ไม่พบผลการค้นหา
'วราวุธ' แถลงผลงาน พม. 6 เดือน ในรัฐบาลนายกฯแพทองธาร เดินหน้า เรือธง 9 ด้าน-ศรส.-ศบปภ. ดูแลกลุ่มเปราะบางต่อเนื่อง ย้ำ ขรก.-จนท. พม. อย่าเกียร์ว่าง ทำงานเต็มที่ แม้มีกระแสข่าวปรับ ครม.

วันที่ 9 เมษายน 2568 ที่กระทรวง พม. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) แถลงผลงานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในรอบ 6 เดือน (ตุลาคม 2567 - มีนาคม 2568) โดยมีนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวง พม. เข้าร่วม

นายวราวุธ กล่าวว่า วันนี้ครบ 6 เดือน หลังจากที่ได้แถลงนโยบายของกระทรวง พม.ไว้เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 โดยมีวิสัยทัศน์คือ การทำให้คนไทยมีความมั่นคงในชีวิต และสวัสดิการที่เหมาะสม บนหลักการ “พม. หนึ่งเดียว” อีกทั้งประสานการขับเคลื่อนงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หรือองค์กรระหว่างประเทศ โดยผลการดำเนินงานสำคัญนั้น เริ่มจากโครงการในพระราชดำริ ได้แก่ 1. โครงการจิตอาสาพัฒนาคลองเปรมประชากร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พัฒนาคลองเปรมประชากรทั้งระบบ ซึ่งกระทรวง พม. ได้สนับสนุนให้เกิดความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง 2.การผลิตล่ามภาษามือตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งกระทรวง พม. ได้สนับสนุนเงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้สถาบันการศึกษา (สถาบันราชสุดา และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต) จัดอบรมหลักสูตร 135 ชั่วโมง ให้กับผู้ปฏิบัติงานของศูนย์บริการคนพิการจังหวัด สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และหน่วยงานของคนหูหนวก รวมถึงประชาชนทั่วไป อีกทั้งพัฒนาทักษะล่ามภาษามือ ทำให้ปัจจุบันมีล่ามภาษามือที่จดแจ้งกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) 

และโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ได้แก่

1.โครงการจัดหากายอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือคนพิการ 72,000 ชุด เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยรัฐบาลได้ประกาศให้เป็น 1 ใน 10 โครงการสำคัญของรัฐบาลสวัสดิการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับกลุ่มคนพิการ

2.โครงการแว่นตาผู้สูงวัยในสมเด็จพระเทพรัตนฯ โดยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิสงเคราะห์ของสภากาชาดไทยและห้างแว่นท็อปเจริญ โดย 6 เดือนที่ผ่านมา สามารถช่วยเหลือผู้สูงวัยด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดาร จำนวน 2,400 คน 

สำหรับโครงการตามนโยบายรัฐบาล ได้แก่ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท บรรเทาภาระค่าครองชีพ และกระตุ้นเศรษฐกิจ นั้น กลุ่มเปราะบางที่ได้รับสิทธิ อาทิ กลุ่มคนพิการ ได้รับการโอนเงินสำเร็จไปแล้ว 2,100,000 คน อีกทั้งร่วมร่วมทำงานร่วกับหน่วยงานท้องถิ่นให้บริการออกบัตรให้กับคนพิการเพิ่มเติมกว่า 100,000 คน รวมถึงแจ้งให้คนพิการที่ยังไม่มีช่องทางรับเงินกว่า 30,000 คน ให้เร่งดำเนินการ ในขณะที่ ผู้สูงอายุได้รับการโอนเงินสำเร็จไปแล้วร่วม 2,800,000 คน และมีการจ่ายเงินให้แก่ผู้สูงอายุที่โอนเงินไม่สำเร็จในรอบแรก อีก 150,000 คน 

นายวราวุธ กล่าวว่า ปัญหาวิกฤตประชากร กระทรวง พม. มีศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) เป็นกลไกการบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขปัญหาเหตุด่วนทางสังคม โดย 6 เดือนที่ผ่านมา ศรส. มีการให้บริการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนร่วม 78,000 กรณี โดยขอรับการช่วยเหลือผ่านสายด่วน พม

โทร. 1300 มากที่สุด ร่วม 70,000 กรณี ซึ่งปัญหาที่พบส่วนใหญ่เป็นเรื่องรายได้ ความเป็นอยู่ และคนไร้ที่พึ่ง ขอทาน รวมถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งทางกระทรวง พม. ได้เสนอ “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว” (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมีมติอนุมัติหลักการแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก” พ.ศ. .... ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาบรรจุเข้าวาระที่ประชุม ครม. 

นายวราวุธ กล่าวว่า ปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ กระทรวง พม. มีศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 เพื่อให้ความช่วยเหลือ ดูแล และเยียวยากลุ่มเปราะบางทั่วประเทศจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำท่วมภาคเหนือครั้งใหญ่ หรือน้ำท่วมภาคใต้ หรือเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่ผ่าน นอกจากนี้ ยังได้ทำการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า และจัดทำแผนการดำเนินงานรายจังหวัดและภาค อีกทั้งยังได้หารือร่วมกับกรมบัญชีกลาง เพื่อขอปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ทำให้ได้รับค่าถุงยังชีพเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มเปราะบาง จากเดิมชุดละ 700 บาท เป็นไม่เกิน 1,000 บาท ต่อครอบครัว อีกทั้งยังร่วมมือกับธนาคารโลก (World Bank) ขับเคลื่อนงานทางสังคมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการพัฒนาแผนที่เสี่ยงภัย ที่แสดงข้อมูลกลุ่มเปราะบางในพื้นที่เสี่ยงที่จะประสบภัยพิบัติ เพื่อการช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดและทันท่วงทียิ่งขึ้น

นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับการเสริมพลังในการขับเคลื่อนพันธกิจสำคัญ (Flagship Projec) หรือเรือธง 9 ด้าน เป็นการต่อยอดขยายผลจากนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร เพื่อดูแลพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรอบด้าน ประกอบด้วย

ด้านที่ 1 การยกระดับการพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัย ซึ่งกระทรวง พม. ได้ยกระดับศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้าน ให้มีมาตรฐานสูงขึ้น โดยในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ดำเนินการในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยเรียบร้อยแล้ว จำนวน 8 แห่ง และจะขยายผลให้ครบตามเป้าหมาย 462 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล การพัฒนาแอปพลิเคชันในการกำกับดูแลเด็กปฐมวัยอีกด้วย 

ด้านที่ 2 ปรับปรุงโครงสร้างพื้น ฐานในการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งกระทรวง พม. ได้ดำเนินโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน จากเดิมมีเพียง 31 คน โดยภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา ได้เพิ่มขึ้น 311 คน ทำให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแล จำนวน 34,200 คน นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับ สวทช. ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม Nirun for community เพื่อติดตามและรายงานผลการปฏิบัติงานของผู้บริบาลฯ ซึ่งปัจจุบันเริ่มใช้งานเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 

ด้านที่ 3 การสร้างงาน สร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเปราะบาง ซึ่งกระทรวง พม. ได้ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทุนมนุษย์ การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสังคม ทั้งในระดับจังหวัด 22 จังหวัด และในระดับพื้นที่ในนิคมสร้างตนเอง 25 แห่ง ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง 3 แห่ง และมีโครงการนิคม Next ที่ส่งเสริมการสร้างอาชีพทั้ง ด้านเกษตรกรรม ปศุสัตว์ และหัตถกรรม โดยสมาชิกในนิคมสร้างตนเอง 13 แห่ง มีรายได้เพิ่มขึ้น 8 ล้านบาท

ด้านที่ 4 พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยก้าวข้ามความพิการ สามารถอาชีพ มีรายได้ พึ่งตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี ด้วยการดำเนินโครงการผู้นำคนพิการที่สร้างแรงบันดาลใจ Top 10 แและได้ลงนาม MOU ร่วมกับสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ ในการพัฒนาทักษะคนพิการให้สามารถประกอบอาชีพได้ โดยที่ผ่านมาสามารถสร้างงานกว่า 300 ตำแหน่ง อีกทั้งผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเสนอ ครม.

ด้านที่ 5 การสร้างหุ้นส่วนทางสังคม สู่สวัสดิการที่ยั่งยืน ซึ่งกระทรวง พม. ได้ผลักดันการปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และดำเนินโครงการเสริมพลังวัดพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นการสร้างหุ้นส่วนทางสังคม โดยมีวัดต้นแบบที่จัดสวัสดิการสังคมสำหรับกลุ่มเปราะบาง

ด้านที่ 6 การขับเคลื่อนพันธกรณีระหว่างประเทศที่สำคัญ ซึ่ง 6 เดือนที่ผ่านมา กระทรวง พม. ได้ผลักดันเรื่องความเสมอภาคทางเพศ ในการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพของสตรี ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ (UN) และการคุ้มครองสิทธิเด็ก ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยกระทรวงได้ส่งผู้แทนเยาวชนเข้าร่วมการประชุมเยาวชนโลกด้านความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 3 ที่ประเทศโมร็อกโก อีกทั้งมีการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อคุ้มครองเด็กอพยพหรือเด็กไร้สัญชาติอีกด้วย 

ด้านที่ 7 สื่อสารประชาสัมพันธ์ทางสังคมเชิงรุก เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นที่มีต่อกระทรวง พม. ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่เป็นที่พึ่งของประชาชน โดยสื่อสารสังคมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ เรื่องสิทธิ สวัสดิการ และการให้ความช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพของโฆษกกระทรวง พม. ในทุกระดับทั่วประเทศ 

ด้านที่ 8 การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสังคม ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค จังหวัด และท้องถิ่น โดยมีหลักสูตรเฉพาะเกี่ยวกับงาน (Hard-skill) และทักษะที่สนับสนุนการปฏิบัติงาน (Soft-skills) รวมถึงมีหลักสูตรเพื่อสร้างผู้นำที่มีความพร้อมในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และการพัฒนาบุคลากรให้เป็นนักพัฒนาสังคมมืออาชีพ

ด้านที่ 9 การพัฒนาระบบ พม. ดิจิทัล และฐานข้อมูล โดยมีโครงการ Digitize Data พม. เพื่อสร้างระบบข้อมูลที่เชื่อมโยงและใช้งานร่วมกัน ผ่านระบบเดียวทั้งกระทรวง , โครงการ Data-Driven พม. เพื่อพัฒนาชุดข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) สำหรับติดตามข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย และบูรณาการข้อมูลครัวเรือนเปราะบางเพื่อวางแผนและช่วยเหลือได้แบบครบวงจร และโครงการ Digital Shield พม. ยกระดับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับ Next step 6 เดือนถัดไป กระทรวง พม. ยังต้องขับเคลื่อนการพัฒนาทั้ง ศรส. ศบปภ. และพันธกิจสำคัญ (Flagship Projects) หรือ เรือธง 9 ด้าน ซึ่งงานสำคัญที่จะเกิดขึ้นใน 6 เดือนต่อไป มีดังนี้

1) การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI Chatbot เพื่อจัดการข้อมูล เชื่อมโยงข้อมูล และมพัฒนาข้อมูลสถิติแบบ Real time ในการจัดทำแผนบริหารการจัดการกลุ่มเปราะบางในสถานการณ์ภัยพิบัติระดับจังหวัด

2) การขยายผลศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้าน ทั้งในและนอกพื้นที่นิคมสร้างตนเอง

3) การขยายผลโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชนให้ครอบคลุมทุกจังหวัด

4) การเร่งรัดขับเคลื่อนกิจกรรมภายใต้ โครงการนิคม Next พมจ. Next และราษฎรบนพื้นที่สูง Next

5) การขยายผลโครงการผู้นำคนพิการและจัดกิจกรรม Career Connect เพื่อเชื่อมโยงระหว่างคนพิการกับผู้ประกอบการ

6) การขยายผลโครงการเสริมพลังวัดพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง ไปสู่วัดในทุกจังหวัด พร้อมทั้งดำเนินการไปสู่ศาสนสถานของศาสนาอื่นๆ

7) การจัดงาน Social Development Expo 2025 (SDx 2025) ในเดือนสิงหาคม 2568 ซึ่งจะมีการเปิดพื้นที่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จากประเทศสมาชิกอาเซียน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

8) หลักสูตรการพัฒนาบุคลากรด้านการพัฒนาสังคมระดับประเทศ ภูมิภาค จังหวัด โดยสถาบันพระประชาบดี

9) การเพิ่มประสิทธิภาพระบบดิจิทัล เพื่อการบริการประชาชน พม. Smart และ MSO Logbook อีกทั้ง ขยายการใช้งานระบบคลาวด์ Cloud First Policy พร้อมยกระดับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

นายวราวุธ กล่าวว่า นอกจากพันธกิจสำคัญทุกด้านแล้ว ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวง พม. ยังคงปฏิบัติงานตามขอบเขตความรับผิดชอบอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะการดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชนกลุ่มเปราะบาง อาทิ การดูแลและจัดการปัญหาคนเร่ร่อน ขอทาน ด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้ที่พึ่ง และการประกาศพื้นที่สร้างสรรค์ให้แสดงความสามารถแทนการขอเงิน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รวมถึงการสร้างคนและสร้างเครือข่ายเป็นอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และส่งเสริมบทบาทองค์กรภาคธุรกิจให้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม (CSR) มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้ขับเคลื่อนการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสำหรับคนทุกช่วงวัย เช่น โครงการปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ คนพิการ โครงการบ้านมั่นคงสำหรับแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด โครงการบ้านพอเพียงสำหรับการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั่วคราว โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง โครงการบ้านเพื่อตายาย และโครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย อีกทั้งมีการบรรเทาภาระทางการเงินให้ผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง โดยมีสถานธนานุเคราะห์ (สธค.) เป็นโรงรับจำนำเพื่อสังคม 47 แห่งทั่วประเทศ ดำเนินโครงการ สธค. ใจดี ฟรีดอกเบี้ย 1 เดือน และโครงการ ลดดอกเบี้ยช่วงเปิดภาคเรียน

“วันที่ 9 ตุลาคม 2567 เราทำงานใหม่ในสถานที่เดิม กระทรวง พม. ภายใต้การนำรัฐบาลของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งวันนี้ครบรอบ 6 เดือน เรายังเหลือเส้นทางอีกไกลที่ยังต้องทำงานต่อไป และจากกรณีที่มีกระแสข่าวการปรับ ครม. นั้น ขอให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. อย่าไปสนใจกระแสข่าวดังกล่าว ซึ่งการปรับ ครม. เมื่อไรนั้นผมไม่ทราบ เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี แต่วันนี้ตราบใดที่ยังดำรงตำแหน่ง รมว.พม. จะทำงานจนถึงนาทีสุดท้าย ซึ่งได้วางแผนงานไว้ 6 เดือนล่วงหน้าแล้ว ดังนั้น ขอเน้นย้ำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวง พม.ทุกคน ทำงานอย่างเต็มที่ อย่าใส่เกียร์ว่างในการทำงาน อย่าเบาเครื่อง อย่าชะลอเครื่อง เพราะว่าปัญหาของพี่น้องประชาชนรอไม่ได้ ในทางกลับกันหากผมกลัวการปรับ ครม. ก็ยิ่งต้องเร่งเครื่องทำงานให้เต็มที่ ส่วนที่ผู้สื่อข่าวให้ผมประเมินผลการทำงานของตัวเองนั้น ถ้าคะแนนเต็ม 10 แล้ว ผมให้คะแนน 5 คะแนน เพราะยังต้องทำงานอีกเยอะ วันนี้เรามาได้ 5 คะแนนแล้ว เหลืออีก 5 คะแนน ที่จะต้องทำงานต่อไป” นายวราวุธ กล่าว