มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมรำลึก ครบรอบ 43 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา โดยมีนักศึกษา ศิษย์เก่าชื่อดัง นักการเมือง ร่วมงานจำนวนมาก อย่างนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี, นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พร้อมร่วมกัน วางดอกไม้สีขาว ที่ปฏิมานุสรณ์ 6 ตุลา 2519 นอกจากนี้ยังมอบรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ เป็นปีแรกให้กับ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ที่ได้เคลื่อนไหวรณรงค์ด้านสิทธิทางสังคม และกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งเป็นผู้ที่มีคดีติดตัวเป็นจำนวนมากคนหนึ่ง หลังการรัฐประหาร 2557
นายแพทย์สุรพงษ์ ยังได้เป็นองค์ปาถก กล่าวรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อ 43 ปีที่ผ่านมา พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า ตลอด 43 ปี ที่ผ่านมาการเมืองไทย เปลี่ยนไปมาก ส่วนตัวไม่คิดว่า เราหันกลับมาที่เดิม เหมือนที่หลายคนคิด ซึ่งสถานการณ์ วันนี้บ้านเมืองไม่ได้รุนแรงเหมือนอดีต แม้ที่ผ่านมาเราจะมีประชาธิปไตยครึ่งใบบ้าง เกือบเต็มใบบ้าง แต่เชื่อว่าหลังจากนี้ จะเกิดการเมืองเชิงสร้างสรรค์ เพราะสังคมมาไกลแล้ว คนรุ่นใหม่มีจิตสำนึกประชาธิปไตยสูง คิดว่าคงไม่ต้องใช้ถึง 43 ปี แต่เชื่อว่าเร็วกว่านี้สำหรับประชาธิปไตยในไทย
ส่วนที่ปาฐกถาตอนหนึ่ง มีการระบุว่า หยุดซึมเศร้า ปาดน้ำตา แล้วเดินหน้าต่อไปนั้น ต้องการที่จะสะท้อนนัยยะการเมืองอย่างไรหรือไม่ นายแพทย์สุรพงษ์ ย้ำว่าอยากบอกคนรุ่นหลัง ว่าเมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ เมื่อ 43 ปีแล้วแล้ว กับปัจจุบัน ยังน้อยกว่ามาก ขออย่าท้อแท้ อย่ากลัว อย่าทิ้งบ้านทิ้งเมืองหนีไปต่างประเทศ เรายังฝ่าฟันไปได้ ยังมีโอกาสในการช่วยส่งเสริม พัฒนาประเทศ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพ
ทั้งนี้ เชื่อว่าการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียนั้น เป็นคุณมากกว่าโทษ เพราะชุดความรู้ และข้อเท็จจริง มีการแพร่กระจายออกไป ไม่เหมือนอดีต ที่ไม่มีโซเชียล มีข่าวลวง ความเข้าใจผิด ความขัดแย้งหนักหนากว่านี้ ซึ่งตนเห็นอนาคตที่สดใส มากกว่าความมืดมน การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จะมาช่วยส่งเสริม ประชาธิปไตยทางตรง
นายแพทย์สุรพงษ์ ยังจัดเกรด ให้กับรัฐธรรมนูญของไทยว่า รธน. ฉบับ 40 ตนให้เกรด A แต่รธน. ฉบับ 60 ตนให้ F เพราะออกแบบมาอย่างไม่ฟังเสียงประชาชน และประชาชนไม่มีสิทธิ์กำหนดผู้บริหารประเทศด้วยตนเอง เสรีภาพถูกปิดกั้น พร้อมฝากถึงผู้มีอำนาจ ในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องฟังเสียงประชาชน โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องฟังเสียงประชาชนให้มาก เข้าใจว่าแม้นายกฯ จะมีความเห็นส่วนตัว แต่การฟังเสียงประชาชน จะทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ดีกว่าส่วนนักการเมืองนั้นขอให้มองไกลนึกถึงบ้านเมืองเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา และประชาธิปไตยไม่แสวงหาวิธีการทางลัด ด้วยการรัฐประหารพร้อมขอฝากไปยังฝ่ายประชาธิปไตย ว่าอย่าเพียงแค่ยึดมั่นในผลประโยชน์ของพรรคของตน เท่านั้น
พร้อมกันนี้มีเสวนาวิชาการหัวข้อ "จาก 6 ตุลา 2519 ถึงวิกฤตการเมืองร่วมสมัย : สี่ทศวรรษแห่งความสูญเปล่า เรายังคงฆ่ากัน" โดยมี น.ส.ธนาวิ โชติประดิษฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร , น.ส.นวลน้อย ธรรมเสถียร สื่อมวลชน, น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และนางเบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเสวนา
น.ส.ธนาวิ โชติประดิษฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงการทำงานวิจัยจากภาพถ่ายต่างๆ ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่ได้มีการรวบรวมไว้ในหลายที่ เพื่อย้อนภาพไปให้ทุกคนได้เห็นเหตุการณ์ ซึ่งสิ่งที่ได้แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงและการใช้อาวุธต่างๆ กับนักศึกษา และประชาชน
น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า แม้เวลาจะผ่านไป 40-50 ปี ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป แต่การใช้อำนาจของรัฐได้เปลี่ยนรูปแบบออกไป ที่แม้จะไม่มีการใช้อาวุธและความรุนแรง แต่อาจใช้ในรูปแบบของกฎหมาย หรือคำสั่งต่างๆกับประชาชน เพื่อให้รัฐนั้นคงไว้ซึ่งอำนาจ และแม้เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น อาจจะมีการเยียวยาให้ประชาชนบ้าง แต่สิ่งที่ประชาชนต้องการอย่างแท้จริงก็คือความยุติธรรม ทั้งนี้เห็นว่าข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะถือเป็นส่วนหนึ่งในปฎิรูปความยุติธรรม และจัดการกฎหมายหรือคำสั่งต่างๆที่ยังส่งผลกระทบต่อประชาชนอยู่ในทุกวันนี้
นางเบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า ปัจจุบันรัฐมีความหวาดกลัวกับกลุ่มคนที่เห็นต่างในสังคม และไม่ต้องการยอมรับความคิดเห็นเหล่านั้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา สังคมไม่ได้เรียนรู้อะไรอย่างจริงจัง ทำให้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังมีการข่มขู่หรือดำเนินการกับกลุ่มคนที่เห็นต่างจนเกิดการลี้ภัยไปต่างประเทศด้วย