แม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำเทคโนโลยีด้านต่างๆ และเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มแนวคิดเรื่อง 'สังคมไร้เงินสด' แต่ญี่ปุ่นกลับตกขบวนการเป็นผู้นำในด้านนี้ โดยมีสาเหตุจาก 2 ประเด็นที่น่าสนใจ
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ประเทศญี่ปุ่นยังไม่สามารถเป็น 'สังคมไร้เงินสด' ได้ในขณะนี้ ต่างจากจีนและเกาหลีใต้ที่แซงหน้าไปแล้ว สาเหตุหลักประการแรกก็คือ ญี่ปุ่นเป็นประเทศสังคมสูงวัย ประชากรเกินกว่า 28 เปอร์เซ็นต์ มีอายุเกิน 65 ปี ซึ่งคนกลุ่มนี้ยังพอใจและคุ้นเคยกับการใช้เงินสดในการจับจ่ายใช้สอยด้านต่างๆ มากกว่า
ผู้ประกอบการร้านค้าหลายรายในกรุงโตเกียว ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่าร้านของเขาและเธอให้บริการธุรกรรมดิจิทัล แต่พวกเขาพบว่ามีเพียง 2 หรือ 3 ครั้งต่อสัปดาห์เท่านั้นที่จะเจอลูกค้าที่ใช้จ่ายด้วยระบบอีเพย์เมนต์ ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากสำหรับการจะเป็นสังคมไร้เงินสด
ส่วนสาเหตุสำคัญประการที่ 2 ก็คือ อัตราการเกิดอาชญากรรมในญี่ปุ่นนั้นถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก คนจำนวนมากจึงรู้สึกปลอดภัยที่จะพกเงินสดติดตัว แม้ว่าจะเป็นเงินสดจำนวนมากก็ตาม เพราะไม่บ่อยนักที่จะเกิดคดีลักทรัพย์หรือคดีปลอมแปลงธนบัตรเกิดขึ้นในสังคมที่ตัวเองอาศัยอยู่
ปัจจุบัน ผู้ให้บริการธุรกรรมดิจิทัลรายใหญ่ในญี่ปุ่น คือ ซอฟต์แบงก์ ซึ่งร่วมมือกับบริษัทยาฮู เปิดให้บริการ 'เพย์เพย์' PayPay ซึ่งเป็นระบบสแกนบาร์โค้ดเพื่อจ่ายเงินโดยไม่ต้องกดเงินสดออกจากบัญชี ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าการขยายตัวของกลุ่มผู้ใช้บริการด้านนี้ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์เอาไว้
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จำนวนมากคิดว่า การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ญี่ปุ่นในปีหน้า อาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้มีผู้ใช้บริการอีเพย์เมนต์กันมากขึ้น เพราะจะมีนักกีฬาและนักท่องเที่ยวจากอีกหลายประเทศทั่วโลกเข้ามาในประเทศช่วงนั้น และหลายคนคงไม่อยากพกเงินสดติดตัวเป็นจำนวนมาก