำไมถึงไม่แก้ไขให้ถูกต้องตั้งแต่ทีแรก ใครผูกเงื่อนไว้ ก็ต้องแก้เอง ประเด็นนี้สามารถหาทางออกได้ รวมถึงยังยกตัวอย่างพูดถึงวิธีของพรรคเพื่อไทยที่เขียนชัดเจน ว่าวันแรกอาจจะสมัครแบบเขต อีกวันหนึ่งอาจจะแบบบัญชีรายชื่อก็ได้ หรืออีกกรณีหนึ่งหากเกิดความกังวลว่าจะผิดหรือไม่นั้น ก็สามารถส่งศาล รธน. ตีความให้ชัดเจนอีกทางได้ในภายหลัง 

"วันนี้ประชาชนทั่วประเทศจับตาอยู่ ว่าเราจะมีความคิดเห็นอย่างไร จะเอาความลำบาก หรือความง่ายให้ประชาชน อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่ กมธ. ชุดนี้ จะแก้สิ่งที่ผูกไว้ แต่ถ้าไม่แก้ ก็ต้องมีคำอธิบายให้ประชาชนด้วย อย่าพึ่งแต่โฆษกที่ชื่อว่าสมชัย ศรีสุทธิยากร" สมชัย กล่าว

เบอร์เดียวแพ้ราบคาบ! กมธ.เห็นชอบใช้บัตรต่างเบอร์

เวลา 13.05 น. ที่ประชุม กมธ.มีการลงมติว่า จะเห็นควรคงความในมาตรา 4 (แก้ไขเพิ่มเติม) ของร่าง พ.ร.ป.ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ คือใช้บัตรเลือกตั้งคนละเบอร์ หรือแก้ไขตามร่าง พ.ร.ป.ที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ คือใช้บัตรเลือกตั้งเบอร์เดียวกัน 

ในเวลา 13.05 น. ที่ประชุมมีมติ 32 ต่อ 14 เสียงเห็นควนให้คงตามร่างที่คณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการแก้ไข คือ เห็นชอบให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบคนละเบอร์ ส่วนงดออกเสียง1 เสียงมาจากประธาน กมธ.

ทั้งนี้ กมธ.จากพรรคเพื่อไทย ได้ขอสงวนความคิดเห็น ทั้ง 8 คน เพื่อพิจารณาต่อไปในการประชุมรัฐสภาในวาระที่2 เช่นเดียวกับกรรมาธิการจากพรรคก้าวไกล และพรรคอื่นๆ 

ขณะที่ สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธาน กมธ. เปิดเผยหลังการประชุมว่า สำหรับการประชุมครั้งต่อไปในวันพรุ่งนี้ (31 มี.ค.) จะเป็นการพิจารณาคุณสมบัติของผู้จัดตั้งพรรคการเมือง โดยกรอบเวลาของการทำงานยังเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ไม่ได้ล่าช้า

นิกร' แจ้ง กมธ.พ.ร.ป.พรรคการเมือง ขอเลื่อนโหวต

ด้าน นิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.กล่าวว่า ในการประชุม กมธ. วันที่ 31 มี.ค. เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จากเดิมที่นัดหมาย กมธ. ให้ลงมติประเด็นการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ร่วมจัดตั้งพรรค ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ตามที่ อนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ นำเสนอ ที่ประชุมเห็นว่าควรเลื่อนการลงมติประเด็นดังกล่าวออกไปเป็นสัปดาห์ถัดไป เพื่อรอให้นายอนันต์ ซึ่งรักษาตัวจากอาการติดเชื้อโควิด-19 กลับมาร่วมประชุมได้ก่อน 

นิกร กล่าวด้วยว่าสำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ยังมีประเด็นที่จะพิจารณาต่อ อาทิ การแก้ไขอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมือง ที่เก็บจากสมาชิก จากเดิม ปีละ 100 บาท เป็นปีละไม่น้อยกว่า 20บาท และการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคจากสมาชิกแบบตลอดชีพ จากอัตราไม่น้อยกว่า 2,000 บาท เป็นไม่น้อยกว่า 200 บาท เบื้องต้นยังไม่มีการแจ้งลงมติเพื่อตัดสิน เพราะต้องรอดูการร่วมประชุมของ กมธ. อีกครั้ง