ไม่พบผลการค้นหา
หากจะให้นึกถึง ส.ส. ที่มีคาแรกเตอร์ ‘ตัวฟาด’ ‘ตัวตึง’หรือ ‘ตัวดึงอารมณ์' พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในสภาฯ อยู่บ่อยครั้ง ชื่อของ ‘อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คงไม่หลุดโผเป็นแน่

ภายใต้ตัวตนที่ถูกหล่อหลอมให้เป็นเพียง 'นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เรียกร้องประชาธิปไตย’ และความคิดที่ไม่เคยอยากเป็นนักการเมืองมาก่อน

‘อมรัตน์’ สามารถเข้าเรียนจนจบปริญญาตรีรั้วมหาวิทยาลัย ในคณะบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเธอได้ซึมซับถึงเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 รวมทั้งเคยร่วมชุมนุมทำกิจกรรมกับคนเสื้อแดงมาตลอดตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2557

เธอไม่คาดคิดว่าวันหนึ่งจะได้เป็นผู้แทนราษฎร ในสังกัดพรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน

การวางบทบาทในสภาฯ บ่อยครั้ง ‘อมรัตน์’ เลือกบทบาทตึงใส่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่มีรากเหง้ามาจากการรัฐประหาร อยู่บ่อยครั้ง

จนกระทั่ง ‘อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล’ ตัดสินใจจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเข้าสมัครสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ พรรคการเมืองเฉดสีส้มในปีกประชาธิปไตย

‘อมรัตน์’ อดีตประธานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ต.นครปฐม อ.เมือง จ.นครปฐม เปิดบ้านพักส่วนตัวใน จ.นครปฐม ให้ ‘วอยซ์’ สัมภาษณ์พิเศษผ่าน #VoicePolitics เพื่อเจาะลึกชีวิตส่วนตัวหลังผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 58 ปี

S__20947036.jpg


‘ด.ญ.อมรัตน์’ วิสัยทัศน์ทางการเมือง ความดื้อรั้นในวัยเยาว์ 

มีความชื่นชอบทางการเมืองมาตั้งแต่สมัยเด็ก เพราะตั้งแต่อายุ 10-11 ขวบ คุณพ่อพาไปดูสถานที่ใน จ.นครปฐม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519  ที่มีช่างไฟฟ้าสองคนถูกแขวนคอบริเวณประตูแดง และด้วยความที่คุณพ่อเป็น Active Citizen (พลเมืองตื่นรู้) เพราะเป็นกำนัน จึงพาไปดูพวกพี่ๆ นักศึกษาที่ถูกจับตัวจากกรุงเทพฯ มาที่สถานีตำรวจภูธรภาค 7 ซึ่งเราก็ได้เห็นพี่นักศึกษาเขาถอดเสื้อแล้วนั่งเรียนกันในสนาม 

ประกอบกับธรรมชาติเป็นเด็กชอบตั้งคำถาม ถามจนพ่อแม่รำคาญ (หัวเราะ) ก็จะซักถาม แม้จะรู้มาแค่นิดเดียวแต่เราก็ไปหาหนังสืออ่านต่อ และเผอิญได้เรียนที่โรงเรียนซึ่งมีหลักสูตรก้าวหน้าอย่าง โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร ถ้าเปรียบสมัยนี้ก็เป็นโรงเรียนทางเลือกที่หลักสูตรไม่เหมือนคนอื่น โดยเป็นโรงเรียนที่สอนให้ร้องเพลงเพื่อชีวิต หรือเพลง ‘คนกับควาย’ ตั้งแต่ ป.5 

มันจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราค่อนข้างเป็นเด็กดื้อ คิดนอกกรอบ คิดไม่ค่อยเหมือนคนอื่น อย่างเช่นตอนเรียนวิชาพระพุทธศาสนา เจ้าชายสิทธัตถะเกิดมาแล้วเดินได้ 7 ก้าว มีดอกบัวมารองรับ ถ้าเรามองว่ามันไม่เป็นเหตุผลก็ชอบตั้งคำถาม และบางครั้งก็ยังเป็นหัวโจกชอบหนีเรียน เพราะโรงเรียนสาธิตฯ มันตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยแล้วก็จะมีพวกคณะศึกษาศาสตร์ และคณะอักษรศาสตร์ อยู่ใกล้ๆ ซึ่งก็ชอบขี่จักรยานไปกินของอร่อยๆ ที่นั่น ผลสุดท้ายคือโดนครูจับได้ยกแก๊ง (หัวเราะ) 

อมรัตน์ VoicePolitics F5BAB009480D.jpeg


‘ลูกสาวกำนัน’ ชีวิตที่คลุกคลาน ไม่เหมือนดั่งละคร 

โตมาแบบชีวิตที่โลดโผน เพราะคุณพ่อทำธุรกิจรถเมล์ เคยเป็นนายกสมาคมรถร่วม บขส. 2 สมัย เหมือนตำแหน่งเจ๊เกียวตอนนี้ แต่เคยเป็นตำแหน่งของคุณพ่อมาก่อน 

คุณพ่อเป็นคนสู้ชีวิต ทำตั้งแต่ขับรถเมล์วิ่งสายกรุงเทพฯ - ภูเก็ต ภาคใต้ จนสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวมาเป็นนายกสมาคมได้ และบางครั้งเวลาวิ่งใต้ก็จะมีพวกลูกน้องลักลอบขนของหนีภาษีเข้ามาด้วยการเจาะรู้ที่พื้นรถเมล์ แล้วเอาของซ่อนไว้ เช่น บุหรี่หนีภาษี ทำให้เวลาโดนตรวจค้นก็จะต้องเสียเงิน ชดใช้อะไรต่างๆ 

ล้มแล้วลุก ล้มลุกคลุกคลานหลายรอบ เนื่องจากเป็นลูกคนโต ก็ต้องเป็นคนที่ร่วมทุกข์ร่วมาสุขกับพ่อแม่มาตลอด และมันทำให้เราเห็นคนมากมายตั้งแต่เด็ก เพราะบ้านเป็นท่ารถ บางคนทำงานหนักแต่กลับไม่ได้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่า แต่พ่อแม่เรากลับมีคนเอาเงินมาให้ตลอด 

มันเห็นสิ่งนี้ สิ่งที่ไม่เท่าเทียมมาตั้งแต่เด็กๆ ต่อให้ไปถามคุณพ่อคุณแม่ เขาก็ให้คำตอบเราไม่ได้ มันเลยตั้งคำถามกับสังคมนี้มาตลอดตั้งแต่เด็กๆ 

อมรัตน์_Voice_logo_004.jpg

จากโรงเรียนสาธิต สู่ศิษย์นอกกรอบในรั้ว ‘เตรียมอุดมฯ’ 

ย้อนไปเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว การสอบติดโรงเรียนเตรียมอุดมฯ นั้นยากมาก ต้องเป็นเด็กที่ติวเข้มติวหนัก แล้วปีนั้นมีเพียง 2 คน เท่านั้นที่สอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ได้ ซึ่งพี่ก็ฟลุ๊คไปสอบเข้าได้อย่างไรไม่รู้ จึงได้ไปเรียนต่อ ม.ศ.4 ที่นั่น  

พี่ต้องเจอ ‘คัลเจอร์ช็อค’ เพราะที่เตรียมอุดมฯ เป็นระเบียบเป๊ะ เด็กต้องถักเปียสองข้างเท่ากันหมด กระเป๋าก็เชยๆ ทุกอย่างเต็มไปด้วยระเบียบวินัย วันศุกร์ก็ต้องสวดมนต์ยาวๆ แล้วครูที่นั่นส่วนใหญ่ก็จะหัวอนุรักษนิยม เป็นคุณครูสูงวัย เกล้ามวยผม หากนึกภาพไม่ออก ให้นึกถึงครูไหวใจร้าย 

แถมยังบังคับเราตอนที่กรอกใบสมัครเอ็นทรานซ์ พี่ก็กรอกคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ไว้เป็นอันดับแรก ครูไหวใจร้ายก็เดินมาจี้ว่าคณะบัญชีคะแนนสูงกว่านะ เธอเอาไปไว้อันดับ 2 ได้อย่างไร แก้เสีย นั่นล่ะทำให้ชีวิตเปลี่ยนเลย จากที่จะเป็นผู้พิพากษาที่ดีกลับกลายต้องเป็นนักบัญชีที่แย่ แล้วแถมวันปริญญา เราก็ได้นั่งท้ายๆ แต่ก็คิดว่า เพราะชื่อขึ้นต้นด้วย อ.อ่าง จนมารู้ทีหลังว่าเขาเรียงตามเกรด เรียกได้ว่า เรียนจบมาแบบร่อแร่ 


เสรีภาพทุกตารางนิ้ว และริ้วรอยทางประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ 

ใช้ชีวิตทุกอย่างในรั้วมหาวิทยาลัยคนละแบบกับตอนที่เรียนเตรียมอุดมฯ มันเหมือนปล่อยเสือเข้าป่าในมหาวิทยาลัยที่มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ไม่เคยใส่ชุดนักศึกษา ทำแต่กิจกรรม เช่น ไปสอนหนังสือให้เด็กที่สลัมคลองเตย หรือไม่ก็นั่งเล่นโดมิโน่ใต้ตึกกับเพื่อนๆ ซึ่งแต่ละคนก็จะหมุนเวียนขึ้นไปเรียน แต่อมรัตน์ไม่เคยขึ้น นั่งอยู่ประจำตั้งแต่เช้าถึงค่ำ ไปสอบอย่างเดียว

สมัยตอนที่อยู่ ปี 1 ก็มีรุ่นพี่นักศึกษาที่ออกมาจากป่าจากการได้รับนิรโทษกรรม 66/23 (คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523) มานั่งเรียนรวมกัน ก็ยังสงสัยอยู่เลยว่าทำไมคนที่นั่งแถวหน้าดูมีอายุ แต่พอได้พูดคุยถึงทราบว่า เป็นคนที่ออกมาจากป่าแล้วกลับมาเรียนต่อ ซึ่งเขาก็จะมีการฉายวีดิทัศน์เหตุการณ์ในวันนั้น และพาไปดูร่องรอยกระสุนตามที่ต่างๆ ในตึกคณะบัญชี 

รวมทั้งตอนปี 1 ได้เรียนวิชาทั่วไป ซึ่งได้เรียนกับอาจารย์ดีๆ หลายคน ไม่ว่าจะเป็น อาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, อาจารย์เสรี วงษ์มณฑา และอาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ มันเลยทำให้เราได้รู้เรื่องโลก เรื่องการเมืองมากมาย

อมรัตน์ VoicePolitics 84064A6C.jpeg


เดบิวต์นักกิจกรรมบนท้องถนนในฐานะ ‘คนเสื้อแดง’

เนื่องจากเป็นคนเอกซ์ตรีม ถ้าดีใจก็จะดีใจมาก หรือเสียใจก็เสียใจมากเช่นกัน บางคนที่โดนรังแก ไม่ได้รับความเป็นธรรม เราจะรู้สึกมากกว่าเจ้าตัวเสียอีก เดือดเนื้อร้อนใจอยู่ไม่ได้ จนต้องเข้าไปมีส่วนร่วม โดยในปี 2552-2553 ที่มีการเรียกร้องของคนเสื้อแดงให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยุบสภา แล้วจัดเลือกตั้งใหม่ แต่เขาก็ไม่ยอมยุบ แต่ครั้งนั้นก็ไปๆ กลับๆ ยังไม่ได้ไปค้างคืน ไม่ได้มีกลุ่มก๊วนมากเท่าไหร่ 

ตอนนั้นก็ถูกมองประมาณนั้นว่าเป็น ‘ขี้ข้าทักษิณ’ แต่มันไม่ใช่ เสื้อแดงมีหลายเฉด หลายระดับ ไม่ว่าจะเป็น แดงก้าวหน้า แดงรักในหลวงห่วงทักษิณ แดงรากหญ้า แดงที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะมี ส.ส. เอารถบัสไปรับมา จนถึงแดงวิชาการก็มี แดงศิลปินหัวก้าวหน้าอยากเปลี่ยนแปลงก็เยอะ 


นิยามตัวเองว่าเป็นแดงเฉดไหน ?  

ไม่กล้านิยามตัวเอง (หัวเราะ) แต่ก็เป็นแดงที่ไม่ใช่ขี้ข้าทักษิณก็แล้วกัน แต่เนื่องจากมองว่า ทักษิณ เป็นเหยื่อตัวโตที่ไม่ได้รับความยุติธรรม เขาได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุด ถึงจะดีจะเลวอย่างไรในตัวของคุณทักษิณ ก็ต้องให้ประชาชนเขาเรียนรู้แล้วตัดสินใจเอง แล้วก็มีทหารจะมาขัดจังหวะทางการเมืองด้วยการรัฐประหาร ถ้ารัฐประหารมันดีจริง เราไม่กลายเป็นประเทศมหาอำนาจแล้วหรือ ทำมาตั้ง 13 ครั้ง 

เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยมันจะเติบโตได้ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ ให้ประชาชนเรียนรู็ไปเอง ไปขัดจังหวะพัฒนาการของประชาธิปไตยเพื่ออะไร ทำไมต้องเอาข้ออ้างที่บอกว่า ‘นักการเมืองทุจริต’ แล้วทหารไม่โกงหรือ แล้วโกงแบบตรวจสอบไม่ได้ จากดัชนีทุจริตคอรัปชั่นในกองทัพพบว่ามากขึ้นหลังรัฐประหาร และรัฐประหารมันไม่ได้ตอบโจทย์ ไม่ต้องใช้ทางลัด มันน่าโมโหมาก มันถึงอยู่ในจุดที่เราทนไม่ไหวจริงๆ

LINE_ALBUM_ภาพนิ่งป้าเจี๊ยบเสื้อแดง_221121_4.jpg

เหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง

ของแบบนี้มันอยู่ที่ระดับความทนไม่ได้ สูงต่ำของคนเราไม่เท่ากัน แต่คิดว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ถ้าจะอยู่ยาวๆ ไป แบบไม่ทำอะไรเลย กับอาจจะอยู่ไม่ยาวมากนัก แต่ได้ทำในสิ่งที่ต้องการทำ มันมีคำตอบให้กับชีวิตแล้ว 

“มันต้องหาความหมายให้เจอว่าเราอยู่เพื่ออะไร ชีวิตคนเรามันมีวันหมดอายุ อาจจะ 80-90 ปี แล้วนาทีสุดท้ายก่อนที่เราจะตายไป ตายแบบเหมือนได้ทำภารกิจอะไรที่เราอยากทำ ไม่ใช่แค่เกิดมาแล้วกิน ขี้ ปี้ นอน ไปวันๆ แล้วมองไม่เกินชายคาบ้าน” 

มนุษย์มันเป็นสัตว์สังคม มันต้องรู้ร้อนรู้หนาว เราสนใจเรื่องความยุติธรรม มันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดกับตัวเอง แต่เรื่องโลกร้อน เรื่องธรรมชาติ เราอาจจะไม่ได้สนใจ ดังนั้นในประเด็นที่เราต้องการสูงสุดในชีวิต เราจึงกล้าแลกกับมัน ตายก็ตายหนเดียว ตายอย่างไรให้มันไม่คาใจว่า เรายังไม่ได้ทำอะไรเลย ยกตัวอย่างเช่น ‘ลุงนวมทอง’ ไพรวัลย์' (คนขับแท็กซี่ที่พลีชีพต่อต้านรัฐประหาร) เราอยากให้โลกจดจำเราอย่างไร ดังนั้นคนเรามันมีภารกิจมาตั้งแต่เกิด มันต้องหาให้เจอว่าเราให้คุณค่ากับอะไร และยอมแลกมันกับอะไร 


ภารกิจของมนุษย์ชื่อ ‘อมรัตน์’

มันก็แตกต่างกันไปแล้วแต่ช่วงวัย ตอนเด็กๆ ยังเห็นภาพไม่ชัดมาก แต่พอโตขึ้นมาแล้วเจอสังคมที่พูดความจริงไม่ได้ แล้วบอกว่าเป็นประชาธิปไตย มันย้อนแย้งไปหน่อยไหม เราอยากได้ประชาธิปไตยที่เป็นสากล ไม่ใช่ ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ แบบที่อ้าง 

“ถ้ายอมบอกไปเลยว่าเราอยู่ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จะได้นอนอยู่บ้านเฉยๆ จะได้นอนอ่านหนังสือ แต่ถ้าบอกว่าเป็นประชาธิปไตย ก็รับไม่ได้ที่จะหลอกชาวโลก หลอกทั้งคนใน และคนนอก แล้วใช้ยากล่อมประสาท การโฆษณาชวนเชื่อ”


ยืนเด่นโดยท้าทาย ภายใต้รัฐประหาร 2557

ตอนปี 2552-2553 ตอนนั้นเรียกว่าแกนนำไม่ได้ เพราะเขาก็มีแกนนำใน จ.นครปฐมอยู่แล้ว แต่พอรัฐประหาร 2557 มีความพร้อมส่วนตัว จึงเริ่มเข้าไปเต็มตัว มีเต็นท์ ‘แดงนครปฐม’ เป็นของตัวเองในการชุมนุมที่ ถ.อักษะ เริ่มทำกิจกรรมทวงคืนสัญญาเลือกตั้ง คัดค้านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ให้การเลือกตั้งปี 2557 เป็นโมฆะ รวมถึงงานจุดเทียนในนครปฐมก็ทำอยู่หลายรอบ จนโดนคดี ม.44 ไป 2 คดี 

“ม.44 พอหลังรัฐประหารก็ยังใช้อยู่มา 4 ปีครึ่ง จนมาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วยความไม่จำเป็นต่ออีก 2 ปีกว่า สรุปว่า 8 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยโชคดีที่มีเชื้อโรคมาช่วยเชื้อโรคด้วยกัน” 

LINE_ALBUM_ภาพนิ่งป้าเจี๊ยบเสื้อแดง_221121_11.jpg

หลังรัฐประหาร 2557 โดนคุกคามมาก มีเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ นำรถฮัมวี่มาที่บ้าน แถมยังมาขู่คุณพ่อเพื่อให้เราหยุดเคลื่อนไหวอีกด้วย เช่นเราจะไปงานครบรอบ 3 ปีรัฐประหาร ก็มาห้ามไม่ให้เราไป บอกว่ามันจะเดือดร้อนไปถึงพี่น้อง เพราะตอนนั้นน้องชายทำงานอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และน้องเขยเป็นผู้พิพากษา แล้วช่วงนั้นเป็นช่วงที่ยังปกครองด้วยความกลัวมากๆ มีการจับคนเห็นต่างขึ้นศาลทหาร ไม่ได้เหมือนสมัยนี้ที่ไปกันจนไม่มีใครกลัว ไม่มีใครสนใจ 

ซึ่งครอบครัวในตอนนั้นก็ไม่ได้มีใครสนับสนุน แต่ไม่ถึงกับต่อว่า เพียงแต่ห่างเหินกันออกไป เพราะน้องชายมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกับพี่สาว พี่สาวไปม็อบเสื้อแดง น้องชายไป Shut Down Bangkok เดินตามลุงกำนัน (สุเทพ เทือกสุบรรณ) แต่ตอนี้น้องชายหันมาสนับสนุนพรรคก้าวไกลแล้วนะ (หัวเราะ)


‘มิตรสหาย’ ที่ ‘หล่นหาย’ ระหว่างทาง 

หลายคนที่ต่อสู้กันมา แนวคิดเหมือนๆ กัน ก็ต้องหยุดการต่อสู้ไป เพราะลูกไปเป็นทหาร หรือผู้สื่อข่าวอาวุโสท่านหนึ่งที่มีแนวคิดเหมือนเราก็ต้องหยุดไป เพราะลูกสอบเข้าทำงานที่สถานทูตได้ ทำให้พ่อแม่ไม่กล้าขยับ หรือเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ต่อไป เพราะห่วงความก้าวหน้าทางอาชีพของลูก และต้องหายไปจากขบวนการต่อสู้อย่างจำใจ ซึ่งการรังแกกันแบบนี้ไม่เป็นธรรมเท่าไหร่นัก

อมรัตน์_Voice_logo_018.jpg


จากการเมืองบนท้องถนน สู่ผู้แทนสีส้มในสภาฯ 

จนเมื่อปี 2561 อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น และคุณต๋อม ชัยธวัช ตุลาธร ปัจจุบันเลขาธิการพรรคก้าวไกล เขาจะก่อตั้งพรรค แต่ยังไม่มีชื่อ อ.ปิยบุตร ก็เดินสายมาเชื้อเชิญ ‘กลุ่มแดงตะวันตก’ รวมเสื้อแดงจาก นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ให้มาตั้งพรรคกัน ก็เลยรับปาก เพราะสนใจแนวทางของพรรคนี้มาก เพราะมันตรงใจ 

มองว่ามันเป็นพรรคที่ใฝ่ฝันมานาน ในเมื่อพรรคเดิมที่เราศรัทธาไม่ตอบโจทย์ เราหวังกับของเดิมๆ ไม่ได้ เราก็จะไม่โทษใคร ลงมือทำเองเลยดีกว่า และเริ่มต้นตั้งพรรคอนาคตใหม่ ตั้งศูนย์ประสานงานที่นครปฐม ตอนแรกก็แค่จะช่วยเหลือในเบื้องหลัง ค้นหา คัดกรองผู้สมัคร แต่ อ.ปิยบุตร ก็มาชวนให้ลงบัญชีรายชื่อด้วย จึงได้มีโอกาสได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ให้เป็นหนึ่งในกรรมการ 

อมรัตน์ VoicePolitics F5BAB009480D.jpeg


ตัวตึงในสภาฯ กล้าประชันหน้า ปะทะฝีปาก 'ประยุทธ์'

ด้วยคาแรคเตอร์นั้น มันไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำ แต่เราทำด้วยความตั้งใจเลย เพียงแต่คาแรคเตอร์นั้นบางครั้งมันไปกลบเนื้อหาในสิ่งที่เราจะพูด เช่นเราอภิปรายเรื่องทุจริตในกองทัพ การสร้างอนุสาวรีย์ก่อนที่จะมีการเปิดซองประมูล หรือฮั้วประมูล เรามีหลักฐานที่ชัดเจน ทั้งภาพถ่ายทางอากาศ ไทม์ไลน์การก่อสร้างก่อนทำสัญญา หรือกรณีบ้านหลวงของคุณประยุทธ์ 

เราเตรียมเนื้อหามาดี แต่การเป็น ‘มีม’ หรือการมอบกระจก การตอบโต้โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ จากการที่คุณประยุทธ์มาทำเราก่อน มันเลยทำให้รู้สึกว่า เราอุตส่าห์ทำการบ้านมาตั้งเยอะ ก็ติดใจตรงนั้นนิดหน่แอย แต่ไม่ได้ไม่ชอบใจอะไร แต่กลับคิดว่า ถ้าไม่มีเรื่องพวกนั้น เนื้อหาที่เราต้องการจะสื่ออาจได้รับความสนใจมากกว่านี้ 

ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ส่วนมากมันจะเป็นการตอบโต้แบบกะทันหัน เราไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน บางทีคุณประยุทธ์มาชี้หน้าบอกให้ระวังตัว เป็นเราจะนั่งเฉยๆ หรือ คนที่ไม่มีเกียรติไม่มีศักดิ์ศรี ปล้นอำนาจเขามา แล้วมีสิทธิอะไรมาชี้หน้าเรา 

อมรัตน์ ประยุทธ์ อภิปรายไม่ไว้วางใจ ประชุมสภา 68-A72E-46BBC28D2EA6.jpeg

บางครั้ง ส.ส.เก่าๆ แก่ๆ เดินมาบอกเราทีหลังว่า “ขอบคุณมากเลยที่ตอบโต้แทน”, “ดีจังเลยพูดแทนผม ผมก็โมโห” ในใจเราก็คิดว่า ทำไมคนเหล่านั้นไม่ตอบโต้ไปบ้าง ทนอยู่ได้อย่างไร ทำไมถึงไม่สั่งสอนเขาว่านี่คือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่ตัวแทนประชาชนที่กว่าจะผ่านเลือกตั้ง ลงทุนลงแรงให้ประชาชนเกิดความไว้ใจ แต่กลับปล่อยให้คนที่ปล้นอำนาจมานั่งบนบัลลังก์ 

เราเป็นตัวแทนประชาชน เดินไปตลาดเขาก็บอกว่าคุณประยุทธ์ปล้นอำนาจมา เราต้องเป็นไมโครโฟนส่งเสียงพูดแทนพวกเขา ไม่ใช่มานั่งใส่สูทผูกไทด์ เปลี่ยนชุด เปลี่ยนภาษา คุณมีหน้าที่สะท้อนคำพูดชาวบ้านในตลาด


ทักษะตัวฟาด มรดกทางสายเลือดจากพ่อ 

ที่กลายมาเป็นกองหน้าตอบโต้เก่งแบบนี้ ส่วนหนึ่งได้มาจากการเถียงคุณพ่อ ซึ่งคุณพ่อมีลูก 3 คน และทุกคนจะกลัวเขาหมด ยกเว้นเราที่เป็นเด็กเรียนเก่ง จึงกล้าสวนกับคุณพ่อ 

แต่ทุกวันนี้คุณพ่อเสียชีวิตไปแล้ว ก็ยังแอบคิดถึงคุณพ่ออยู่เสมอ เพราะหลังที่ฟาดฟันกับคุณประยุทธ์ในสภาเสร็จ คุณพ่อก็จะคอยโทรมาห้ามปรามเราตลอด บอกว่า “อย่าไปยุ่งกับพวกนี้เลย” แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องขอบคุณ คุณพ่อที่มอบทักษะเถียงเก่งให้เรา


เดินหน้าทะลุฟ้า ผ่าความกลัว

บางทีก็สงสัยว่า คนที่เขาเป็นเสรีนิยม กับอนุรักษนิยม ไม่อยากใช้คำว่า ‘สลิ่ม’ นะ แต่ก็เข้าใจง่ายดี ทำไมพวกเขาถึงคิดว่า ‘ม.112’ จะกลัวอะไรถ้าไม่ได้ทำผิด ซึ่งเรามองว่า มันไม่ใช่แค่กฎหมาย แต่มันเป็นกฎหมายที่เขียนอย่างไม่เป็นธรรม มันต้องถูกแก้ไขให้ดีขึ้น มันไม่ได้มาจากกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้อง ถ้ากระบวนการยุติธรรมบ้านเรามันถูกมั่นใจ ใครๆ ก็ต้องกลับมาขึ้นศาล 

แล้วกฎหมายบางอย่างก็ล้าสมัย ไม่เป็นสากล มันต้องถูกแก้ได้ทุกมาตรา สภานิติบัญญัติมีหน้าที่สร้างกฎหมาย ยกเลิกกฎหมาย และแก้ไขกฎหมาย รวมถึง สัตยาบันกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ที่รัฐบาลไทยกลัวกันมาก 

โดยในกฎหมายมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญที่ผู้ใดจะละเมิดพระมหากษัตริย์ไม่ได้ เป็นเรื่องความมั่นคงของสถาบันฯ ซึ่งคนเข้าใจผิดกันเยอะมาก เพราะการเซ็นต์ ICC มันเป็นการเอาผิดตัวบุคคล ไม่ใช่เอาผิดสถาบันฯ ลองไปศึกษาดีๆ ซึ่งแกนนำเสื้อแดงเคยยื่นเรื่องนี้ไปตั้งแต่ปี 2553 แต่ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ (ในสมัยนั้น) ไม่กล้าจะเซ็นต์ เพียงเพราะกังวลมากเกินไป 

อมรัตน์ ม็อบราษฎร ม็อบ  เอเปค E40-A2C66FA72F06.jpeg

เช่นเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่มีการติดป้ายเขตกระสุนจริงกลางเมืองหลวงด้วยความเหี้ยมโหด มันเกินกว่าจะรับได้ และเขาจะเอาผิดแต่ละกรณีตามการรองรับเขตอำนาจ ซึ่งจะเอาผิด อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คนเดียว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถาบันอื่นๆ

บางคนไม่เข้าใจ กลัวโดยที่ไม่ศึกษา เหมือนกับหลอกตัวเองไปเรื่อยๆ ‘ฟัง พูด อ่าน เขียน’ ในสังคมไทยเรามีสองอย่าง เป็นสังคมแห่งการฟัง และปฏิบัติตาม มันเป็นสิ่งตกทอดมาจากยุคเจ้าขุนมูลนาย ไพร่ทาสศักดินา ไม่มีการจดบันทึก มันเป็นสังคมที่บอกต่อๆ กันมา เชื่อต่อๆ กันมา ไม่ได้ใช้หลักกาลมสูตรว่าอย่าเชื่อง่าย ควรตรวจสอบก่อนว่ามันเป็นแบบนั้นหรือเปล่า แม้กระทั่งความสามัญธรรมดา คนก็บอกหัวรุนแรง ซึ่งเมื่อไปเทียบกับวัฒนธรรมอื่นๆ สิ่งที่เราพูดมันเป็นเรื่องที่สามัญธรรมดามาก


ถูกดำเนินคดีหลังวิจารณ์ ‘ประยุทธ์’ เทียบไม่ได้กับคนที่เสียสละ

ไม่ได้คิดว่ามากมายอะไร หากเทียบกับน้องๆ เยาวชนที่ต้องการทะลุฟ้าเราไปไกล จนโดนดำเนินคดี 112 หรือ 116 เยาวชนไปไกลกว่านักการเมืองแล้วตรงนี้เราต้องยอมรับ จากก่อนหน้าที่เราคิดว่า ขบวนการนักศึกษาหลังปี 2535 หรือหลังปี 2519 หายไปไหน แต่มันปรากฎขึ้นแล้วในปี 2563 กว่า 400 ม็อบทั่วประเทศที่ถูกจัดขึ้นเกือบทั้งประเทศ 

เราเองก็มีหมาย พอวิจารณ์คุณประยุทธ์ครั้งหนึ่งก็มาแล้ว 20-30 ใบ โดยคุณอภิวัฒน์ ขุนทอง ฝ่ายกฎหมายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งไปแจ้งความที่ สน.นางเลิ้ง โดยเฉพาะหลังการอภิปรายสำคัญๆ เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือการอภิปรายงบประมาณก็จะมาถี่เป็นพิเศษ บางอันมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มันทำให้รู้สึกเหมือนเป็น ‘ผู้ร้าย’ อย่างไรก็ไม่รู้ ทั้งๆ เรื่องที่เราพูดมันสามัญมากๆ 

อมรัตน์_Voice_logo_013.jpg

แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรหรอก ถ้าเทียบกับคนที่เขาเดินเข้าออกเรือนจำรอบแล้วรอบเล่า เขาเสียสละกว่าเรามาก นักการเมืองที่จะนอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น เทียบกับนักการเมืองบางคนที่บอกว่ากฎหมายมันต้องไปศึกษาก่อนนะ ไปดูก่อนนะ ทั้งที่เห็นอยู่ทนโท่ว่ามีคนเข้าคุกเพราะกฎหมายนี้ 

เมื่อลองนึกดูแล้ว มีเพื่อนบางคนที่ลี้ภัยทางการเมืองไปตายต่างแดน บางคนถูกฆ่าถ่วงแม่น้ำโขง เอาแท่งปูนยัดท้อง บ้านแตกสาแหรกขาด มันทำให้คิดว่า สิ่งที่เราทำ เราโดนอยู่ตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรมาก

อมรัตน์_Voice_logo_005.jpg

ลงสนามเคียงข้างประชาชน

คนที่บอกว่าเราผลักเด็กไปติดคุก น่าจะเป็นคนที่ไม่ได้ติดตามข้อมูลอย่างรอบด้าน เราไม่ได้เป็น ‘นักรบห้องแอร์’ เราลงสนามเกือบทุกครั้ง ซึ่งสังคมนี้มันขับเคลื่อนด้วยการด่า การปะทะเพื่อแลกกับสิทธิขั้นพื้นฐานเล็กๆ น้อยๆ ที่เราต้องมีมันอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ส.ส.จะออกไปอยู่เคียงข้างประชาชนที่โดนปราบเกินกว่าเหตุ ‘ชวน หลีกภัย’ ประธานรัฐสภาก็ไม่รู้ร้อนรู้หนาว เรารับไม่ได้จริงๆ 

ส่วนหนึ่งที่เป็นแบบนี้ เพราะมีอีกหนึ่งหัวโขนคือเป็นประธานคณะทำงานของกรรมาธิการพัฒนาการเมือง เป็นประธานคณะติดตามการชุมนุม ซึ่งต้องไปติดตามการชุมนุมทุกฝั่งทุกฝ่าย ตอนม็อบเสื้อเหลืองหน้าสภาฯ ก็ออกไปติดตาม สุดท้ายก็โดนตะโกนด่า แต่เราก็ต้องไปดูแล้วเอามารายงานในกรรมาธิการ 


พรรคปีกประชาธิปไตยต้องร่วมแก้ ‘การเมือง’

อยากจะบอกพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยพรรคใหญ่ๆ ด้วยว่า นอกจากนโยบายด้านเศรษฐกิจปากท้องซึ่งสำคัญ แต่อยากให้มีนโยบายทางการเมืองที่ชัดเจน จับต้องได้ เป็นสัญญาประชาคม เพื่อที่ได้เป็น ส.ส. แล้ว ประชาชนจะได้มาทวงสัญญาว่าทำหรือเปล่า เช่นการนิรโทษกรรมคดีการเมืองที่มีกว่า 2,000-3,000 คดี 

การเมืองในสภามันต้องควบคู่กับการเมืองภาคประชาชนนอกสภา ภาคประชาชนคือพลังขับดัน ขับเคลื่อน กดดันให้นักการเมืองเข้าไปแก้กฎหมาย เข้าไปพูดแทนประชาชน ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ และภาคประชาชนต้องทวงสัญญาจากนักการเมืองว่า ตอนมาหาเสียงพูดว่าอะไร 

“พรรคที่ไปร่วมรัฐบาลหน้า ซึ่งมั่นใจว่าจะพลิกขั้ว ต้องทำ MOU ระหว่างพรรรค นอกจากเศรษฐกิจ และสังคมแล้ว ปัญหาการเมืองต้องแด้ด้วยการเมืองในสภา มันจะได้วัดผลได้ การไม่พูดอย่างชัดเจน มันคือการไม่ได้สัญญา”

อมรัตน์ VoicePolitics C-D804D16D8143.jpeg

คิดเล่นๆ อยากลองเป็น รมว.กลาโหม

ไม่ได้มีความคิดจะเล่นการเมืองแล้วคงไม่ได้เป็นรัฐมนตรี แต่ถ้าให้คิดเล่นๆ อยากเป็นรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม เพราะอยากเปลี่ยนกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นการลดขนาดกองทัพ ลดจำนวนนายพล สร้างทหารใหม่ให้มีความก้าวหน้าในอาชีพ ทหารเกณฑ์สามารถเป็นนายสิบได้ มีสวัสดิการที่ดีกว่านี้ 

หากลดไขมันออกไป มันก็สามารถเหลืองบประมาณที่จะให้สวัสดิการกับคนที่เหลืออยู่ ปรับขนาดให้มันเหมาะสม ‘เล็กแต่มีประสิทธิภาพ’ กองทัพต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และอยู่ภายใต้รัฐมนตรีกลาโหมที่เป็น ‘พลเรือน’ เพราะสภากลาโหมทุกวันนี้มีพลเรือนเพียง 2 คนเท่านั้น มันใช่สิ่งที่ถูกควรหรือ 

ต้องให้พลเรือนเข้าไปเป็น Voter ในสภากลาโหมด้วย อันนี้คือสิ่งจำเป็น และหยุดคิดได้แล้วที่จะทำตัวเป็นรัฐซ้อนรัฐที่คิดว่าจะต้องมีศาลเป็นของตัวเอง มีอะไรก็ขึ้นศาลทหาร ซึ่งศาลทหารมีตุลาการ 3 คน แต่จบนิติศาสตร์แค่ 1 คน อีก 2 คนไม่ได้บังคับว่าต้องจบนิติศาสตร์ แล้วอย่างนี้ประเด็นที่เกิดการคุกคามด้านสิทธิมนุษยชนในค่ายทหารจะตัดสินอย่างไร 

“กองทัพคือภาระของประเทศจริงๆ เรามีประชาคมอาเซียนมากี่ปีแล้ว นโยบายเปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้าก็มีมาตั้งแต่สมัยนายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ ถามจริงๆ เราจะรบกับใครที่ไหน เมื่อทุกวันนี้มันคือการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ เราจะต้องมีอาวุธไปเพื่ออะไร” 

นี่ยังไม่ต้องนับถึงโครงสร้าง กอ.รมน. ที่น่าสนใจตรงที่ว่า ควรจะมีต่อไปหรือไม่ และเพิ่งมีข่าวไปว่า ส.ว. ยัดชื่อคนสนิทเข้าไปกินเงินเดือน กินสวัสดิการใน กอ.รมน.

อมรัตน์  โชคปมิตต์กุล ก้าวไกล VoicePolitics CEC3314.jpeg


มุมมอง 112 เมื่อกฎหมายมันแย่ ต้องแก้ที่ ‘ผู้ปฏิบัติงาน’

ในเรื่อง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประเด็นที่พูดถึงน้อยที่สุดนอกจากการให้ใครไปแจ้งความก็ได้ หรือบทลงโทษที่รุนแรงไปคือ มาตรา 112 แตกต่างจากกฎหมายหมิ่นประมาทธรรมดา เพราะในกฎหมายอาญา มาตรา 329 มาตรา 330 มีบทยกเว้นโทษให้หากเป็นการหมิ่นประมาทที่ ‘ก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะ’ หรือหมิ่นประมาทด้วยใจเป็นธรรม แต่กฎหมายหมิ่นประมาทประมุขอย่าง มาตา 112 ไม่มีมาตราไหนที่ยกเว้นโทษความผิด จนทำให้เกิดการตีความที่กว้างเกินไป บางทีการล้อเลียนก็กลายเป็นการอาฆาตมาดร้าย ซึ่งมันไม่ใช่ หากเราดูจากประมุขประเทศอื่นๆ 

เนื่องจากโทษของมันขั้นต่ำ 3-15 ปี ไม่ว่าศาลจะมองว่าล้อเลียน หรืออะไรก็ตาม ศาลไม่สามารถลงน้อยกว่าขั้นต่ำได้ เพราะกฎหมายมันบังคับไว้อย่างนั้น ซึ่งถ้าหากเราสามารถแก้ มาตรา 112 ได้ อาจจะให้โทษต่ำกว่านั้น อาจจะ 0 หรือ 2 เดือนขึ้นไป เพื่อให้ศาลได้ใช้ดุลยพินิจที่มากกว่านี้ในการพิจารณาได้ 

นอกจากนี้ หากเราพูดถึงการตรวจสอบเรื่องงบประมาณที่ใช้ไปกับสถาบันกษัตริย์ มันไม่ใช่สิ่งที่เกี่ยวข้องกับพระองค์โดยตรง มันน่าจะต้องถูกพูดถึงได้ เพราะพูดในแง่ของการปฏิบัติงาน แต่เมื่อโครงการทั้งหลายที่มีนามสกุล ‘เฉลิมพระเกียรติ’ กลายเป็นว่าตรวจสอบยาก ถึงตรวจสอบไม่ได้เลย 

อมรัตน์  โชคปมิตต์กุล ก้าวไกล VoicePolitics มาตรา112 112 DC422864D8.jpeg

ยืนยัน ‘กษัตริย์’ ต้องได้รับความคุ้มครอง

ในฐานะองค์พระประมุขเราต้องถวายพระเกียรติ และความปลอดภัยเหมือนประมุขอื่นๆ แต่การกระทำที่เกินพอดีนั้นมันไม่ดี ซึ่งเคยมีหลักฐานออกมาว่า ทางสำนักพระราชวังไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อนจากการปิดถนน แต่ในระดับปฏิบัติการนั้นกลับไม่ถูกท้วงติง

เช่น ตำรวจไปเบิกจ่ายงบตามขบวน หรือการทำซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่อาจมีการทุจริตผูกขาดในราคาที่แพงเกินไปหรือเปล่า มันน่าจะถูกตรวจสอบได้ เพื่อไม่ให้ผู้รับเหมาเจ้าเดียวผูกขาด หรือการปิดถนน และเกณฑ์ตำรวจมาอารักขานั้นเกินความจำเป็นหรือเปล่า เชื่อว่า พระองค์ท่านคงไม่อาจทราบก็ได้ ดังนั้นมันไม่ใช่การวิพากษ์ตัวสถาบัน แต่มันคือการวิพากษ์การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ 

ในที่สุด การทำอะไรแบบนั้น เอาจริงๆ แล้ว ผลสรุป มันไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีต่อสถาบันฯ ด้วย เพราะคนที่เดือดร้อนจากรถติด หรืออะไรมากเข้าก็จะกลายเป็นรู้สึกไม่ดีต่อสถาบันฯ 

ที่สำคัญที่สุดคือ การนำเอาสถาบันกษัตริย์มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง คนที่ได้ประโยชน์จากพระองค์ท่าน ไปห้อยไปโหน ซึ่งมันชัดเจนอยู่แล้วว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ การใช้พระองค์ท่านมาเป็นพรรคพวกตัวเอง ใช้กฎหมายเอาผิดฝั่งตรงข้าม แล้วศาลมาตัดสินแบบไม่มีดุลยพินิจ มันไม่ได้เกิดผลลัพธ์ที่จงรังภักดีต่อสถาบันฯ เลยแม้แต่น้อย


ก้าว (ให้) ไกล ในวันที่ไร้ฐานะ ส.ส.

อยาก Work Life Balance อยากมีเวลาที่จะเดินทางบ้าง และจริงๆ แล้ว เราอยากเป็นแค่นักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ได้อยากเป็นนักการเมือง ไม่เคยมีภาพนักการเมืองอยู่ในหัว ซึ่งถ้าจะเป็นนักการเมืองมันก็เป็นไปได้ตั้งนานแล้ว เพราะเราก็อยู่กับบ้านใหญ่ในนครปฐม (สะสมทรัพย์) มันมีโอกาสที่จะเป็นนายกเทศบาล หรือ สจ. แต่เราทอดเวลามาจนแก่แล้วถึงเผอิญมาเจอ อ.ปิยบุตร เลยทำให้ต้องเป็นกองหน้าเหมือนทุกวันนี้ จึงไม่สามารถที่จะพลาดโอกาสตกขบวนรถไฟขบวนนี้ได้ 

อมรัตน์  โชคปมิตต์กุล ก้าวไกล VoicePolitics 5E7E9411D86.jpeg


ทิ้งทวนความภูมิใจ สิ่งสุดท้ายในสภาผู้แทนฯ 

แต่ความภูมิใจในฐานะของนักการเมือง คือเราสามารถตั้งอนุกรรมาธิการเพื่อศึกษาผลกระทบของ ม.112 ต่อสื่อมวลชน และประชาชน เป็นคนแรกที่ปักธงเรื่อง 112 ในสภาผู้แทนราษฎรได้เป็นครั้งแรก อันนี้คือสิ่งที่พูดแล้วตาเป็นประกาย อย่างน้อยเวลา 4 ปีในสภา ก็มีสิ่งนี้ที่ทำให้เราภาคภูมิใจ และก็น่าจะเก็บเป็นเรื่องเล่าไว้ยามแก่เฒ่า เมื่อประชาธิปไตยมันสมบูรณ์แบบกว่านี้ 


ถึงผู้มีอำนาจ อย่ากอดเวลาในวันที่โลกเดินหน้า

มันไม่สายเกินไปหรอกนะที่จะปรับตัว แล้วยอมรับว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว โลกมันก็หมุนไปทุกวัน ใครกันที่เหนื่อยกว่ากัน ระหว่างเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย หรือคนที่พยายามกอดอดีตไว้เพื่อไม่ให้โลกมันเคลื่อน ฝั่งโน้นเหนื่อยกว่าเยอะ อยากให้ผู้มีอำนาจคิด 

โดยเฉพาะคุณประยุทธ์ที่ไม่กล้าแม้แต่จะโผล่หน้าออกมาจากรั้วกองทัพ คบกันอยู่แค่นายพลด้วยกันเอง แล้วมันก็ไม่ได้เปิดโลกทัศน์ มันหลอนตัวเองอยู่กับโลกเก่า ตรงนี้มันน่าสงสารมากๆ เขาเป็นคนน่าสงสาร และสิ่งที่เกลียดที่สุดคือ เขามองว่าเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวถูกนักการเมืองหนุนหลัง มันเป็นการดูถูกสติปัญญาของคนรุ่นใหม่ 

เยาวชนคนรุ่นใหม่เขามีความคิดของตัวเอง เกินกว่าที่ใครจะมาบงการ โดยเฉพาะนักการเมืองที่ไม่ใช่พ่อแม่ ไม่มีบุญคุณ เขาไม่ฟังเราหรอก ไม่เหมือน ทหารเกณฑ์ที่จะไปสั่งให้เขาขวาหันซ้ายหัน เขามีแต่จะบอกว่า นักการเมืองควรทำอะไร และไล่จี้เราให้เราพูดเรื่องนี้ในสภาให้ดังขึ้น  

อมรัตน์_Voice_logo_042.jpgอมรัตน์_Voice_logo_025.jpg

ภาพ : ปฏิภัทร จันทร์ทอง

ทัตตพันธุ์ สว่างจันทร์
คนหาข่าวการเมืองประจำทำเนียบฯ-องค์กรอิสระ-กระทรวงมหาดไทย เนิร์ดเรื่องการเมืองวัฒนธรรม-วาทกรรมการเมือง-เบียร์
18Article
0Video
0Blog