เมื่อปีที่แล้ว โคลอมเบียมีพื้นที่เพราะปลูกโคคาขยายขึ้นเป็น 2,040 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่โคลอมเบียเองเป็นผู้ผลิตโคโคนรายใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งนี้ ข้อมูลตัวเลขนี้เป็นจำนวนตัวเลขที่มากที่สุด นับตั้งแต่สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เริ่มเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2544
กุสตาโว เปโตร ประธานาธิบดีโคลอมเบีย ออกมาระบุว่า นโยบายสงครามต่อต้านยาเสพติดของประเทศนั้นล้มเหลว ทั้งนี้ เปโตรซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายซ้ายที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งมาได้ไม่นาน พยายามหาทางควบคุมอุตสาหกรรมยาเสพติด และขยายโครงการเพื่อการทดแทนการปลูกพืชผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ โคเคนที่ผลิตในโคลอมเบียส่วนใหญ่ ถูกส่งไปขายต่อยังยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดหลักของผู้บริโภคยาเสพติดร้ายแรงดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลโคลอมเบียยังคงไม่สามารถทำให้ชาวไร่เปลี่ยนการทำเกษตรกรรมของตน ออกไปจากการเพาะปลูกใบโคคาได้ อย่างไรก็ดี คำสัญญาจากรัฐบาลในการมอบสิ่งจูงใจ หรือเงินอุดหนุนในการเลิกปลูกใบโคคา ยังคงไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาเป็นรูปธรรมจริง
รายงานของสหประชาชาติระบุว่า การเพราะปลูกโคคามีมากสุดในบริเวณเขตซานตานแดร์เหนือ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของโคลอมเบีย และในอีก 2 พื้นที่ของประเทศทางตะวันตกเฉียงใต้ ติดกันกับพรมแดนเอกวาดอร์อย่างนารีโญและปูตูมาโย ทั้งนี้ พื้นที่เทศบาลเมืองตีบูในซานตานแดร์เหนือ ชายแดนติดกับเวเนซุเอลา มีการเพราะปลูกโคคามากที่สุดด้วยพื้นที่กว่า 220 ตารางกิโลเมตร
การเพราะปลูกโคคาได้รับความนิยมอย่างมาก ในพื้นที่ใกล้กับพรมแดนทางประเทศอื่น หรือพรมแดนทางทะเลที่ผ่านข้ามได้ง่าย ในรายงานของสหประชาชาติยังระบุอีกว่า ในบริเวณดังกล่าวมีกลุ่มติดอาวุธผิดกฎหมาย ผู้ค้ายาเสพติด และผู้ผลิตยาเสพติดทำงานกันเป็นขบวนการอยู่ในพื้นที่
นอกจากนี้ รายงานของ UNODC ยังระบุอีกว่า การเพาะปลูกโคคายังคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพของโคลอมเบียจากการตัดไม้ทำลายป่า ทั้งนี้ ไร่โคคากว่าครึ่งหนึ่งของโคลอมเบียตั้งอยู่ในเขตจัดการที่ดินพิเศษ ซึ่งรวมถึงพื้นที่ป่าสงวนด้วย
การฉีดพ่นสารทางอากาศเพื่อกำจัดพืชผลโคคาถูกระงับในปี 2558 หลังจากที่ศาลตัดสินว่า สารกำจัดวัชพืชที่ใช้อย่างไกลโฟเสต สามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งและทำให้พื้นดินเกิดมลพิษได้ โดยก่อนหน้านี้ อิวาน ดูกู ประธานาธิบดีคนก่อนหน้าเปโตร ได้ส่งเสริมการทำสงครามต่อต้านยาเสพติดจากทางสหรัฐฯ โดย โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยแนะนำให้โคลอมเบียรื้อฟื้นการฉีดสารพิษทางอากาศใส่พืชโคคากลับมาอีกครั้ง
แต่เมื่อต้นเดือนนี้ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เข้าพบกับเปโตรที่โคลอมเบีย และกล่าวว่า สหรัฐฯ กับโคลอมเบียจะแบ่งปัน “จุดร่วมที่เปิดกว้าง” เกี่ยวกับปัญหาใบโคคา “เราสนับสนุนอย่างยิ่งต่อแนวทางแบบองค์รวมที่ฝ่ายบริหารของเปโตรกำลังดำเนินการ” บลิงเคนกล่าว “ทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมาย แต่ยังรวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาอย่างครอบคลุมด้วย... ผมคิดเราว่ามีจุดร่วมกันอย่างมาก"
ที่มา: