ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเอเชียเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จนทำให้ต่างชาติสนใจมาลงทุนในภูมิภาคนี้กันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ของสำนักข่าวนิกเกอิมองว่า ช่วงที่ผ่านมา ไทยประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจโตช้า และเสี่ยงจะเผชิญวิกฤตนี้ต่อไปอีกหลายปี
สำนักข่าวนิกเกอิระบุว่า วิกฤตการเมืองของไทยช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้ไทยประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจโตช้า โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่ร้อยละ 3 ต่อปีเท่านั้น ถือว่าช้าที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น เศรษฐกิจฟิลิปปินส์เติบโตมากกว่าร้อยละ 6 ต่อปี ส่วนอินโดนีเซียเติบโตร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งสำนักข่าวนิกเกอิมองว่า นโยบายเศรษฐกิจของไทยปัจจุบันที่มองแต่ปัญหาระยะสั้นอาจทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าไปอีกทศวรรษด้วย
สิ่งที่นิกเคอิระบุว่าเป็นสิ่งที่ล้มเหลวที่สุดของเศรษฐกิจไทยก็คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ช้าเกินไป โดยเฉพาะโครงการสร้างทางรถไฟความเร็วสูง ดังนั้น หากไทยยังต้องการให้บริษัทอย่างโตโยต้า และซัมซุงตั้งฐานการผลิตในไทย ก็จำเป็นต้องปรับปรุงทั้งท่าเรือ ถนน สะพาน รวมไปถึงระบบจ่ายไฟฟ้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจมากกว่านี้
อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ก็คือ ไทยยังคงเป็นประเทศที่ประชาชนมีหนี้ครัวเรือนสูงที่สุดในภูมิภาค หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระบบธนาคารเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 3 จากหนี้ทั้งหมดในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2011 และความกังวลเรื่องหนี้เสียก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ปีนี้ตลาดหุ้นไทยเติบโตช้ามากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นในเอเชีย
อีกจุดบอดคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เด็กไทยอยู่อันดับ 54 จากทั้งหมด 70 ประเทศของการจัดอันดับโดยองค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยนิกเกอิมองว่า รัฐบาลไทยใช้วิธีบริหารแบบมองแต่ปัญหาระยะสั้น ทำให้มีการทุ่มงบประมาณไปให้การศึกษา แต่ไม่รับปรุงระบบการศึกษาให้ทันสมัยขึ้น ไม่เตรียมพร้อมคนรุ่นใหม่สู่ตลาดแรงงานในอนาคต ที่ให้คุณค่ากับการคิดวิเคราะห์และการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆหรือวิธีการใหม่ๆ ขณะที่ทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยก็ยังดีไม่เท่าประเทศเพื่อนบ้าน
สำนักข่าวนิกเกอิมองว่า รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันพยายามขจัดแนวคิดต่างๆของ อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร แต่ก็ให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์มานำพาประเทศสู่ความมั่งคั่ง ซึ่งกลับกลายเป็นการดึงเอาข้อด้อยของทักษิโณมิกส์กลับมาแทน เช่น การแจกจ่ายเงินให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ แต่ไม่ได้ช่วยปรับปรุงด้านการศึกษา นวัตกรรม หรือการผลิตใดๆ และไม่มีแนวทางเศรษฐกิจใหม่ๆเลย
ข้อเสนอแนะที่นิกเกอิระบุไว้คือ รัฐบาลไทยควรกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน เพื่อให้รู้ระยะเวลาที่รัฐบาลพลเรือนจะเข้ามาบริหารประเทศ จากนั้น รัฐบาลชุดใหม่จะต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินเศรษฐกิจ และปฏิรูปการศึกษา เพื่อนำไทยก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง และไม่นำกลยุทธ์กระตุ้นเศรษฐกิจเพียงระยะสั้นแบบยุคของรัฐบาลไทยรักไทยกลับมาใช้ และกำหนดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ไทยจะเป็นอย่างไร