ไม่พบผลการค้นหา
ครบรอบ 42 ปี เหตุการณ์ '6 ตุลา 2519' วันพรากนกพิราบ ล้อมปราบ -นักศึกษา - เก้าอี้ - ต้นมะขาม - กระทิงแดง เหล่านี้คือสัญลักษณ์ของวันประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของการเมืองไทย

เวียนมาถึงวันครบรอบ 42 ปี '6 ตุลา 2519' วันประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย ที่มีการใช้กำลังจากกลุ่มกระทิงแดง และเจ้าหน้าที่รัฐ ล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย ทำให้สมัยนั้นนักศึกษาบางส่วนได้หนีเข้าป่า เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) 


000_ARP2302150.jpg

(จอมพลถนอม กิตติขจร หลังบวชจากสิงคโปร์กลับมาประเทศไทย จนนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519)

ย้อนกลับไป ณ ห้วงเวลาของวันนั้น พื้นที่รอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เต็มไปด้วยฝูงชนกลุ่มจัดตั้ง 'กระทิงแดง' ที่รวมชายฉกรรจ์และนักศึกษาอาชีวะ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐตรึงกำลังโดยรอบ เนื่องจากนักศึกษาและประชาชนประมาณ 3,000 คน ได้รวมตัวกันประท้วงภายในมหาวิทยาลัย ต่อต้านการกลับเข้ามาของจอมพลถนอม กิตติขจร ขณะนั้นได้บวชเป็นสามเณรที่ประเทศสิงคโปร์ ก่อนกลับมาบวชเป็นพระที่วัดบวรนิเวศ และผู้ประท้วงได้เรียกร้องให้รัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ขับไล่จอมพลถนอมออกจากประเทศ 


000_ARP1673840.jpg

(ขณะเจ้าหน้าที่เข้ารอบปราบนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

ขณะเดียวกันกลิ่นอายของโลหิตเริ่มโชยมา เมื่อมีการปลุกระดมกล่าวหานักศึกษาเป็น 'ญวน' เป็น 'คอมมิวนิสต์' สร้างความเดือดดาลให้กับฝ่ายอนุรักษ์นิยม มีการใช้อาวุธสงครามเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง หนำซ้ำยังลากร่างไร้วิญญาณมาทุบตีซ้ำต่อบริเวณสนามหลวง โดยมี 'คนไทย' เช่นเดียวกับนักศึกษา โห่ร้องชอบใจในการกระทำเหล่านั้น

จนนำไปสู่ยอดตัวเลขผู้เสียชีวิต 40 ราย บาดเจ็บ 3,000 ราย ซึ่งตัวเลขการสูญเสียในเหตุการณ์วันนั้นยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าเป็นความจริงหรือไม่?

แม้นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของการเมืองไทย

แต่รอยอดีตนั้นกลับถูกกล่าวถึงในหนังสือเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 เพียงแค่ครึ่งหน้ากระดาษ ราวกลับว่าเหตุการณ์ที่ประชาชนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย และมีการเข่นฆ่ากันจากคนไทยด้วยกันเอง เป็นเพียง 'ประวัติศาสตร์' ครึ่งหน้ากระดาษในตำราเรียนเท่านั้น

ชวนให้เกิดสงสัยว่าหากคนรุ่นหลังไม่มีโซเชียลมีเดีย ในการค้นหาเรื่องราววันที่แสนเจ็บปวดของใครบางคนและวันที่เป็นตราบาปในใจของใครบางคน พวกเขาจักรู้ได้เช่นไรหากประวัติศาสตร์เหล่านี้ถูกทำให้หายไป

ยิ่งหากมีการระบุเป็นลายลักษณ์อักษรในตำราให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษากลับเป็นผลดีด้วยซ้ำไป เพราะถือเป็นการเตือนใจของชนรุ่นหลังได้ตระหนักสำนึกคิดว่าการยึดติดจิตใจกับอะไรบางอย่าง อาจนำไปสู่การเข่นฆ่ากันเพียงแค่มีอุดมการณ์ต่างกันเท่านั้น

พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog