รัฐบาลสิงคโปร์เผยความคืบหน้าในการพัฒนาพื้นที่ใช้สอยเพื่อสาธารณะ ทั้งบนดิน ใต้ดิน และลอยฟ้า หลังจากเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลสิงคโปร์เพิ่งจะประกาศแผนเคลื่อนย้ายระบบโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมลงไปใต้ดิน เพื่อให้ 'บนดิน' เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและสันทนาการของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศแผนพัฒนา 'ระเบียงสีเขียว' หรือ สวนสาธารณะลอยฟ้าเหนือคลองที่ขนานกับทางเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้า 3 แห่งย่านใจกลางเมือง และตั้งเป้าว่าโครงการจะเริ่มขึ้นในปี 2021 โดยจะก่อสร้างทางยกระดับเหนือคลองเลียบถนน ความยาวประมาณ 11 กิโลเมตร ก่อนก่อสร้างก็จะต้องสำรวจเส้นทางและออกแบบระเบียงสีเขียวเพื่อรองรับคนเดินถนนและนักปั่นจักรยาน
สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นความคืบหน้าของนโยบายเพิ่ม 'พื้นที่สีเขียว' ให้กับประชาชน หลังจากเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศ 'แผนพัฒนาพื้นที่ใต้ดิน' เพื่อการใช้สอยเพิ่มเติมในด้านประโยชน์สาธารณะ โดยเป้าหมายหลัก คือ การย้ายระบบโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมต่างๆ ลงไปใต้ดิน เพื่อให้พื้นที่ 'บนดิน' ได้ใช้ประโยชน์ด้านสันทนาการและคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเต็มที่
เขตที่ถูกกำหนดให้เป็นโครงการนำร่องของการพัฒนาพื้นที่ใช้สอยใต้ดิน ได้แก่ มารีนาเบย์, จูหร่ง และพังโกล ซึ่งในกรณีของ 'มารีน่าเบย์' มีความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมอยู่แล้ว เพราะย่านนี้เป็นที่ตั้งของระบบรักษาอุณหภูมิและระบบทำความเย็นใต้ดิน ซึ่งสร้างเสร็จและเปิดใช้งานตั้งแต่ปี 2016
ระบบนี้มีไว้ส่งน้ำเย็นไปยังท่อส่ง ซึ่งติดตั้งขึ้นภายในอาคารริมน้ำ ย่านมารีน่าเบย์ ทำให้อุณหภูมิภายในอาคารเหล่านี้ลดลง และช่วยประหยัดการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศในอาคารลงได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศลดลงไปด้วยประมาณปีละ 34,500 ตัน
เป้าหมายต่อไปของสิงคโปร์คือการสำรวจและจัดทำแผนที่ใต้ดินแบบ 3 มิติ รวมถึงศึกษาข้อมูลพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อกำหนดโครงสร้างทางธรณีวิทยาและจำลองผังเมืองใต้ดินว่า บริเวณไหนที่เหมาะกับการก่อสร้างใต้ดิน เนื่องจากรัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าจะก่อสร้างทั้งเส้นทางรถไฟฟ้า ถนน และทางเดินใต้ดินเพิ่มเติม รวมถึงย้ายระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ลงไปใต้ดินเป็นอันดับต่อไป
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสิงคโปร์ได้ปรับแก้กฎหมายด้านผังเมืองไปแล้ว เปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐครอบครองกรรมสิทธิ์ 'พื้นที่ใต้ดิน' ของเอกชนได้ โดยระบุว่า เอกชนจะเป็นเจ้าของพื้นที่ 'บนดิน' แต่พื้นที่ใต้ดินซึ่งอยู่ลึกลงไปเกินกว่า 30 เมตร สามารถนำไปใช้ในโครงการพัฒนาพื้นที่ใช้สอยใต้ดินได้ แต่การวางแผนดำเนินงานนั้นมีระยะเวลาประมาณ 10 ถึง 15 ปีเท่านั้น และมีเงื่อนไขสำคัญ คือ หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องทบทวนแผนการดำเนินงานทุกๆ 5 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าแผนการที่วางไว้แต่เดิมยังเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในอนาคต
ส่วนวิธีการถมทะเลเพื่อสร้างพื้นที่ใช้สอยที่สิงคโปร์เคยใช้มาก่อน เป็นวิธีที่ต้องใช้ต้นทุนเพิ่มมากขึ้นมหาศาล เพราะหลายประเทศไม่ต้องการดูดทรายมาขายให้สิงคโปร์เหมือนในอดีต เพราะการดูดทรายทำให้เกิดปัญหาดินถล่มหรือชายฝั่งถูกน้ำกัดเซาะเสียหายรุนแรงตามมา ทั้งยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม สิงคโปร์จึงต้องเปลี่ยนมาพิจารณาการใช้พื้นที่ใต้ดินแทนการถมทะเล
สิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับโครงการใต้ดิน อยู่ที่วิธีการในการจัดเตรียมพื้นที่ อาจจำเป็นต้องใช้วิธี 'ระเบิด' ใต้ดิน ซึ่งอาจจะทำไม่ได้ในพื้นที่เศรษฐกิจใจกลางเมืองที่มีอาคารสูงรวมตัวอยู่ในย่านเดียวกัน การระเบิดใต้ดินจะส่งผลกระทบต่ออาคารเหล่านี้
ส่วนนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญบริษัทเอกชนที่พัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้ก็ยังสนับสนุนว่า การย้ายระบบอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานลงไปใต้ดินเป็นตัวเลือกที่จำเป็น เพราะรัฐบาลต้องวางแผนรองรับจำนวนประชากรที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญมองว่า ถ้ามีวิธีอื่นที่น่าสนใจกว่านี้ก็ต้องศึกษาเปรียบเทียบกันหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยในการก่อสร้างและใช้งาน งบประมาณโดยรวม ตลอดจนการบริหารจัดการในอนาคต วิธีไหนเหมาะสมที่สุดก็ค่อยใช้วิธีนั้น