ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายต้านกม.ควบคุมการรวมกลุ่มปชช. นัดชุมนุมใหญ่หน้าทำเนียบ 23 พ.ค. ระบุปักหลักค้างคืนยืดเยื้อจนกว่า ครม. จะมีมติยกเลิกร่างกฎหมายทั้งหมด อัดกระบวนการรับฟังความเห็นของ พม. ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ขัดรธน.มาตรา 77 เลือกฟังเฉพาะองค์กรที่เห็นด้วย-ควบคุมได้ ย้ำรัฐหวังใช้กฎหมายฉบับนี้จัดการม็อบต้านรบ.แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โควิดหมดอ้างต่อไม่ได้

วันนี้ ( 7 พ.ค.65 ) เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหัวหน้าพรรคสามัญชนและตัวแทนขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชนกล่าวถึงความคืบหน้ากรณีเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศได้เดินทางไปยังกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เมื่อวันที่ 24 มี.ค. เพื่อแสดงพลัง และจุดยืนต่อต้านร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ…. และกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนนั้น 

ประเด็นแรกทาง พม. ได้ขยายเวลาการรับฟังความเห็นร่างกฎหมายดังกล่าวออกไปอีก ครั้งแรก 7 วัน คือจากวันที่ 24 มี.ค. – 1 เม.ย.ที่ผ่านมา และเมื่อครบกำหนดแล้วยังขยายต่อไปอีก 1 เดือน อย่างไรก็ตามถึงผลตอบรับจากการชุมนุมของเราจะไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย คือการยกเลิกการรับฟังความเห็นและยกเลิกร่างพ.ร.บ.ทุกฉบับที่เกี่ยวข้องการควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน 

แต่อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่า พม. ก็ไม่ได้มีความมั่นใจต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของตัวเองที่ผ่านมา คล้าย ๆ กับว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นของตัวเองยังมีข้อบกพร่องอยู่และไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เช่น รับฟังความคิดเห็นไม่ทั่วถึงและมีแต่การรับฟังความคิดเห็นระบบออนไลน์ที่กลุ่มองค์กรประชาชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ 

อัด พม. ออกเอกสารบิดเบือนข้อเท็จจริงของร่าง กม. ควบคุมการรวมกลุ่มปชช. และกำลังจำกัดคนหรือขบวนประชาชนที่ควบคุมได้เท่านั้น

เลิศศักดิ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่สองก็มีการออกเอกสารบิดเบือน 5 ข้อความคิดเห็นที่ไม่ถูกต้องต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อโจมตีขบวนการของพวกเราที่ไปชุมนุมมา เพื่อทำลายความชอบธรรมของขบวนการเคลื่อนไหวของพวกเรา และสิ่งนี้ก็กระทบกระเทือนไปถึงสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ที่ถูกอ้างถึงในจดหมายว่าจะต้องเป็นหน่วยงานที่เอาจดหมายของ พม. และเอกสารฉบับ 5 ข้อคิดเห็นไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้กับขบวนประชาชนเครือข่ายของ พอช. ได้รับรู้อย่างทั่วถึง

คำถามใหญ่คือ พอช. จะปฏิบัติตาม พม. หรือไม่ หากดำเนินการก็แสดงว่า พอช. กำลังเลือกยืนอยู่ข้างที่ไม่ถูกต้อง และทำให้สภาองค์กรชุมชนยืนผิดข้างด้วย เพราะสภาองค์กรชุมชนไม่ใช่ขบวนประชาชนทั้งหมดที่มีอยู่ในสังคมไทย สิ่งที่ พม. กำลังทำคือจำกัดขอบเขต คัดเลือกขบวนการประชาชนที่ตัวเองคิดว่าว่านอนสอนง่ายหรือควบคุมทิศทางได้เท่านั้น

แต่ขบวนประชาชนอื่นที่คิดว่าควบคุมไม่ได้ก็จะไม่ชี้แจง ไม่กล่าวถึงและไม่เอามารวมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาใหญ่ เราคิดว่า พม. กำลังกระทำการบิดเบือนในประเด็นสำคัญเรื่องรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญตามมาตรา 77 เพราะกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต้องครบถ้วนสมบูรณ์และขยายให้กว้างขวางต่อขบวนประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ พม. กำลังจำกัดคนหรือขบวนประชาชนที่ควบคุมได้เท่านั้น 

ย้ำประเด็นสำคัญของ กม. ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนต้องการเอามาใช้ควบคู่กับ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะและเอามาทดแทนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เลิศศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขอย้ำว่าประเด็นสำคัญคือร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ต้องการเอามาใช้ควบคู่กับ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็นกฎหมายที่พยายามจำกัดควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น สิทธิ และเสรีภาพต่างๆ ปัญหาคือ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะที่ออกมามีช่องโหว่ใหญ่โตที่ยังไม่สามารถทำลายการรวมกลุ่มของประชาชนได้มากนักตามที่รัฐต้องการ หลักการคือแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบเพื่ออำนวยสะดวกให้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบเท่านั้น ซึ่งต่างจากสิ่งที่รัฐต้องการคือต้องขออนุญาตจัดการชุมนุม ดังนั้นสิ่งที่รัฐทำในช่วงโควิดที่ผ่านมาคือการอ้างสถานการณ์โควิดแล้วเอา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขึ้นมาใช้แทน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ อ้างว่าการชุมนุมการรวมกลุ่มของประชาชนจะกระทำมิได้เลยเพราะจะเป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรการการคุ้มครองโรคเพื่อไม่ให้เชื้อโรคขยายด้วย เป็นการเอา พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาใช้จนเกินเลยขอบเขต แทนที่จะควบคุมโรคกลายเป็นการควบคุมคน 

เลิศศักดิ์ กล่าวว่า ดังนั้นเมื่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินถูกใช้อย่างมากจนเกินควรโดยอ้างเหตุฉุกเฉินที่ไม่สมเหตุสมผล ถ้าหมดโควิดไปแล้วจะเอา พ.ร.ก.ฉุกเฉินขึ้นมาใช้เพื่ออ้างเหตุฉุกเฉินไม่ให้เกิดการรวมกลุ่มรวมก้อนอีกก็ไม่ได้ ตอนนี้สิ่งที่รัฐทำคือว่าเห็นช่องใหม่ว่าการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ผ่านมาในรอบ 2-3 ปี ในการออกมาไล่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี การเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันฯ หรือเขียนรัฐธรรมนูญใหม่นั้น รัฐเห็นว่ายังมีอีกเรื่องที่หากทำได้ก็จะสามารถควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนได้ ก็คือต้องตัดเส้นทางและช่องทางการเงินต่าง ๆ เพราะมองว่าการชุมนุมตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ขบวนการใหญ่โตได้ขนาดนี้เกิดจากการที่กลุ่มองค์กรประชาชนต่าง ๆ มีการสนับสนุนทางการเงินจากองค์กรระหว่างประเทศ จึงเห็นช่องสำคัญว่าถ้าออกกฎหมายมาเพื่อสกัดหรือตัดช่องทางการเงิน ตลอดจนควบคุมอายัดเส้นทางทางการเงินได้ จะทำให้ขบวนประชาชนทั้งหมดอ่อนแอลงไม่สามารถเกิดการรวมกลุ่มรวมก้อนได้อย่างมีพลัง จึงต้องการให้กฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ เพื่อควบคู่กับ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และเพื่อที่จะให้สมเหตุสมผลมากกว่าการอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เกินความจำเป็น 

ประกาศนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ พร้อมปักหลักชุมนุมยืดเยื้อนอนค้างที่หน้าทำเนียบรัฐบาล จนกว่า ครม.จะมีมติยกเลิกการผลักดันร่างพรบ.ควบคุมการรวมกลุ่มปชช.

“เรายังยืนยันอย่างชัดเจนและหนักแน่นว่าเป้าหมายของเราคือการยกเลิกร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ…. และกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนให้ได้ เรามีความหวังว่าถ้าพี่น้องมารวมตัวกันจำนวนมากจะเป็นพลังสำคัญในการผลักดันเป้าหมายนี้ให้สำเร็จได้ โดยจะมีการนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นการปักหลักชุมนุมยืดเยื้อนอนค้างที่หน้าทำเนียบรัฐบาล จนกว่า ครม.จะมีมติยกเลิกการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ ถ้าใครอยากเข้าร่วมก็มาได้เลย ขอเชิญชวนพี่น้องทุกท่านให้เข้ามาร่วมกันในครั้งนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นร่างกฎหมายที่สำคัญที่จะทำลายการรวมกลุ่มรวมก้อนของประชาชน การรวมกลุ่มของประชาชนก็คือพลังอันสำคัญ ถ้าถูกทำลายไปก็จะทำให้ไม่มีพลังต่อรอง ไม่มีเครื่องมือที่สำคัญในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ ทั้งพี่น้องในระดับปัจเจกบุคคล ระดับที่เป็นกลุ่มเป็นก้อนต่างๆ ต้องออกมาร่วมมือกัน ถ้าร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกออกมาบังคับใช้จะทำให้กลุ่มองค์กรต่างๆ อ่อนแอหมด ดังนั้นจึงคิดว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญมากที่ทุกฝ่ายจะต้องออกมารวมพลังกัน" เลิศศักดิ์ กล่าว

หากใครสนใจที่อยากจะเข้าร่วมก็สามารถติดตามข่าวสารการเคลื่อนไหวของเราได้ทางเพจ NoNpoBill https://www.facebook.com/nonpobill/