รัฐบาลรัสเซียเปิดให้สื่อมวลชนสำรวจด้านในของเรือขนาดใหญ่ที่มีชื่อว่า 'อคาเดมิก โลโมโนซอฟ' (Academik Lomonosov) ก่อนที่เรือลำนี้จะเริ่มปฏิบัติภารกิจเดินทางไปยังเขต 'ชูคอตกา' ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ โดยที่เรือลำนี้ เป็นที่รู้จักในฐานะ 'โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำ' ลำแรกของรัสเซีย
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลรัสเซียได้จัดพิธีปล่อยเรือ 'อคาเดมิก โลโมโนซอฟ' ออกจากท่าเรือที่เมืองมูร์มังสก์ เพื่อที่จะเดินทางไปยังเมืองเปเวก เมืองท่าในเขตปกครองตนเอง 'ชูคอตกา' ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกล และเปรียบได้กับ 'ประตูสู่อาร์กติก' หรือบริเวณขั้วโลกเหนือนั่นเอง
ภารกิจล่องเรือครั้งนี้ก็เพื่อกระจายพลังงานไปสู่ประชากรที่อยู่ในเขตห่างไกล เพราะเรือลำนี้ ที่จริงแล้วคือ 'โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำ' แห่งแรกที่ผลิตและประกอบในรัสเซียทั้งหมด ขณะที่ประชากรราว 4,000 คนในเมืองเปเวกที่เป็นจุดหมายปลายทางของการล่องเรือลำนี้ อยู่ห่างไกลจนระบบสาธารณูปโภคทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ รัฐบาลรัสเซียจึงผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำขึ้นมา เพื่อจะเคลื่อนที่ไปให้บริการกับประชาชนในพื้นที่ชนบทอื่นๆ ทั่วประเทศในอนาคตด้วย
ก่อนที่เรือจะออกท่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทโรสตอม ซึ่งเป็นกิจการรัฐวิสาหกิจ และเป็นผู้รับผิดชอบการผลิตเรือ 'อคาเดมิก โลโมโนซอฟ' ได้เปิดให้สื่อมวลชนสำรวจภายในเรือว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร โดยพื้นที่ส่วนที่เปิดเผยต่อสื่อ ได้แก่ ห้องควบคุมเรือ ห้องพักของลูกเรือ ซึ่งแม้จะเป็นห้องขนาดเล็ก แต่ก็พยายามตกแต่งให้มีเครื่องอำนวยความสะดวกคล้ายกับเรือสำราญ ห้องออกกำลังกาย รวมถึงเตาปฏิกรณนิวเคลียร์และแผงวงจรต่างๆ ที่ใช้ในการดำเนินการด้านพลังงาน
ผู้ควบคุมเรือ 'อคาเดมิก โลโมโนซอฟ' เปิดเผยกับสื่อว่าการเดินทางครั้งนี้จะเป็นระยะทางทั้งหมดประมาณ 4,640 กิโลเมตร แต่ไม่ได้เปิดเผยว่าการเดินทางจะใช้เวลาประมาณเท่าใด ซึ่งอาจจะขึ้นกับสภาพอากาศในขณะที่แล่นเรือลำนี้ด้วย
ถึงแม้ว่าเรือ 'อคาเดมิก โลโมโนซอฟ' จะมีเป้าหมายที่ดีที่การกระจายพลังงานไปยังพื้นที่ชนบท แต่ก็ทำให้ประเทศอื่นๆ รวมถึงนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมพากันวิตกกังวลว่าโรงไฟฟ้าลอยน้ำแห่งนี้จะก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมอะไรขึ้นอีกหรือไม่ เพราะจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา โครงการนิวเคลียร์ของรัสเซียเคยมีปัญหาหลายประการ และเป็นสาเหตุให้มีคนเสียชีวิตจำนวนมากมาก่อน
นิตยสารไทม์สของสหรัฐอเมริกายกตัวอย่างกรณี เรือคูสก์ เรือดำน้ำนิวเคลียร์ของรัสเซียที่ จมลงใน 'ทะเลแบเรนสต์' เมื่อปี 2000 ทำให้ผู้ที่อยู่บนเรือเสียชีวิต 118 ราย และก่อนหน้านั้นในปี 1989 เรือดำน้ำนิวเคลียร์ 'คอมโซโมเล็ตส์' ก็จมลงที่ทะเลแบเรนสต์เช่นกัน ส่วนโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นตอนที่ 'เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลระเบิด' เมื่อปี 1986 ซึ่งตอนนั้นบริเวณดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต ทำให้มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์และหลังจากนั้นอีกหลายหมื่นคน และล่าสุดเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ก็เพิ่งเกิดเหคุระเบิดที่โรงงานของบริษัทโรสตอมเช่นกัน และมีนักวิทยาศาสตร์กับนายทหารเสียชีวิต 5 ราย
แม้ว่าครั้งนี้รัฐบาลรัสเซียจะยืนยันเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่เกรงว่าโครงการนี้อาจจะสร้างปัญหาขึ้นในอนาคต และเป็นเรื่องที่จะต้องจับตาดูกันต่อไป แต่ถ้าโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องพลังงานไฟฟ้าให้กับประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้