วันที่ 19 ส.ค. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือถึง ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อขอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ว่า นายชวน จะยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือยังนั้น ตนไม่ทราบ จากนั้นรอว่าศาลจะดำเนินการต่ออย่างไร หากศาลพิจารณาเองได้ก็จบ แต่ถ้าศาลระบุว่า เกี่ยวพันกับนายกรัฐมนตรีแล้วนายกรัฐมนตรีจะว่าอย่างไร อย่างนี้ก็ต้องตอบไป
เมื่อถามว่า ขณะนี้นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงหรือไม่ว่าในสัปดาห์หน้าจะสามารถดำเนินการเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า สื่อต้องไปถามนายกรัฐมนตรีดูเองว่ามีความกังวลหรือไม่
เมื่อถามต่อว่า ในส่วนของวิษณุเองได้ชี้แจงต่อนายกรัฐมนตรีอย่างไรหรือไม่ ถึงระเบียบการทำงานที่สามารถดำเนินการต่อไปได้หรือไม่อย่างไร วิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้พูดกันเมื่อหลายเดือนก่อน แต่ช่วงนี้ไม่มีการพูดแต่อย่างไร โดยเมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมาเป็นช่วงที่สื่อพูดกันมากถึงประเด็นนี้ ในตอนนั้นตนบอกกับนายกรัฐมนตรีว่า ไม่มีใครสามารถยื่นได้ในขณะนั้น เพราะยังห่างไกล แต่เมื่อใกล้ถึงวันที่ 24 ส.ค. คงมีคนยื่นแน่ๆ
ดังนั้นระหว่างนี้ต้องบริหารราชการไปตามปกติ จนกว่าศาลจะสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ตามมาตรา 82 ซึ่งมาตรา 82 ระบุว่า หากมีเหตุอันสมควร ศาลสามารถสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาที่มีการฟ้องร้องกัน และบางคดีศาลสั่งให้หยุด บางคดีศาลก็ไม่ได้สั่งให้หยุด โดยมาตรา 82 คือหยุดก่อนตัดสิน เพราะถ้าตัดสินแล้ว ไม่ต้องให้ศาลสั่งให้หยุด เพราะถ้าตัดสินแล้วก็กลับบ้าน
เมื่อถามต่อว่า หากศาลสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จะต้องทำอย่างไร วิษณุ กล่าวว่า ก็ต้องหยุด
ผู้สื่อข่าวถามต่ออีกว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่ คนที่ขึ้นมารักษาการนายกรัฐมนตรี คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ใช่หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า เอาตรงๆคือ พล.อ. ประยุทธ์ ยังรักษาการได้ แต่ในกรณีที่นายกรัฐมนตรี จะรักษาการไม่ได้จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 168 , 169 ที่ระบุว่าในกรณีที่นายกรัฐมนตรีกระทำผิด ไม่ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการ หรือถ้าคนที่กระทำผิดคือคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีก็รักษาการไม่ได้ แล้วให้ปลัดกระทรวงทั้งหมดขึ้นมารักษาการ
วิษณุ กล่าวว่า แต่หากนายกรัฐมนตรีพ้นด้วยกรณีอื่นนายกก็รักษาการได้ เหมือนกับหากนายกยุบสภาก็ยังรักษาการได้ นายกฯลาออกก็ยังรักษาการได้ หรือนายกฯถูกศาลสั่งว่าครบแปดปีแล้วต้องออก นายกก็รักษากันได้ แต่นายกอาจจะขอไม่รักษาการ ซึ่งถ้าอย่างนั้นก็จะมาเป็น สร.2 คือ พล.อ.ประวิตร
เมื่อถามว่าถึงกรณีกระแสข่าวการยุบสภาก่อนครบวาระ 8 ปี ขณะนี้ยังมีสัญญาณนั้นอยู่หรือไม่ วิษณุกล่าวว่า "ผมไม่เห็น พวกคุณเห็นกันที่ไหนสัญญาณ ผมไม่รู้ คุณตีระฆังสั่นกระดิ่ง กันตรงไหนว่าจะยุบ"
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯมีสิทธิตัดสินใจหรือไม่ว่าเพื่อความกระจ่าง และก่อนวันที่ 24 ส.ค.นี้ อาจจะขอพักงานตัวเองไปเสียก่อน วิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี
เมื่อถามว่า หากทำตามกฎหมาย แสดงว่านายกสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ ใช่หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ใช่ ถูก เว้นแต่ศาลจะสั่งตอนที่รับเรื่องว่าให้หยุด กลับอีกคราวหนึ่งเมื่อศาลวินิจฉัยว่าครบแล้ว 8 ปี ถ้าเป็นเช่นนั้นก็พ้น แต่ยังต้องรักษาการ ซึ่งรักษาการจนกว่าชวน ประธานรัฐสภาจะหานายกรัฐมนตรีคนใหม่
เมื่อถามว่า ในระหว่างที่รักษาการนายกรัฐมนตรี สามารถประกาศยุบสภา ได้หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ได้ ในสมัยนายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา เมื่อยุบสภาแล้วยังสามารถปรับ ครม.ได้ เพราะขณะนั้นใน ครม.มีความขัดแย้ง จึงต้องปรับครม.ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่
วันที่ 19 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบค.) ที่ระบุว่าเตรียมพิจารณาจะไม่ขยายระยะเวลาบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.ในการประชุมครั้งหน้า ว่า ก็อาจจะเป็นได้ แต่การประชุม ศบค.วันนี้ไม่ได้มีการเสนอเข้ามา เพราะหากไม่ต่อการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็จะสิ้นสุดลง
ส่วน ศบค.จะอยู่หรือจะไปก็ได้ แต่โดยหลักก็ควรยก ซึ่งไม่ยุ่งยากอะไร เพราะเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนบอกแล้วการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับการมีหรือไม่มี ศบค.ไม่ได้เกี่ยวกันร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะแม้จะยกเลิกเราก็ยังให้ศบค.อยู่ แต่อำนาจนั้นลดลง แต่อาจจะให้อยู่ตามอำนาจกฎหมายอีกฉบับคือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 11(8) แต่ลดบทบาทและอำนาจหน้าที่ของ ศบค.ลง และส่งมอบให้กระทรวงสาธารณสุขไปจัดการ โดยไม่ต้องไปยุ่งกับสภาความมั่นคงแห่งชาติม(สมช.) อีกก็ได้
เมื่อถามว่า สถานการณ์ของโควิด-19 มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะไม่ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังวันที่ 30 ก.ย.65 วิษณุ กล่าวว่า ตอบไม่ถูก ต้องถามกระทรวงสาธารณสุข และ สมช.ที่เป็นผู้ประเมินสถานการณ์ เมื่อถามว่า ถ้าไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะใช้กฎหมายใดมาควบคุมโรคโควิด-19 วิษณุ กล่าวว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ฉบับเดิม ซึ่งอำนาจส่งกลับคืนไปให้กระทรวงสาธารณสุข
เมื่อถามต่อว่า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่ ครม.เคยเห็นชอบแล้ว จะนำมาใช้ได้หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ ยังไม่ได้ประกาศใช้ เพราะต้องรอให้คิดครอบคลุมกับโรคอุบัติใหม่ทุกชนิดก็เลยรั้งรอไว้ ไม่ได้เสนอเป็น พ.ร.บ.เข้าสภา และยังไม่ได้ออกเป็น พ.ร.ก.เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขได้อ่านสถานการณ์ได้ชัดเจน สรุปก็คือพักเอาไว้ แต่ถ้าประกาศใช้ก็จะไม่ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ไว้ใช้ เช่น ภาคใต้ แต่ที่ผ่านมาเรายืมมาใช้ เพราะเราไม่มีกฎหมายอื่นใด แต่ก็พออนุโลมมาบังคับใช้กับโรคระบาดร้ายแรง
เมื่อถามต่อว่า หากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 จะดูแลโควิดครอบคลุมหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ถ้าโควิดไม่รุนแรงก็จะครอบคลุม แต่ถ้ารุนแรงก็จะไม่ครอบคลุม เพราะทุกกระทรวงจะปล่อยมือวางหมด เหลือแค่กระทรวงสาธารณสุขหน่วยงานเดียว ซึ่งเขาคงรับมือไม่ไหว พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ออกแบบมา สร้างศบค.ขึ้นมา เพื่อบูรณาการทุกกระทรวงแต่กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถบูรณการกับใครได้ ดังนั้นถ้าใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 กระทรวงสาธารณสุขรับไปเต็มๆฉะนั้น ถ้าเกิดสถานการณ์วิกฤตเราก็ย้อนกลับไปประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินใหม่ได้อีก โดยให้ครม.ประกาศ และหากจะยกเลิกต้องเสนอศบค.ก่อนเพื่อให้คำแนะนำและจึงเข้าครม.ต่อไป
เมื่อถามต่อว่า สาเหตุที่จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อจะเตรียมพร้อมในการเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคใช่หรอไม่ วิษณุ กล่าวว่า ไมเกี่ยว ถ้ามันระบาดอยู่และรุนแรงก็ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ถ้าไม่รุนแรงก็ไม่ต้องใช้ ทั้ง 21 ประเทศที่มาร่วมประชุม ก็มีหลายประเทศทีใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ญี่ปุ่น
เมื่อถามว่า สาเหตุที่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะเข้าโหมดการเลือกตั้งใช่หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ไม่เกี่ยว เป็นเรื่อของโรคติดต่อโดยเฉพาะ เพราะเราห็นแล้วว่าสถานการณ์โควิดเบาบางลงมา 2-3 เดือน เราถึงได้เปิดประเทศ