วันที่ 4 ก.ค. 2566 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงบรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันนี้เพื่อเลือกประธานสภาฯ ว่า ประวัติศาสตร์วนไปวนมาซ้ำรอยกัน เมื่อพรรคต่างๆที่เป็นพรรคใหญ่ไม่สามารถตกลงกันได้ ออกก็ต้องมีการเสนอทางออกนายอุทัย พิมพ์ใจชน เคยเป็นประธานสภาฯ แม้จะมีเพียง 3 เสียงเท่านั้น นั่นแปลว่าทุกพรรคไว้วางใจ และวันนี้เห็นได้ชัดว่าแม้จะมีเสียงข้างมาก อย่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ที่ไว้วางใจแล้ว ยังมีพรรคที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มี 118 เสียง ก็ไม่ได้เสนอใครแข่ง แปลว่ามีการไว้วางใจกัน แม้แต่ชวน หลีกภัย อดีตประธานสภาฯ ก็ยังชม นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา มีบุคลิกมีความรู้ความสามารถและมีความเป็นกลาง ซึ่งแค่นี้ก็เพียงพอการบริหารงานในสภาโดยความราบรื่น
ส่วนกรณีพรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอชื่อของ วิทยา แก้วภราดัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ชิงตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 แข่งกับ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก นั้น วิษณุ กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อมีการส่งชื่อชิงกันก็ต้องมีการแสดงวิสัยทัศน์และโหวตเลือก ด้วยการลงคะแนนลับ
เมื่อถามย้ำว่า กรณีดังกล่าวเป็นการสะท้อนคะแนนเสียงระหว่าง 2 ขั้วรัฐบาลใช่หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า แค่สะท้อนตอนนี้ ตรงนี้เท่านั้นจะชนะหรือไม่ก็อยากให้มีการแข่งขันกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ในช่วงเย็นวันนี้ก็จะทราบ
ส่วนที่มีการมองว่าเป็นการสกัดกั้นพรรคก้าวไกล ทุกตำแหน่งในสภาฯใช่หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ตนคิดว่าไม่ใช่ ซึ่งต้องไปดูว่าระหว่างก้าวไกลและเพื่อไทย มีการตกลงกันอย่างไร ซึ่งเราไม่รู้ เพราะสองพรรครวมกัน ส.ส.เกือบ 300 เสียงแล้ว ถ้าเขารวมกันได้ รองประธานคนหนึ่งและรองประธานคนที่ 2 ก็คงจะออกมาตามพรรคเสียงข้างมาก
เมื่อถามว่า วันมูหะมัดนอร์ มะทา จะสามารถทำงานควบคุมการทำงสนในสภาฯได้หรือไม่ วิษณุ เชื่อว่า สามารถทำได้อย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นรัฐมนตรีหลายสมัยและตนก็เคยทำงานร่วมกับ วันนอร์ นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาฯ ไม่เคยด่างพร้อยอะไร และมีความเป็นกลางพอสมควรแต่ ลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติเนื่องจากประธานสภาฯ บริหารพรรคไม่ได้ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
วิษณุ กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย แถลงถึงแนวคิดนโยบายแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ,พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฯ ว่า ถ้าหากทั้ง 2 พรรคได้เป็นรัฐบาลก็สามารถทำได้เลย แต่ยอมรับว่ามันคงไม่ง่าย เพราะกฎหมายเหล่านี้ต้องผ่านสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ด้วย รวมถึงหากจะยุบ กอ.รมน. กฎหมาย ศอ.บต. และเสนอแก้รัฐธรรมนูญก็สามารถทำได้เช่นกัน
พร้อมยอมรับว่า เสนอได้ ส่วนจะสามารถทำได้หรือไม่ก็แล้วแต่
เมื่อถามต่อว่า การเสนอแก้ พ.ร.บ.กระทรวงกลาโหม คือเขาไม่อยากให้มีคณะกรรมการแต่งตั้งทหารใช่หรือไม่ วิษณุ ระบุว่า เรายังไม่รู้ เรายังไม่เห็นว่าเขาจะเสนออย่างไร
เมื่อถามต่อว่า การเสนอ แก้พ.ร.บ.กระทรวงกลาโหม เคยมีกระแสข่าวว่า เขาจะให้ ครม.กลับมาเป็นผู้แต่งตั้งเหมือนเดิม ใช่หรือไม่ วิษณุ อธิบายว่า เมื่อสมัยโบราณนานแล้ว ครม.ก็เป็นผู้พิจารณา แต่เพิ่งมาแก้ไขในช่วง 10 ปีหลัง เพื่อป้องกันการเมืองเข้าไปเปลี่ยนแปลง
เมื่อถามว่า การแก้กฎหมายดังกล่าวจะมีความยากและถูกสกัดหรือไม่ วิษณุ ปฏิเสธว่า ตนไม่ทราบในเรื่องนี้ เพราะใน ส.ว.ก็มีทหาร และผู้ที่ดูแลฝ่ายความมั่นคงอยู่เยอะ รวมถึงในสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน แต่ถึงอย่างไรก็มีสิทธิ์เสนอในประเด็นดังกล่าว
เมื่อถามว่าประเด็นบ้านพักหลวงของนายกรัฐมนตรี สามารถแก้ไขใน พ.ร.บ.กระทรวงกลาโหม ได้หรือไม่ วิษณุ อธิบายว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงระเบียบกระทรวงกลาโหม เป็นระเบียบกองทัพบก และกองทัพเหล่าต่างๆ ที่เขาออกเอง ไม่ใช่กฎหมาย
เมื่อถามว่า หากมีรัฐบาลใหม่จะสามารถแก้ไขตรงนี้ได้หรือไม่ วิษณุ ระบุว่า ก็ต้องไปพูดกับ ผบ.ทบ.ก็แล้วกัน
เมื่อถามย้ำว่า ประเด็นดังกล่าวฝ่ายการเมืองหรือกองทัพ จะเป็นผู้ตัดสิน วิษณุ อธิบายย้ำว่า เป็นระเบียบของกองทัพบก ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสิน แต่คุณจะทำให้กองทัพบกเปลี่ยนใจมาตามคุณ อันนี้ก็แล้วแต่ไปพูดจากัน พร้อมยอมรับว่า เป็นฝ่ายทหาร เปนผู้ตัดสินใจ ซึ่งระเบียบดังกล่าว เกิดขึ้นในสมัย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น ผบ.ทบ. และรัฐบาลยุค ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งไม่ใช่ระเบียบที่ เขียนขึ้นเพื่อ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะไม่รู้ว่าใครจะมาใครจะไป