‘วอยซ์’ เดินทางสู่รัฐสภาแห่งใหม่ 'สัปปายะสภาสถาน' ย่ายเกียกกาย เพื่อสัมภาษณ์พิเศษกับ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในวัย 42 ปี ผ่าน #VoicePolitics
ผู้ซึมซับและสัมผัสการเมืองไทยและต่างประเทศมาตั้งแต่วัยเยาว์ จนกระทั่งเบนเข็มเข้าสู่สนามการเมืองระดับชาติเต็มตัว กับเป้าหมายในการสานต่อดีเอ็นเอ ‘พรรคอนาคตใหม่’ ใต้ชายคา ‘พรรคก้าวไกล’ และการประเมินฉากทัศน์การเมืองในการเลือกตั้งปี 2566 เมื่อความเสี่ยงถูกยุบพรรคการเมืองเป็นเรื่องไม่แน่นอน
"ถ้าเกิดพรรคการเมืองมาจากประชาชนก็ต้องตายด้วยประชาชน ไม่ใช่ตายด้วยองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งเป็นองคาพยพของระบอบประยุทธ์"
คือถ้อยคำของ 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' ถึงเหตุการณ์ที่พรรคการเมืองต้องถูกยุบพรรคทั้งที่มาจากเสียงของประชาชนมี ส.ส.ในสภาฯ
'พิธา' หรือ 'ทิม' ดีกรีพาณิชยศาสตร์และการบัญชีพาณิชยศาสตร์บัณฑิต (การเงินและการธนาคาร) เกียรตินิยมอันดับ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ่วงหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย HARVARD UNIVERSITY ประเทศสหรัฐอเมริกา และบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต MASSACHUSETT INSTITUTE OF TECHNOLOGY ประเทศสหรัฐอเมริกา
เขาเริ่มรับรู้และสัมผัสการเมืองไทยตั้งแต่อายุยัง 8-9 ขวบ กระทั่งเมื่อเรียนจบปริญญาตรีเขาได้เริ่มมาทำงานทางการเมืองในรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ก่อนเดินทางไปศึกษาปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา ในช่วงที่มีการรัฐประหาร ปี 2549
แน่นอนว่าเขาได้สัมผัสวงจรอุบาทว์การเมืองไทยคือรัฐประหาร เมื่อปี 2549 แบบเต็มตา แม้ตัวเขาจะอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นห้วงที่คนไทยทั้งประเทศต้องเผชิญกับ 'ระบอบประยุทธ์' ที่มาจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 'พิธา' ตัดสินใจเข้าสู่สนามการเมืองเต็มตัวผ่านการชักชวน 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โดยลงสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่
พรรคอนาคตใหม่ กวาด ส.ส.มากที่สุดมาเป็นอันดับที่ 3 ได้ ส.ส.ทั้งประเทศ 81 เสียง และต่อมาต้องถูกยุบพรรคอนาคตใหม่ ด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2563
'พิธา' พร้อมด้วย ส.ส.ที่ยังมีอุดมการณ์ "อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน' จึงนำคณะเข้าสังกัดพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคที่รับไม้ต่อจาก 'พรรคอนาคตใหม่'
'พิธา' ต้องถือธงนำพรรคเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล และเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ที่จะลงสนามการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566
อายุ 12 ปี เป็นช่วงที่ไปเรียนที่นิวซีแลนด์พอดี ก็ไปอยู่เมืองเล็กๆ ชื่อแฮมิลตัน กับครอบครัวชาวนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นครอบครัวเกษตร เลี้ยงแกะ แล้วก็ทำฟาร์มวัว แล้วทีวีตอนนั้น เราพูดถึง ค.ศ. 1992-1993 ทีวีมีอยู่ 3 ช่อง ช่องหนึ่งก็เป็นรักบี้ ช่องหนึ่งก็เป็นละครออสเตรเลียโบราณ แล้วอีกช่องหนึ่งก็เป็นประชุมสภาฯนิวซีแลนด์ นายกฯ ตอนนั้นชื่อ จิม โบลเจอร์ ก็ได้เห็นเวลาที่เขาอภิปราย หรือเวลาที่เขาเอาความเดือดร้อนของเกษตรกรนิวซีแลนด์มาพูด ตอนนั้นน่าจะเป็นช่วงที่จะเริ่มมีโลกาภิวัฒน์ มีเขตการค้าเสรี มีอะไรทั้งหลาย ว่าจะเอาอะไรยังไง ก็เลยเห็นว่า การสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านทางรัฐสภามันก็มีจริง
แล้วพอกลับมาที่เมืองไทย ก็ได้ไปเรียนด้านการเงินที่ธรรมศาสตร์ ซึ่งตอนนั้นยังเรียนที่ท่าพระจันทร์อยู่ ตรงสนามฟุตบอลพอดี ก็เลยรับรู้ขึ้นมาว่าเกิดเหตุการณ์อะไรในช่วงเดือนตุลาคมของพื้นที่ประวัติศาสตร์ สนามฟุตบอลที่เรากำลังเตะอยู่ตอนนี้ เลยเริ่มสนใจการเมืองจากต่างประเทศมาอยู่ที่บ้านเรา ก็เริ่มอ่านหนังสือมากขึ้น
แล้วมาเข้าวงจรการเมืองที่ใกล้เคียงกับตอนนี้มากที่สุดก็ช่วงสึนามิ ผมทำงานอยู่บริษัทเอกชน Boston Consulting Group เป็นบริษัทที่ปรึกษาให้กระทรวงพลังงานสมัยคุณหมอมิ้ง พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในขณะนั้น ทำให้ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รัฐวิสาหกิจ หรือใครที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ก็มาจ้างให้ดูว่า ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของประเทศไทยหลังสึนามิจะเป็นยังไง แล้วจะทำยังไงให้มันเกิดการฟื้นตัวช่วงที่เกิดสึนามิในภาคใต้
สุดท้ายก็เข้ามาเป็นทีมของอาจารย์สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สมัยพรรคไทยรักไทย ตามอยู่กระทรวงการคลังได้ไม่กี่อาทิตย์ แล้วก็ไปอยู่กระทรวงพาณิชย์ ที่สนามบินน้ำ ตอนนั้นท่านเป็นรองนายกฯด้วย ก็ได้มีโอกาสเข้าสู่ทำเนียบฯ ตอนนั้นก็น่าจะสัก พ.ศ. 2547 พอ พ.ศ. 2549 ผมก็ไปเรียนปริญญาโท 2 ใบ ด้านการเมืองการปกครอง แล้วก็บริหารธุรกิจ ที่สหรัฐฯ ท่านนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นคนเซ็นจดหมายแนะนำตัวให้ ก่อนกลับมาทำธุรกิจที่บ้าน
พอมีพรรคอนาคตใหม่ ตอนนั้นก็เลยได้เจอคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ขณะนั้นเขาก็เลยชวนมา เลยรู้สึกว่า สิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงได้ มันต้องโครงสร้างลักษณะแบบนี้ 1. คุณต้อง Demilitarize - เอาทหารออกจากการเมือง
2. ต้อง Decentralize - กระจายอำนาจ กรุงเทพไม่ใช่ประเทศไทย ประเทศไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพ 3. Demonopolize - ทลายทุนผูกขาด คือ สุราก้าวหน้า สาม D นี้เป็นสิ่งที่เราเห็นตรงกัน ผมก็ไปกับคุณธนาธร เขาก็บอกว่าตรงกันทุกอย่าง มันคือสิ่งที่ประเทศไทยต้องการ ณ ปี พ.ศ. 2562 แล้วก็เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องการ ณ ปี พ.ศ. 2566
คนเรามักจะกลัวอะไรที่มองไม่ค่อยเห็น แล้วไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ว่าผมเห็นมาเยอะ ที่ยังเล่าไม่หมดก็คือ ฝั่งคุณแม่ ตามใจ ขำภโต เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สมัยป๋าเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เหมือนกัน แล้วก็เคยประสบอุบัติเหตุทางการเมือง ก็เคยไปเยี่ยมที่เรือนจำ ตอนนั้นน่าจะสัก 8-9 ขวบ แล้วก็อยู่ในการยุบพรรค ที่โรงแรม Hyatt ที่นิวยอร์ก ตอนที่มีรัฐประหารวันเดียวกับที่คุณพ่อเสียชีวิตแล้วกลับมาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้ไร้เดียงสาทางการเมือง มันไม่ได้มีแต่เรื่องท้าทาย มีแต่เรื่องสนุก ขณะเดียวกันเราก็รู้อยู่ตลอดเวลาว่า เราเป็นเป้าของความสกปรกโสมมของการเมืองอย่างที่เคยเกิดมาโดยตลอด
ตอนยุบพรรคอนาคตใหม่ คนอื่นเขาอาจจะแบบ “โอ๊ย พรรคโดนยุบ” ของผมคือเห็นมาตั้งแต่สมัยคุณจาตุรนต์ ฉายแสง ขึ้นเป็นรักษาการหัวหน้าพรรรคไทยรักไทย ตอนยุบพรรคไทยรักไทย เห็นพรรคพลังประชาชน เห็น 4-5 พรรค สมัยบ้านเลขที่ 111 กับ 109 แล้วก็เห็นพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) จริงๆ มันเป็นสิ่งที่สุดโต่งสำหรับการเมืองไทยนะ คือทูตแต่ละประเทศเวลาคุยกัน เขาบอกว่ามันเป็นเรื่องที่สุดโต่งมาก ในขณะที่คนชอบมาพูดว่าพรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่สุดโต่ง จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ผมกำลังคิดว่าจริงๆ สิ่งที่ผมขอนี้ มันคือแค่สามัญสำนึกของระบอบประชาธิปไตยแค่นั้นเอง ไม่ใช่ว่ารัฐประหารทุกๆ 7 ปี ไม่ใช่ว่าอยากยุบพรรคใครก็ยุบได้ สิ่งที่ผมขอร้องนี้ มันไม่ได้ไปดาวอังคารเลยนะ มันก็แค่ต้องการเอาการเมืองไทยกลับมาสู่สามัญสำนึกอย่างที่มันควรจะเป็น ที่มันเป็นระบบระบอบ
“ก็ไม่แปลกใจ ยิ่งถ้าเกิดรู้ประวัติศาสตร์แล้วเคยผ่านมาก่อน ก็เห็นอยู่ว่าอนุรักษนิยมของไทยโหดร้ายขนาดไหน แล้วถ้าเกิดยิ่งเรียนการเมืองระดับโลกมาแล้ว คิดถึงชิลี คิดถึงแอฟริกาใต้ คิดถึงซิมบับเว รู้สึกว่าการเมืองนี่มันเป็นการเข้าสู่อำนาจกับอำนาจชนกัน มันทำได้ทุกอย่างอยู่แล้ว”
คุณธนาธรก็เป็นคนที่เข้มแข็ง แล้วเขาก็พร้อมที่จะเสียสละมากกว่าที่เขาโดน 10 ปี มันก็ไม่ได้นานขนาดนั้น เวลามันผ่านไปเร็ว เพราะฉะนั้น ก็คิดว่า น่าเสียดายบุคลากร กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ทั้งหมด ซึ่งไม่มีโอกาสทางการเมืองแล้ว แล้วก็ไปเน้นทำเรื่องสนับสนุนการเมืองท้องถิ่นแทน อะไรเกิดขึ้นก็ต้องทำสิ่งที่เราควบคุมได้ให้ดีที่สุด ผมก็ต้องถือธงนำหน้าในเรื่องการเมืองระดับชาติ
ผมคิดว่าอันนี้ต้องชี้แจงนะ แล้วก็ไม่อยากจะชี้แจงบ่อย เพราะไม่งั้นเขาก็จะเอาเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มาแบ่งแยกพรรคอยู่ตลอดเวลา ผมก็อยากจะเลิกสัมภาษณ์ แล้วก็อยากจะข้ามไปให้ได้แล้ว แต่ครั้งสุดท้ายที่อยากจะพูดก็คือว่า มาตรา 112 ไม่ใช่เรื่องใหม่ พรรคผมยื่นข้างล่างนี่ก็ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เพราะฉะนั้น ทุกพรรคที่ออกมาสัมภาษณ์ เขาก็รู้อยู่แล้วว่าจุดยืนผมคืออะไร เพราะว่ามันเป็นเรื่องของการเมืองมากกว่าเรื่องเนื้อหาจริงๆ แล้วก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ว่าเราใช้แคมเปญหาเสียง แต่ว่ามันเป็นจุดยืนของความเป็น ส.ส.ของเราที่เห็นว่า ทุกสถาบันก็ต้องมีโอกาสในการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แล้วก็ให้ใกล้เคียงกับนานาชาติมากขึ้น มันเป็นจุดยืนที่เราต้องยอมรับว่า ความรู้สึกของยุคสมัยมันมีความเปลี่ยนแปลงจริงๆ
แล้วก็หน้าที่ของนักการเมืองไทยที่ดี ไม่ควรที่จะสวมเสื้อจงรักภักดี แล้วก็เอาสถาบันมาทำลายกัน แต่ควรที่จะวางพระราชอำนาจ ควรจะวางพระราชฐานะอย่างประณีต มีวุฒิภาวะ สุภาพ แล้วก็เหมาะสม จนกระทั่งอยู่คู่กับประเทศไทยตลอดไป การเมืองไทยควรจะนิ่ง ถ้ามันพอที่จะตกลงกันได้ว่ากฎกติกาแบบนี้นะ อย่างอันที่หนึ่งก็คือยึดโยงกับประชาชน มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่มีลากตั้งอีกต่อไปแล้ว ไม่มีการเอาสถาบันมาโจมตีกันเหมือนตั้งแต่สมัยตะโกนในโรงหนัง (หัวเราะ)
“ให้กติกาเป็นกติกา ระบบเป็นระบบ เราจะได้มีสมาธิมาแก้ไขเศรษฐกิจ มาแก้ไขเรื่องการศึกษา สิ่งแวดล้อม คนชายขอบ พี่น้องชาติพันธุ์ ความเท่าเทียมกันทางเพศ ตลอดเวลา 20-30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่มีสมาธิในการคิดกันเรื่องนี้”
มากขึ้นด้วย อะไรที่คุณธนาธรไม่ได้ทำ ผมทำหมด นโยบายพรรคก้าวไกลมีทั้งหมด 9 เสา จำได้ จำง่าย ถ้าการเมืองนิ่ง ถ้าประชาชนรู้สึกปลอดภัย รัฐดูแล เรื่องการบริหารราชการไม่ใช่รวมศูนย์ ไม่เป็นช้างอุ้ยอ้ายอีกต่อไป คราวนี้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจก็จะสามารถเกิดขึ้นได้จริง พาณิชย์จังหวัดทำงานได้จริง แล้วต่อไปก็จะเป็นเรื่องสำคัญๆที่จะไล่ต่อตามกระบวนการเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศให้ได้
ถ้าจะบอกว่าอารมณ์หรือระบบนิเวศน์ของสังคมไทยปี พ.ศ. 2562 กับตอนนี้เหมือนกัน ผมว่าวิเคราะห์ผิด ผมคิดว่ามันต่างกันไปเยอะพอสมควร อาจจะมีการแสดงออกในช่วง พ.ศ. 2563-2565 ตอนนี้อาจจะเบาลงอะไรก็แล้วแต่ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่มันอยู่ในใจคนหรือว่าอยู่ในความคิดคนมันต่างกันเยอะ เพราะฉะนั้น อาจจะเป็นนโยบายที่ถ้าเสนอเมื่อปี 2549 นี่ ไม่สนใจ พ.ศ. 2554 อาจจะไม่สนใจ พ.ศ. 2562 อาจจะไม่สนใจ แต่ตอนนี้มันเป็นจังหวะที่มะม่วงสุกแล้วพร้อมปอกหลายเรื่อง
เวลาเราพูดเรื่องรัฐสวัสดิการปี พ.ศ. 2562 คนก็จะบอกว่าเพ้อฝัน ทำไม่ได้ วินัยการคลังจะทำยังไง ทั่วโลกนะ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่พอโควิดมา 2 รอบ คนเริ่มรู้สึกแล้วว่า รัฐบาลก็มีหน้าที่อย่างหนึ่งที่จะเป็นตาข่ายสังคมดูแลพวกเรา นโยบายสิ่งแวดล้อม พูดเมื่อปี พ.ศ. 2562 คนก็ไม่ค่อยสนใจว่า นี่คือมรดกของ คสช. พ.ร.บ.เหมือง เรื่องทำโรงงานขยะสัญชาติที่มาจากประเทศเดียวกันไม่ต้องทำ EIA กลิ่นเหม็นไปหมดเลย ตอนหาเสียงตอนนั้น คนไม่ค่อยสนใจ ตอนนี้นี่พอเห็นน้ำท่วมหนักขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่หนักขึ้น กลายเป็นสิ่งที่บังคับให้ทุกๆพรรคการเมืองต้องพูดถึง
ไร้เดียงสา อ่อนด้อย สุดโต่ง ไม่มีเงิน อันนี้เป็น 4-5 อันที่โดนสบประมาท ถ้าบอกว่าไร้เดียงสาอ่อนด้อยก็คือ “จะอภิปรายในสภาฯ เป็นเหรอ จะอภิปรายไม่ไว้วางใจได้เหรอ จะเข้าใจงบประมาณจริงเหรอ ทำการเมืองแบบนี้ ไม่มีฐานหัวคะแนน ไม่มีกำนัน ไม่มีผู้ใหญ่บ้าน จะทำได้จริงเหรอ” ก็เป็นสิ่งที่เราได้พิสูจน์มาแล้ว ผ่านการอภิปรายหลายๆครั้ง
ไม่มีเงิน ก็จริง (หัวเราะ) เพราะว่าเราไม่ได้รับเงินจากนายทุนใหญ่ๆ มีคนมาติดต่อนะครับ เป็นนายทุนบริษัทใหญ่ๆที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เราต้องการจะทลายทุนผูกขาดก็มี แต่ผมก็พูดกับคุณธนาธรว่า พวกนี้ก็รับไม่ได้นะ แต่ก็ยินดีเอาคำสบประมาทนั้นมาเป็นแรงผลักดันในการทำงานของเรา แล้วเราก็เชื่อในวิธีการทำงานของเรา
ถอดบทเรียนไม่ใช่แค่ในพรรค แต่ว่าในสังคมด้วยแล้วว่า การที่ทำลายสถาบันการเมือง พรรคการเมืองเกิดได้ยาก ยุบได้ง่ายในประเทศไทย อย่างที่ผ่านมาก็มีข่าวจะยื่นยุบพรรคกัน มันก็เป็นสิ่งที่สังคมออกมาต่อต้านกันมหาศาล ซึ่งเป็นสิ่งที่สิบกว่าปีที่แล้วไม่เคยเกิดขึ้น 3-4 ปีที่แล้วยังไม่เกิดขึ้น ตอนที่โดนยุบพรรคใหม่ๆนี้ คุยกับนักธุรกิจ คุยกับชาวต่างชาติ คุยกับทูตที่อยู่ในประเทศไทย เขาก็ไม่เข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทูตบางคนเพิ่งมาใหม่ ยังนึกภาพไม่ออกไง แต่ถ้าเกิดใครที่อยู่ในการเมืองมาสัก 20-30 ปี ก็จะเห็นว่า มันเป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยนึกถึงว่ามันเป็นเรื่องที่สุดโต่งมาก นึกว่าเป็นเรื่องประชาธิปไตยแบบไทยๆ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ก็ยุบพรรคได้ทุกพรรคอยู่แล้ว มันเป็นสิ่งที่เรายอมรับกัน
แต่ตอนนี้ มันไม่ใช่อย่างนั้นแล้วไง คือผมคิดว่า คนตาสว่าง แล้วคนที่ตื่นว่า ถ้าเกิดพรรคการเมืองมาจากประชาชน ก็ต้องตายด้วยประชาชน ไม่ใช่ตายด้วยองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งเป็นองคาพยพของระบอบประยุทธ์ที่มันเป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ ผมก็คิดว่า บทเรียนตรงนั้นมันไม่ใช่แค่จุลภาคแค่ภายในพรรค แต่ถ้าเกิดถาม ผมเชื่อว่าคนที่อยู่กับพรรคตอนนี้ ถ้าต้องกลับไปอีกทีหนึ่ง เราไม่เล่นการเมือง เราทำการเมือง
คนก็จะชอบสบประมาทว่าเล่นการเมืองไม่เป็น “คุณทำอย่างนี้คุณเสียแต้มนะ คุณทำอย่างนี้คุณเสี่ยงนะ คุณทำอย่างนี้เกษตรกรไม่เลือกคุณแน่นอน ทำอย่างนี้นักศึกษาทิ้งคุณแน่นอนเลยนะ” แต่ว่าพอเราคำนวณกันภายในพรรค ประชุม ส.ส. แล้ว ประชุมกรรมการบริหารพรรคแล้ว เมื่อเราตัดสินใจอย่างนั้น เราก็ไม่มองกลับหลังอีก
“ถามว่าเสียใจกับสิ่งที่ได้เกิดขึ้น แล้วก็ทำให้พรรคการเมืองที่เป็นความหวังของประชาชนมีอายุแค่ 8-9 เดือนไหม อย่างที่บอก พรรคมันก็เป็นแค่พาหนะ แต่การเดินทางของประชาชนที่เขายอมให้เราเป็นตัวแทนนั้น มีคุณค่าแล้วก็ศักดิ์สิทธิ์กว่าเยอะ”
สิ่งที่สังคมควรจะถามถึงคือ การกระทำของพรรคที่ทำแบบนี้ในการให้กล้วย กับการดูดงูเห่า ว่าทำแบบนี้ มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเป็นการทำลายระบบประชาธิปไตยหรือไม่ มากกว่าพรรคที่โดน แต่ในขณะเดียวกัน พอระบบมันเป็นอย่างนั้น ในระดับการบริหารจัดการคัดคนของพรรค เราก็ต้องยอมรับว่าเราเสียใจ แล้วก็ขอโทษประชาชนกับสิ่งที่เกิดขึ้น ที่ทำให้พี่น้องในหลายจังหวัดต้องผิดหวังกับเสียง ความไว้เนื้อเชื่อใจที่เขาให้มา แล้วเราก็ต้องถอดบทเรียนจากความผิดพลาดครั้งนั้นในการคัดคนให้มากขึ้น ซึ่งตอนพรรคอนาคตใหม่นั้น ผมไม่ได้อยู่ในกรรมการบริหารพรรค แต่ก็เห็นอยู่ว่า มีเวลา 60-70 วัน แล้วก็อยากจะเป็นพรรคระดับชาติ ก็ต้องส่งว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ให้ครบ 350 เขต ก็อาจจะไม่มีเวลาในการทำงาน แล้วก็ไม่สามารถที่จะประเมินคำว่าอุดมการณ์ของแต่ละคนได้
แต่สุดท้ายแล้วนะ เรื่องรัก โลภ โกรธ หลง จิตใจของมนุษย์นี้ มันก็เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ยาก ถามว่าเราเสียใจไหม เราเสียใจ ถามว่าเราปรับปรุงไหม เราปรับปรุง ถามว่าเราทำเต็มที่ไหม เราทำเต็มที่แน่นอน แล้วก็หวังว่าเรื่องแบบนี้จะไม่เป็นเรื่องที่เป็นปกติ มันเป็นเรื่องที่สุดโต่งมากสำหรับประชาคมโลกเหมือนกันนะ แต่ว่ามันเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย ซึ่งเกิดขึ้นกับทุกพรรค
ผมก็ไม่ชอบใช้คำอุปมาอุปไมยแบบทหารนะ แต่ว่าอย่างน้อยก็คือ บาดเจ็บในสนามซ้อมดีกว่าตายในสนามรบ (หัวเราะ) ก็คือเราเต็มที่กับกระบวนการก่อนที่จะมีการเลือกตั้งจริงๆ อะไรที่เป็นข้อกังวลใจของพี่น้องประชาชนที่ส่งมา ก็เข้าคณะกรรมการวินัยหมด ผมไปลงโทษเขาไม่ได้ แต่ผมว่าประชาชนจะพิพากษาเขาเอง ผมยังรู้สึกทุกครั้งเวลาที่ลงพื้นที่งูเห่าของผม ผมต้องเอาคนที่อุดมการณ์แน่นกว่า มีประสบการณ์มากกว่า มีประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่า ใหม่กว่า สดกว่า เข้าไปแทนที่ทุกครั้งเพื่อที่จะทวงแชมป์คืนให้ได้
คิดว่าสิ่งที่ประชาชนเข้าใจ แต่นักวิเคราะห์การเมืองอาจจะไม่เข้าใจก็คือว่า ประชาชนเขาเข้าใจว่าความเสี่ยงมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ เลือกผู้เล่นแบบเดิม นโยบายแบบเดิม แล้วหวังจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผมมั่นใจว่า เขาเข้าใจว่ามันต้องมีทั้งเลือดใหม่ เปิดโอกาสให้คนใหม่ๆ เป็นขั้วที่เป็นความหวังให้กับพี่น้องประชาชนมากที่สุด ผมคิดว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกันทั้งหมดเหมาะสม มีบุคลากรที่เหมาะสมที่จะเป็น ครม. ที่จะดูแลเรื่องความมั่นคง ดูแลเรื่องยาเสพติด คุณนึกภาพออกนะ ผมพูดถึงใคร ผมก็นึกออกว่าใครที่เหมาะ ดูแลเรื่องเศรษฐกิจมหภาค ดูแลเรื่องกระทรวงพาณิชย์ ดูแลเรื่องการต่างประเทศ ดูแลเรื่องอุตสาหกรรม
“ผมคิดว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมด เป็นขั้วที่เป็นความหวังให้กับพี่น้องประชาชนมากที่สุด แล้วเขาก็เข้าใจว่าถ้าเกิดยังจะเลือกแบบเดิม แล้วจะหวังผลลัพธ์ใหม่ๆ มันเป็นความเสี่ยงที่เขารับไม่ได้”
ส่วน ส.ว. ก็หวังว่าคงจะเห็นว่า นี่คือเจตจำนงของประชาชน นี่คือฉันทามติของประเทศที่ไม่ต้องการแบบนี้ ก็หวังว่าเขาจะตัดสินใจได้ยากกว่าปี พ.ศ. 2562 เยอะ คือปี พ.ศ. 2562 คงยังไม่มีใครรู้ว่ามันจะมาไกลถึงขนาดนี้สำหรับวุฒิสภา แต่สำหรับครั้งนี้ ผมคิดว่าราคาที่เขาต้องจ่ายสูงกว่าเยอะ ก็คิดว่าเขาก็คงรอดูเจตจำนงของพี่น้องประชาชน
ตอนนั้นเราต้องการขอระบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMP) เหมือนเยอรมนี แต่ว่าตอนนี้ ถ้ามาเป็นลักษณะแบบนี้ มันก็ไม่ได้ดั่งใจก็จริง แต่ว่าเราก็พร้อมสู้ แล้วก็ไม่ได้ใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ทำงานให้เต็มที่ ก็ควบคุมในสิ่งที่เราควบคุมได้ เราก็เห็นแล้วว่าถ้า 350 เป็น 400 เขต หาร 2 ใบอย่างนี้ คุณต้อง Hyperlocal อย่างเดียว คุณต้องลงพื้นที่อย่างหนักหน่วง แล้วคุณต้องรู้ทุกพื้นที่ ผมว่าตัวเลขเลิกคุยกันได้แล้ว เพราะสภาฯ มันจะกลายเป็น 700 กว่าที่นั่งเท่าเยอรมนีอยู่แล้ว
แต่ว่าสิ่งที่เป็นเป้าหมายก็ได้พูดไปแล้ว อันที่หนึ่งก็คือ มี ส.ส. ครบทุกภาค คราวที่แล้วมี ส.ส. ครบทุกภาค แต่ ส.ส. เขตภาคใต้ไม่ได้ สงขลาได้มา 20,000 กว่าคะแนน ที่ 2 มั้ง แต่ก็ยังไม่ได้ คราวนี้ก็มีเขตยุทธศาสตร์ในภาคใต้ที่หวังว่าจะทำให้ได้ อันที่สองก็คือ ตัวเลขส่วนประกอบ อยากจะให้เป็น ส.ส. เขตมากกว่า ส.ส. บัญชีรายชื่อให้ได้ อันที่สามก็คือ อยากจะได้ ส.ส. ให้มากกว่าเดิม ซึ่งเรารู้จำนวนตัวเลขของเราอยู่ 400 กว่าเขตนี้ ผมรู้ว่าต้องป้องกันแชมป์กี่เขต ผมรู้ว่าผมแพ้ไปแค่ 5 เปอร์เซ็นต์กี่เขต ผมรู้ว่าผมแพ้ไปแค่ 10 เปอร์เซ็นต์กี่เขต ผมรู้ว่าผมมาเป็นที่ 3 แต่มี 20,000 คะแนนกี่เขต
เพราะฉะนั้น ในหัวผมมันก็รู้อยู่ ยุทธศาสตร์ที่จะทำน้อย ได้มาก ไม่ใช่ทำมาก ได้น้อย มันอยู่ที่ไหนบ้าง แล้วตัวเลขในใจผมก็มี แต่ผมไม่บอก คุณต้องทำให้ผมเป็นแคนดิเดตนายกฯคนเดียวที่เข้าหมู่บ้านแบบนี้ได้ ถ้าเกิดเป็นซอยตลาด คุณต้องบอกผมให้ได้ว่าซอยไหน หลังคาไหนเหลือง หลังคาไหนแดง หลังคาไหนเขียว ก่อนที่จะเอาผมลงไป พอผมลงไปผมรู้เลยว่า เป้าหมายผมมานี้ ผมไม่ได้มาหาเสียงเลื่อนลอยนะ เพราะแม่ค้าตลาดนี้มีสำมะโนครัวอยู่ที่นี่ ไม่ได้มาจากที่อื่น ผมรู้ว่าคนที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกใครคือคนไหน ผมมีหน้าที่ตรงไปเท่านั้น แล้วก็ทำให้กระดิ่งในใจเขาดังขึ้นให้ได้ผ่านนโยบายแล้วก็การทำงานของผม
แน่นอน มันก็เป็นสิ่งที่ต้องขอบคุณคนกรุงเทพฯ ที่ให้ความนิยมมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ผมอยากจะทำงานให้มากขึ้น เป็นกำลังใจว่า ให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่มุ่งมั่นมากที่สุด ขยันมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง แล้วสักวันหนึ่งก็หวังว่า สิ่งที่ผมพยายามจะทำสามารถที่จะซื้อใจคนทั้งประเทศได้ ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพมหานคร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง