สหประชาชาติเชื่อว่าความยากลำบากทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในประเทศ พร้อมกันกับราคาน้ำยางฝิ่น ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเฮโรอีน ที่พุ่งสูงขึ้นในระดับราคาโลก คือ ต้นเหตุของปริมาณการผลิตฝิ่นที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ การรัฐประหารในเมียนมาเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาดังกล่าว ในขณะที่สงครามกลางเมืองยังคงดำเนินต่อไปมาเกือบ 2 ปีแล้ว
“การชะงักงันทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และธรรมาภิบาล ซึ่งเกิดขึ้นหลังการยึดอำนาจของกองทัพในเดือน ก.พ. 2564 ได้เกิดขึ้น และเกษตรกรในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมักจะเกิดความขัดแย้งทางตอนเหนือของรัฐฉานและรัฐชายแดนมีทางเลือกไม่มาก นอกจากต้องกลับไปปลูกฝิ่นอีกครั้ง” เจเรมี ดักลาส ผู้แทนระดับภูมิภาคของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) กล่าว
ภูมิภาคภาคพื้นแผ่นดินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น ซึ่งเป็นที่ตั้งของพรมแดนของเมียนมา ไทย และลาว ที่บรรจบกัน หรือที่มีชื่อเรียกว่า "สามเหลี่ยมทองคำ" เคยเป็นแหล่งผลิตฝิ่นและเฮโรอีนเจ้าใหญ่ของโลกในอดีต
รายงานของสหประชาชาติซึ่งเผยแพร่ในวันนี้ (26 ม.ค.) ระบุว่า เศรษฐกิจของเมียนมาเผชิญกับผลกระทบภายนอกและภายในประเทศในปี 2565 เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน ความไม่มั่นคงทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้เกิด “แรงจูงใจที่รุนแรง” ต่อเกษตรกรที่จะรับหรือขยายการปลูกฝิ่นในประเทศ
เมียนมาเป็นผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่อันดับสองของโลกรองจากอัฟกานิสถาน โดยทั้งสองประเทศเป็นแหล่งค้าเฮโรอีนส่วนใหญ่ที่ส่งขายไปทั่วโลก ทั้งนี้ ตามการประเมินของสหประชาชาติ เศรษฐกิจฝิ่นของเมียนมามีมูลค่าสูงถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 6.55 หมื่นล้านบาท) ในขณะที่การค้าเฮโรอีนในระดับภูมิภาคมีมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3.27 แสนล้านบาท) แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โครงการปลูกพืชทดแทนและการพัฒนาโอกาสทางเศรษฐกิจในเมียนมา ส่งผลให้การปลูกฝิ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี จากการสำรวจฝิ่นประจำปีที่จัดทำโดยสหประชาชาติแสดงให้เห็นว่า การผลิตฝิ่นในเมียนมามีเพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยการผลิตฝิ่นในปี 2565 นับเป็นอัตราการผลิตที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2556 ที่มีตัวเลขผลผลิตอยู่ที่ 870 ตัน ทั้งนี้ นับตั้งแต่การรัฐประหาร สหประชาชาติได้เฝ้าติดตามการผลิตยาเสพติดสังเคราะห์ที่มีเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยาเสพติดสังเคราะห์ได้เข้ามาแทนที่ฝิ่นในฐานะแหล่งเงินทุนสำหรับกลุ่มติดอาวุธที่ปฏิบัติการในพื้นที่ชายแดน ซึ่งบอบช้ำจากสงครามในพื้นที่เมียนมา
นอกจากนี้ ฝิ่นยังเป็นพืชที่ต้องการแรงงานผลิตมากกว่ายาเสพติดสังเคราะห์ การใช้ทรัพยากรที่มากกว่าส่งผลให้ฝิ่นเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจในเมียนมา สืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจหลังรัฐประหาร ที่ทำให้แหล่งงานทางเลือกมากมายหมดไป ความต้องการฝิ่นที่มีมากส่งผลให้รายได้ของชาวไร่ฝิ่นเพิ่มขึ้นในปีที่แล้วเป็น 280 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 9,175 บาท)
จากรายงานระบุว่า พื้นที่ปลูกฝิ่นของเมียนมาในปี 2565 มีเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมถึง 1 ใน 3 คิดเป็น 401 ตารางกิโลเมตร ข้อมูลของรายงานดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงแนวทางการทำไร่ฝิ่นที่ซับซ้อนมากขึ้น ทั้งนี้ ผลผลิตฝิ่นเฉลี่ยในเมียนมามีเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าสูงสุดเช่นกัน นับตั้งแต่ UNODC เริ่มติดตามวัดปริมาณในปี 2545
ดักลาสระบุว่า ประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาควรประเมินและจัดการกับสถานการณ์ “พวกเขาจำเป็นต้องพิจารณาทางเลือกที่ยากลำบาก” ดักลาสยังกล่าวเสริมอีกว่า วิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ควรคำนึงถึงความท้าทายที่ผู้คนในพื้นที่ปลูกฝิ่นแบบดั้งเดิมต้องเผชิญ รวมถึงความโดดเดี่ยวและความขัดแย้งในพื้นที่
เบเนดิกต์ ฮอฟมันน์ ผู้จัดการประจำประเทศเมียนมาของ UNODC กล่าวว่า "ท้ายที่สุดแล้ว การปลูกฝิ่นเป็นเรื่องของเศรษฐกิจจริงๆ และมันไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการทำลายพืชผล ซึ่งมีแต่จะเพิ่มความเปราะบาง" ฮอฟมันน์กล่าวเสริมอีกว่า “หากไม่มีทางเลือกอื่นและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ มีแนวโน้มว่าการปลูกและการผลิตฝิ่นจะยังคงขยายตัวต่อไป”
ที่มา: