แม่ของเด็กหญิงวัย 9 ปีรายหนึ่งในเยอรมนี เป็นตัวแทนลูกสาวยื่นฟ้องคณะประสานเสียงเด็กชายที่เป็นสถาบันเก่าแก่ในกรุงเบอร์ลินด้วยข้อหา 'อคติทางเพศ' เนื่องจากมีข้อสงสัยเรื่องเหตุผลที่ไม่รับเด็กหญิงเข้าร่วมคณะ ทำให้เกิดข้อถกเถียงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและเสรีภาพด้านรสนิยมศิลปะ
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลเยอรมันได้เริ่มพิจารณาคดีที่เด็กหญิงอายุ 9 ปีรายหนึ่ง ซึ่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อ ให้แม่ของเธอเป็นผู้ยื่นฟ้องคณะประสานเสียงเด็กชายแห่งรัฐและคริสตจักรเบอร์ลิน หรือ 'เอสดีบี' ซึ่งเป็นสถาบันเก่าแก่ที่ก่อตั้งขึ้นมาแล้วหลายร้อยปี และอยู่ในสังกัดมหาวิทยาลัยศิลปะของเยอรมนี หรือ 'ยูดีเค' โดยเป็นการฟ้องในข้อหา 'อคติทางเพศ' หลังจากที่เด็กผู้หญิงเข้ารับการทดสอบเพื่อคัดตัวกับ 'เอสดีบี' เมื่อเดือนมีนาคม แต่ไม่ผ่านการคัดเลือก
โฆษกของ 'เอสดีบี' ระบุว่า การตัดสินใจไม่เลือกเด็กหญิงคนดังกล่าวเข้าร่วมคณะประสานเสียง ไม่เกี่ยวกับอคติทางเพศ แต่เป็นเพราะโทนเสียงของเธอไม่ใช่เสียงที่คณะประสานเสียงต้องการ พร้อมทั้งยืนยันว่า ถ้าเด็กผู้หญิงคนไหนมีความมุ่งมั่นและมีพรสวรรค์ที่โดดเด่น ก็มีโอกาสได้รับเลือกเป็นสมาชิกได้
แต่ 'ซูซาน บรักไคลน์' ทนายความตัวแทนเด็กหญิงและแม่ เปิดเผยกับเดอะการ์เดียนและเอพีว่า คำแถลงของโฆษก 'เอสดีบี' เป็นประเด็นที่น่าสงสัย เพราะหลังจากคัดตัวกับ 'เอสดีบี' แล้ว ทางมหาวิทยาลัยต้นสังกัดอย่าง 'ยูดีเค' กลับเสนอชื่อเด็กหญิงคนดังกล่าวไปยังสถาบันดนตรี 'จูเลียส สเติร์น' ซึ่งเป็นสถาบันมีชื่อเสียงและรับเฉพาะเด็กที่มีพรสวรรค์หรือความสามารถโดดเด่นทางด้านดนตรี
ขณะที่เงื่อนไขในการคัดตัวเข้าคณะประสานเสียง 'เอสดีบี' สำหรับเด็กผู้ชาย ไม่ระบุว่าจะต้องมีพรสวรรค์หรือมีความสามารถโดดเด่น แต่ระบุเพียงว่า เด็กผู้ชายอายุตั้งแต่ 5 ถึง 7 ปี มีสิทธิสมัครคัดตัวได้เลย และผู้ที่ได้รับเลือกเข้าคณะ 'เอสดีบี' จะได้รับการฝึกฝนร้องเพลงโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
บรักไคลน์ระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้ในปี 2016 และ 2018 เด็กหญิงคนดังกล่าวเคยสมัครขอคัดตัวกับ 'เอสดีบี' มาแล้ว แต่ถูกปฏิเสธไม่ให้คัดตัวตั้งแต่ต้น และในเดือน ธ.ค.2018 คณบดีคนหนึ่งของมหาวิทยาลัย 'ยูดีเค' ส่งจดหมายชี้แจงถึงครอบครัวของเด็กหญิงโดยระบุว่า ไม่เคยมีเด็กผู้หญิงเป็นสมาชิกคณะประสานเสียงเด็กชายมาก่อน ซึ่งหลังจากนั้น เด็กผู้หญิงคนนี้ก็ถูกเรียกไปทดสอบในช่วงคัดตัวสมาชิกคณะประสานเสียงเมื่อเดือน มี.ค.2019 แต่ไม่ผ่านการคัดเลือก ทำให้เธอและครอบครัวตัดสินใจนำเรื่องนี้สู่กระบวนการทางกฎหมาย
บรักไคลน์ระบุเพิ่มเติมว่า การเลือกปฏิบัติหรือการมีอคติด้วยเหตุแห่งเพศ เข้าข่ายละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญเยอรมนีที่คุ้มครองความเท่าเทียมทางเพศ
ส่วนสำนักข่าวเอพีรายงานว่า มีผู้สนับสนุนคณะประสานเสียงเด็กชาย SDB เช่นกัน โดยอ้างถึงคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์และนักดนตรีที่มีชื่อเสียงในเยอรมนี 2 ราย มองว่า การไม่รับเด็กหญิงเป็นสมาชิกคณะประสานเสียงเด็กชายเป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะนอกจากจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเก่าแก่ของสถาบันแล้ว ยังมีเรื่องโทนเสียงของเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายที่ 'แตกต่างกัน' การนำประเด็นอคติทางเพศมาฟ้องร้องกันจึงถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง พร้อมย้ำว่า 'เสรีภาพด้านรสนิยมศิลปะ' ก็ต้องได้รับความคุ้มครองเช่นกัน
ขณะที่เว็บไซต์เดอะการ์เดียนรายงานคำแย้งของทนายความบรักไคลน์ ซึ่งอ้างอิงงานวิจัยของนักวิชาการชาวอังกฤษที่ศึกษาเรื่องเพศสภาพในคณะประสานเสียงประจำโบสถ์ โดยยกสมมติฐานเรื่องเสียงของเด็กชายและเด็กหญิงแตกต่างกันมาทดสอบ เพราะมีความเชื่อในวงการดนตรีสมัยโบราณที่มองว่าเสียงของเด็กผู้ชายที่ยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์มีเอกลักษณ์โดดเด่น ไม่เหมือนเสียงเด็กผู้หญิง แต่ผลวิจัยของเขาสรุปว่า ผู้ฟังเพลงประสานเสียงส่วนใหญ่ไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างเสียงเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายที่ร้องเพลงเดียวกันได้
ก่อนหน้านี้ เลสลีย์ การ์เรตต์ นักร้องหญิงเสียงโซปราโนชาวอังกฤษ หนึ่งในคณะกรรมการโอเปราสหราชอาณาจักร เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดในวงการคณะประสานเสียงที่เชื่อว่าเสียงของเด็กชายนั้นมีความบริสุทธิ์กว่าเสียงเด็กผู้หญิงว่า 'คร่ำครึ' และเป็นความเชื่อในยุคโบราณที่ผ่านพ้นไปแล้ว พร้อมระบุว่าทุกวันนี้ เด็กหญิงและผู้หญิงที่มีความสามารถด้านการร้องเพลงประสานเสียงไม่แพ้ผู้ชาย ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาหรือความก้าวหน้าทางอาชีพการงาน และค่านิยมเหล่านี้สมควรถูกตั้งคำถามและเปลี่ยนแปลง
การ์เรตต์ยกตัวอย่างคณะประสานเสียงของวิทยาลัยคิงส์คอลเลจในลอนดอน ซึ่งเป็นคณะที่มีชื���อเสียงระดับประเทศและระดับโลก ไม่เคยเปิดรับนักร้องผู้หญิงเลย ทั้งที่คิงส์คอลเลจเป็นวิทยาลัยแห่งแรกที่เปิดรับนักศึกษาผู้หญิง หลังจากที่สถาบันแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานศึกษาของผู้ชายมานานหลายร้อยปี