ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีตลอดปีที่ผ่านมา ถูกมองว่าเป็นปัจจัยบั่นทอนเศรษฐกิจเกาหลีใต้ไม่น้อย แต่นักวิเคราะห์กลับมองว่าผู้ที่ทำลายเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ไม่ใช่คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ แต่เป็นนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ
ปี 2017 เป็นปีที่เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธมากที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ ผ่านไป 7 เดือน มีการทดสอบหรือยิงขีปนาวุธไปแล้ว 11 ครั้ง และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันชาติสหรัฐฯ ก็มีการทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามทวีปครั้งแรก ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาแสนยานุภาพทางทหารของเกาหลีเหนือ ท้าทายสหรัฐฯอย่างโจ่งแจ้ง ทั้งหมดนี้ทำให้ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีเพิ่มสูงขึ้นที่สุดในรอบหลาย ปี แม้นายมุนแจอิน ประธานาธิบดีใหม่ของเกาหลีใต้ จะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีนโยบายเป็นมิตรกับเกาหลีเหนือ ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เนื่องจากทั้งคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ และนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี ต่างมีท่าทีแข็งกร้าวต่อกันอย่างมาก จนเกาหลีใต้ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก
แต่ ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดเช่นนี้ เศรษฐกิจเกาหลีใต้ก็ยังสามารถเติบโตได้อย่างน่าพอใจ 2 ไตรมาสที่ผ่านมา เงินวอนปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 4.6 และดัชนีคอสปีของเกาหลีใต้ก็ปรับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17.4 เนื่องจากการส่งออกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง บวกกับผลประกอบการของบรรษัทต่างๆในไตรมาส 2 ที่ส่วนใหญ่ออกมาน่าพอใจ
อย่าง ไรก็ตาม สิ่งที่นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ ก็คืออัตราค่าประกันความเสี่ยงในกิจการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเกาหลีเหนือ ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากระดับประมาณ 100 เป็น 231 หรือกว่า 2 เท่าในระยะเวลาเพียง 6 เดือน และอัตราค่าประกันความเสี่ยงในเกาหลีใต้ เมื่อนายทรัมป์ได้รับชัยชนะ และจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2016 สูงกว่าในเดือนกันยายน หรือ 2 เดือนก่อนหน้า ที่เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธครั้งที่ 5 เสียอีก ซึ่งหมายความว่านักลงทุนและบรรษัทการเงินต่างๆ มองว่าทรัมป์คือความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ยิ่งกว่านโยบายอันแข็งกร้าวและยากจะคาดเดาของนายคิมจองอึน แตกต่างจากตอนที่นายบารัก โอบามา จากพรรคเดโมแครต เป็นผู้นำสหรัฐฯ
นัก วิเคราะห์การเงินจากซัมซุง ฟิวเจอร์ส มองว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะในยุคของนายโอบามา รวมถึงประธานาธิบดีคนอื่นๆ นักลงท��นไม่ใส่ใจท่าทีของเกาหลีเหนือมากนัก เนื่องจากการทดสอบขีปนวุธเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนกลายเป็นเรื่องปกติ และทุกคนทราบดีว่านายคิมจองอึนจะไม่ทำอะไรที่ไร้เหตุผลหรือสุดโต่งจริงๆ นอกจากทำเพียงขู่หรือแสดงแสนยานุภาพ เพราะหากมีการโจมตีเกิดขึ้นจริง ผลลัพธ์ที่จะตามมาย่อมเลวร้ายอย่างที่สุดต่อเกาหลีเหนือเอง และอาจนำไปสู่จุดจบของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ เนื่องจากสหรัฐฯอาจตัดสินใจส่งทหารเข้าเกาหลีเหนือและเปลี่ยนรัฐบาลเผด็จการ เป็นประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปอย่างมากในยุคของนายทรัมป์ และพรรครีพับลิกัน ซึ่งมีท่าทีแข็งกร้าวและคาดเดาไม่ได้กว่านายโอบามาอย่างเทียบกันไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์หรือท่าทีใดๆจากเกาหลีเหนือ ผลที่เกิดกับเกาหลีใต้จะไม่ใช่เพียง "หุ้นตกครึ่งวัน" อย่างที่เคยเป็นมาตลอดอีกต่อไป เนื่องจากนักลงทุนไม่มั่นใจว่ารัฐบาลนายทรัมป์จะมีมาตรการตอบโต้หนักเบา เพียงใดต่อเกาหลีเหนือ และความไม่แน่นอนนี้ก็เกิดบ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสหรัฐฯและเกาหลีเหนือต่างไม่ยอมลดราวาศอกกัน และมีการกระทำยั่วยุกันอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่หัวหน้าศูนย์วิจัยการ ตลาดของธนาคารโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟจี ยอมรับว่านายทรัมป์สร้างความปั่นป่วนในตลาดในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน มากกว่าที่นายโอบามาทำในระยะ 8 ปีเสียอีก โดยตลาดตอบสนองต่อแนวทางใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เป็นสไตล์ผู้นำเป็นศูนย์กลาง และนายทรัมป์ก็แสดงความเห็นที่สุดโต่งรุนแรง กระทบความมั่นคงของโลกและความเชื่อมั่นนักลงทุนบ่อยครั้ง ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในหมู่นักลงทุน ว่านโยบายของสหรัฐฯ จะเป็นไปในทิศทางใดกันแน่ ซึ่งความไม่แน่นอน เป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดของนักลงทุน จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดนักการเงินในเกาหลีใต้ตอนนี้จึงต่างลงความเห็นว่า นายทรัมป์คือผู้ที่ไม่น่าไว้วางใจ และขัดขวางการลงทุนยิ่งเสียกว่าผู้นำเผด็จการเกาหลีเหนือ