ไม่พบผลการค้นหา
โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงข้อสงสัยของมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์กับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการทำคดีค้าประเวณี ยืนยันไม่มีการร้องเรียนเรื่องละเมิดสิทธิ และปฏิบัติต่อผู้ถูกบังคับให้ค้าประเวณีเหมือนเหยื่อผู้ถูกกระทำ

จากกรณีที่มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ได้จัดเสวนาเรื่องปัญหาการค้ามนุษย์ขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2561 และได้วิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1. แม้รัฐบาลไทยมีนโยบายต่อต้านการค้ามนุษย์และค้าประเวณี แต่ผู้หญิงที่ถูกจับในคดีค้าประเวณี กลับไม่ได้รับการปกป้อง และมักจะถูก "ละเมิดซ้ำ" จากกระบวนการทางกฎหมาย เช่น การบุกจับกุมโดยวิธีการ "ล่อซื้อ" ทั้งที่อาจเป็นความพึงพอใจส่วนบุคคล ไม่ได้เกี่ยวกับการค้าประเวณี ซึ่งในระดับสากลถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะที่ตัวแทนของรัฐบาลไทยเคยยืนยันในเวทีการประชุมด้านสิทธิมนุษยชนที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี 2560 ว่า "ไทยไม่มีนโยบายล่อซื้อ"

2. ประเทศไทยมีบทลงโทษการค้าประเวณี แต่กลับมีสถานบริการต่างๆ จนเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่การบุกจับกุมในคดีค้าประเวณีในไทย เป็นการดำเนินการที่มีอคติกับผู้หญิงค้าประเวณี เพราะผู้ชายที่เป็นผู้ซื้อได้รับการปล่อยตัว แต่ผู้หญิงกลับถูกคลุมโม่ง นอกจากนี้การจับกุมตัวบางกรณีมีการเปิดเผยตัวตน ทำให้ได้รับผลกระทบไปถึงครอบครัวและสังคม ถูกตัดขาดไม่ให้ติดต่อกับครอบครัว หรือถูกควบคุมตัวเป็นเวลานานหลายเดือน โดยอ้างว่าเป็นการคุ้มครองเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ผู้ถูกควบคุมตัวที่ขายบริการโดยสมัครใจ โดยเฉพาะชาวเมียนมาและลาว ถูกส่งตัวไปห้องกักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตม.) ซึ่งมีสภาพแออัด เมื่อเจ็บป่วยไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ

3. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือซีดอ (CEDAW) ซึ่งทางการไทยได้ให้สัตยาบันไว้ มีเนื้อหาตอนหนึ่งที่ระบุให้แต่ละประเทศ "ยกเลิกความผิดทางอาญาที่เกี่ยวกับการค้าประเวณี" และให้คุ้มครองสิทธิผู้ขายบริการโดยสมัครใจ เช่นเดียวกับการคุ้มครองแรงงานที่ประกอบอาชีพอื่นๆ จึงขอให้รัฐบาลพิจารณายกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี และยกเลิกการดำเนินคดีอาญากับผู้ขายบริการให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้าประเวณี

ในการนี้ พ.ต.ท.ปองพล เอี่ยมวิจารณ์ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ชี้แจงว่า ปัญหาการค้าประเวณีนั้นนับเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่ถูกระบุไว้ในยุทธศาสตร์การสืบสวนปราบปรามคดีค้ามนุษย์ ซึ่งในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา การจับกุมหรือดำเนินคดีนั้นจะมุ่งเน้นไปที่ผู้แสวงประโยชน์ทางเพศมากถึง 84.4% เช่น ผู้เป็นธุระจัดหา หรือแม่เล้า โดยจากสถิติการจับกุมซึ่งสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจได้รวบไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 เป็นต้นมา แสดงให้เห็นว่ามีเหยื่อการค้ามนุษย์ได้รับการช่วยเหลือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ในทางกลับกันจำนวนผู้เสียหายกลับลดลงไปด้วยเช่นกัน 

ยันตำรวจมีแนวปฏิบัติต่อผู้ตกเป็นเหยื่อ

ทั้งนี้ สำหรับภารกิจการกวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์นั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีนโยบายที่ชัดเจนด้านการปฏิบัติต่อผู้ถูกบังคับให้ค้าประเวณีทุกเพศทุกวัยเสมือนเหยื่อผู้ถูกกระทำ โดยได้กำหนดแนวทางปฏิบัติต่อผู้ตกเป็นเหยื่อไว้แล้วอย่างเป็นรูปธรรม จนเป็นที่ประจักษ์ต่อองค์กรสิทธิมนุษยชนและ NGO ต่างๆ ที่เข้ามาร่วมปฏิบัติงานหรือเข้ามาตรวจสอบก็ตาม โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมายังไม่มีรายงานหรือได้รับการร้องเรียนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการจงใจละเมิดต่อสิทธิของเหยื่อแต่อย่างใด

ส่วนที่มีข่าวว่ามีการจับกุมการค้าประเวณีด้วยวิธีการล่อซื้่อบริการนั้น เป็นการล่อซื้อเพื่อมุ่งจับกุม "ผู้ที่แสวงประโยชน์จากการค้าประเวณี" เช่น ผู้เป็นธุระจัดหา หรือแม่เล้า เป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กและเยาวชน หรือผู้ถูกบังคับค้าประเวณี โดยเจ้าหน้าที่มิได้เลือกปฏิบัติว่าผู้ที่แสวงประโยชน์จากการค้าประเวณีนั้นจะเป็นชายหรือหญิงแต่อย่างใด และขอยืนยันว่าผู้ค้าประเวณีไม่ใช่เป้าหมายของการจับกุม

ล่อซื้อเพราะต้องการหลักฐานแน่นดำเนิินคดีในชั้นศาล

สำหรับสถานบริการต่างๆ เช่น สถานบริการ อาบ อบ นวด ที่มีให้เห็นโดยทั่วไปนั้น เนื่องจากกฎหมายอนุญาตให้เปิดดำเนินกิจการได้ โดยห้ามมิให้มีการค้าประเวณี แต่การจะเข้าไปตรวจสอบว่ามีการลักลอบค้าประเวณีภายในสถานบริการต่างๆ หรือไม่นั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากธรรมชาติของการลักลอบค้าประเวณี มักจะกระทำในที่ลับหรือห้องส่วนตัว ยากต่อการเข้าถึง และในการจับกุมดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องนั้น จำเป็นต้องมีหลักฐานการจ่ายเงิน การพูดตกลง และการเสนอขายบริการแบบคาหนังคาเขา จึงจะเพียงพอที่จะดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดในชั้นศาลได้ ดังนั้น การปราบปรามสถานบริการที่ลักลอบค้าประเวณีโดยไม่ใช้วิธีการล่อซื้อ จึงเกินวิสัยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถกระทำได้โดยง่าย

ส่วนกรณีที่กล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่เลือกดำเนินคดีต่อหญิงค้าประเวณี แต่ไม่ดำเนินคดีต่อชายผู้ซื้อบริการนั้น ที่ผ่านมายังไม่เคยได้รับรายงานหรือการร้องเรียนจากหน่วยงานใดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเลือกปฏิบัติในการดำเนินคดีกับผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว และจากการเข้ากวาดล้างสถานบริการทุกครั้ง หากจำเป็นต้องดำเนินคดีกับผู้ค้าประเวณี ก็จะดำเนินคดีกับผู้ค้าประเวณีซึ่งมิใช่เด็กหรือเยาวชน โดยมิได้ละเว้นไม่ว่าจะเป็นหญิงขายบริการหรือชายขายบริการก็ตาม มีอัตราโทษเพียงแค่ปรับไม่เกิน 1,000 บาทเท่านั้น ซึ่งไม่น่าสงผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของผู้ค้าประเวณีแต่อย่างใด 

ด้านผู้ซื้อบริการทางเพศไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง หากมิได้ซื้อบริการจากผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี กฎหมายก็มิได้กำหนดว่าเป็นความผิด เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่สามารถดำเนินคดีในข้อหาซื้อบริการทางเพศได้ มิได้กระทำไปเพราะมีอคติต่อเพศหญิงแต่อย่างใด

แจงทำหนังสือเวียนไม่ให้เปิดเผยตัวผู้ต้องหา

สำหรับข้อห่วงใยในเรื่องของผลกระทบทางสังคมที่ผู้ค้าประเวณีอาจได้รับเนื่องจากถูกเปิดเผยตัวตนต่อสาธารณะชนนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ความสำคัญและคำนึงถึงผลกระทบดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากการที่ได้มีหนังสือแจ้งเวียนมิให้มีการเปิดเผยตัวตนของผู้ต้องหาออกไปแล้วเป็นจำนวนหลายฉบับ และได้มีการจัดทำพื้นที่สำหรับการสอบสวนที่มีความเป็นส่วนตัวไว้ ณ สถานีตำรวจต่างๆ แล้ว หากแต่บางครั้งในระหว่างการเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง อาจเป็นโอกาสให้สามารถถูกถ่ายภาพโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจคำนึงถึงประเด็นนี้เสมอ และจะจัดหาเครื่องอำพรางใบหน้า เช่น หมวก แว่นตากันแดด หน้ากากหรือหมวกไหมพรม และเสื้อแจ๊คเก็ต ให้แก่ผู้ต้องหาเท่าที่จะสามารถทำได้ ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะได้มีหนังสือกำชับให้เจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรัดกุมให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสวัสดิภาพสูงสุดตามสิทธิของผู้ต้องหาทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิงก็ตาม

ยันคุมตัวผู้ต้องหาเป็นไปตาม กม.

สำหรับการควบคุมตัวผู้ต้องหาค้าประเวณีเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ทั้งที่เป็นการค้าประเวณีโดยสมัครใจนั้น เป็นไปตามที่กฎหมายหรือระเบียบกำหนดไว้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วกระทำไปเพื่อปกป้องคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ที่เป็นเด็ก หรือผู้ใหญ่ที่จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองเท่านั้น เช่น ผู้ใหญ่ที่ถูกพ่อแม่บังคับให้มาขายบริการ ไร้ที่พึ่ง หากส่งตัวกลับไปบ้านก็จะถูกบังคับให้ออกมาขายบริการอีก เป็นต้น 

โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องส่งตัวบุคคลเหล่านี้ไปเข้ารับการส่งเสริมอาชีพยังหน่วยงานที่กฎหมายหรือระเบียบกำหนด เพื่อสร้างวิสัยทัศน์ในการใช้ชีวิตและสร้างทางเลือกอื่นในการประกอบอาชีพให้แก่ผู้ค้าประเวณี ลดความเสี่ยงการติดเชื้อโรคร้าย หรือปัญหาการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ ตลอดจนปัญหาสังคมอื่นๆ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการเข้าสู่วงจรการค้าประเวณี

ชี้ส่งตัวผู้ค้าประเวณีต่างด้าวกลับประเทศ เหตุผิด กม.ไทย

สำหรับผู้ค้าประเวณีชาวเมียนมาร์และลาว ที่ถูกส่งตัวไปห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองนั้น เนื่องจากการค้าประเวณียังคงเป็นความผิดตามกฎหมายไทยอยู่ และชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยก็มิได้รับอนุญาตให้ค้าประเวณีได้เช่นกัน ดังนั้น ก็จะต้องถูกดำเนินคดีเช่นเดียวกันกับผู้ต้องหาชาวไทย ยกเว้นกรณีที่เป็นผู้ที่หลบหนีเข้าเมือง 

หากเป็นผู้ต้องหาสัญชาติลาว กัมพูชา และเมียนมา เจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถดำเนินการผลักดันกลับประเทศได้ จึงต้องถูกควบคุมตัวไว้ในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งถึงแม้ห้องกักจะมีสภาพแออัดบ้างในบางห้วงเวลา แต่ขอยืนยันว่าห้องกักมีสภาพดีพอตามมาตรฐานและอัตภาพ เนื่องจากจะมีหน่วยงานสิทธิมนุษย์ชนต่างๆ ตลอดจนหน่วยงานด้านมนุษยธรรม เช่น คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) มาตรวจเยี่ยมเป็นประจำ และหากได้รับคำแนะนำในการปรับปรุงสภาพห้องกัก ก็จะดำเนินการอย่างเคร่งครัด ซึ่งการดำเนินการทุกขั้นตอนจะคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังเป็นสำคัญ รวมถึงสิทธิการได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยด้วย จึงขอยืนยันว่าไม่มีผู้ใดถูกทอดทิ้งหรือไม่ได้รับการดูแลที่ดีอย่างแน่นอน

สำหรับข้อเสนอให้มีการยกเลิกความผิดทางอาญาที่เกี่ยวกับการค้าประเวณีตามรัฐบาลไทยที่ได้ให้สัตยาบันไว้ ในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือซีดอ (CEDAW) นั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่มีข้อขัดข้องประการใด

พม. แจงประเด็นปัญหาการค้าประเวณีกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ขณะที่ นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่าจากประเด็นดังกล่าว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบการขับเคลื่อนภารกิจตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์ในการกำหนดมาตรการบทลงโทษ มีทั้งโทษจำคุก โทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงการลดโทษแก่ผู้กระทำการค้าประเวณี และคุ้มครองบุคคลที่ถูกค้าประเวณี โดยเฉพาะเด็ก และเยาวชนที่อาจถูกล่อลวง หรือชักพาไปเพื่อการค้าประเวณี และมีการคุ้มครองและฟื้นฟูผู้กระทำการค้าประเวณีให้ได้รับการอบรมฟื้นฟูจิตใจ การบำบัด รักษาโรค การฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิต

โดยการขับเคลื่อนภารกิจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจะอยู่ในรูปของคณะกรรมการ จำนวน 2 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ (ก.ค.อ.) และคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพประจำจังหวัด (ก.ค.อ.จังหวัด) มุ่งเน้นในส่วนของการคุ้มครองและป้องกันการค้าประเวณีเป็นสำคัญ และคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเคารพหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีมาตรการเชิงรุกและเชิงรับ โดย มาตรการเชิงรุก เน้นหนักในเรื่องการป้องกันกลุ่มเสี่ยงที่อาจถูกล่อลวงสู่การค้าประเวณี โดยการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ ส่งเสริมและฝึกอบรมวิชาชีพ สร้างงานสร้างรายได้ สร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพ และสร้างกลุ่มอาชีพ ตลอดจนให้แนวทางองค์ความรู้ทางการตลาด การจัดจำหน่าย โดยการสานฝันกลุ่มเหล่านั้นด้วยร้าน “ทอฝัน” เพื่อเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน

ส่วนมาตรการเชิงรับ ได้ใช้หลักการอาชีวบำบัดสำหรับกลุ่มที่ตกเป็นเหยื่อของการค้าประเวณีแล้ว เพื่อฝึกอบรมให้ทักษะทั้งทางกาย จิตใจ และการดำรงชีวิตในสังคมภายหลังที่ได้กลับคืนภูมิลำเนาโดยมุ่งหมายมิให้หวนคืนกลับไปสู่การค้าประเวณี โดยเฉพาะผู้กระทำการค้าประเวณีเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ต้องให้การคุ้มครองและพัฒนาอาชีพแทนการลงโทษและให้ความรู้ทักษะในการดำรงชีพ เพื่อคืนกลับสังคมได้อย่างปกติสุข (มาตรา 34) ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวได้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และมุ่งเอาผิดต่อผู้ซื้อประเวณี ผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และบิดา มารดา ผู้ปกครอง ที่ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้อยู่ในอำนาจปกครองกระทำการค้าประเวณี

 ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 กำหนดความผิดและโทษสำหรับการค้าประเวณีที่ได้กระทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญหรือ เป็นที่น่าอับอายในที่สาธารณะ โดยระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท และหากผู้กระทำการค้าประเวณีเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ต้องให้การคุ้มครองสวัสดิภาพด้วยการฝึกอาชีพและให้ความรู้ทักษะในการดำรงชีพ เพื่อคืนกลับสังคมได้อย่างปกติสุข ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวได้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและมุ่งเอาผิดต่อผู้ซื้อประเวณี ผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และบิดา มารดา ผู้ปกครอง ที่ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้อยู่ในอำนาจปกครองกระทำการค้าประเวณี

ในส่วนกรณีการให้ยกเลิกความผิดทางอาญาที่เกี่ยวกับการค้าประเวณี และให้คุ้มครองสิทธิผู้ขายบริการโดยสมัครใจเช่นเดียวกับการคุ้มครองแรงงานที่ประกอบอาชีพอื่น ๆ นั้น นายเลิศปัญญาระบุว่า พม. ได้ดำเนินการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อปรับปรุงพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 โดยกำหนดโครงสร้างทางกฎหมายให้ครอบคลุมทั้งมาตรการป้องกัน ปราบปราม และการคุ้มครองสวัสดิภาพ และคำนึงถึงหลักการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบที่กำหนดใน CEDAW รวมทั้งจะต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในการจัดทำร่างกฎหมายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ต่อไป  

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง