เพราะในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ สื่อมวลชนอย่าง ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ ออกมาเปิดเผยว่าคุยกับ ‘ผู้ใหญ่’ หลายวงต่างกังวลว่าหลังเลือกตั้งจะมีการใช้วิธีการยุบพรรคกันอีกหน ประกอบกับสมชัย ศรีสุทธิยากร ก็ให้สัมภาษณ์สับทับว่า หากพิจารณารูปการณ์แล้วน่าจะมี 4 พรรคการเมืองที่ถูกร้องเรียนไว้ และมีความเสี่ยงต่อการยุบพรรค โดยไม่ได้ระบุชื่อพรรคหรือกรณีที่ร้องเรียน
‘วอยซ์’ รวบรวมข้อมูลชวนจับตาประเด็นของ 4 พรรคสำคัญที่ยังมีเรื่องอยู่ในการพิจารณาของ กกต. โดยมีการหยิบยกปัญหาระหว่างปราศรัยเป็นส่วนใหญ่ จะมีก็แต่พรรคเพื่อไทยที่ถูกกล่าวหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย เรื่องเหล่านี้ หาก กกต.พิจารณาว่ามีความผิด จะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากมีการยุบพรรค กรรมการบริหารพรรคก็จะต้องถูกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง โดยตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กำหนดเวลาในการตัดสิทธิ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรม และกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบ จะไม่สามารถจดทะเบียนตั้งพรรคใหม่และเข้าร่วมเป็นกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี
ทุนจีนเทาบริจาค พลังประชารัฐสะเทือน
เริ่มที่ ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ที่มี ‘พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ กุมบังเหียนเป็นหัวหน้าพรรค จากการทลายกลุ่มทุนจีนสีเทา แต่สะเทือนมาถึงพรรคพลังประชารัฐ จากการตรวจสอบมีชื่อของนักธุรกิจชาวจีน ‘ตู้ห่าว’ หรือ ‘ชัยณัฐร์ กรณ์ขายานันท์’ ที่ได้รับสัญชาติไทยหลังแต่งงานกับภรรยาคนไทย ในเวลาต่อมาปรากฏชื่อ ‘ชัยณัฐน์’ บริจาคเงินให้พรรคพลังประชารัฐจำนวน 3 ล้านบาท ซึ่งแกนนำพรรคยอมรับว่าเป็นความจริง เพราะเขาศรัทธาพรรคและไม่มีสัมพันธ์กับบุคคลใดภายในพรรค และเงินที่ได้รับนั้นถูกต้องตามกฎหมายพรรคการเมือง
ต่อครหาที่เกิดขึ้น ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต.ให้ตรวจสอบกรณีรับเงินบริจาคจากนายทุนจีน ซึ่งอาจเข้าข่ายขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 72 และมาตรา 74
มาตรา 74 ห้ามพรรคการเมืองหรือสมาชิกพรรครับเงินบริจาคหรือประโยชน์ จากบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในราชอาณาจักร โดยมีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีทุนหรือเป็นผู้ถือหุ้นเกิน 49% ซึ่งหากพบว่าเข้าเงื่อนไขต้องห้าม กกต.ต้องชงเรื่องไปที่ศาล รธน. ให้ยุบพรรคพลังประชารัฐ
ขณะที่มาตรา 72 ระบุข้อห้ามไม่ให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากกระทำการฝ่าฝืนให้ กกต. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น ซึ่งในมาตรา 72 เคยถูกใช้ยื่นยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 2562 จากคดีเงินกู้มาแล้ว ซึ่งการยื่นตรวจสอบปมเงินบริจาคนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบของ กกต. ด้าน แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.และนายทะเบียนพรรคการเมือง ยืนยันว่าจะตรวจสอบตามมาตรฐานเหมือนกันกับทุกพรรคการเมือง
‘เพื่อไทย’ โดนครหาครอบงำพรรค-กระเป๋าดิจิทัล
ต่อมาคือ ‘พรรคเพื่อไทย’ ที่ถูกนักร้องเจ้าเก่าเจ้าเดิมอย่างศรีสุวรรณ จรรยา และ สนธิญาน สวัสดี สลับกันเดินทางยื่นคำร้องต่อ กกต. โดยมุ่งเป้าไปที่การครอบงำพรรคโดย ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี และกรณีการออกนโยบายเงินดิจิทัล ที่กำลังถูกตั้งคำถามถึงที่มาที่ไปของเงินที่จะถูกนำมาใช้บริหารนโยบาย
ย้อนไปเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ศรีสุวรรณ ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต.กรณี ทักษิณ กล่าวในช่วงหนึ่งของรายการกลุ่ม CARE คิดเคลื่อนไทยในหัวข้อ “จากคิดใหม่ ทำใหม่” ถึง “คิดใหญ่ ทำเป็น” หลังมีการวิพากวิจารณ์นโยบายขึ้นค่าแรง 600 บาท โดยศรีสุวรรณระบุว่ากรณีนี้อาจเข้าข่ายการชี้นำ ครอบงำกิจกรรมหรือนโยบายของพรรคการเมือง ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ หากตรวจสอบแล้วพบว่าเข้าข่าย อาจมีความผิดตามมาตรา 92 (3) ถึงขั้น กกต. เสนอศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคได้
เช่นเดียวกับกรณีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 สนธิญา ยื่นคำร้องต่อ กกต. โดยอาศัย มาตรา 224 ตาม รธน. เพื่อให้ กกต.ตรวจสอบพรรคเพื่อไทย ตามที่เสนอนโยบายเพื่อชี้แจงเงินที่มาและความเสี่ยงในการใช้งบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งสนธิญานเตือนพรรคเพื่อไทยว่าหากนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัลไม่เป็นจริง อาจเข้าข่ายหลอกลวงเพื่อได้คะแนนนิยม และนำไปสู่ความผิดตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 ถึงขั้นถูกยุบพรรคได้
ภายหลังพรรคเพื่อไทยเข้ายื่นชี้แจงนโยบาย ในวันที่ 21 เมษายน 2566 ศรีสุวรรณ ได้ยื่นเรื่องต่อ กกต.โดยเห็นว่าการชี้แจงของพรรคเพื่อไทยไม่สอดคล้องกับมาตรา 57 ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง เพราะไม่ได้ชี้แจงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการนำเงินมาใช้ในนโยบาย เกินไปกว่าข้อเท็จจริง
ก่อนหน้านี้ศรีสุวรรณ ได้ยื่นเรื่องต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อขอให้ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจตาม ม.244 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 เพื่อตรวจสอบว่า นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่จะแจกเงินดิจิทัลให้กับคนไทยนั้น เสี่ยงต่อการทำลายระบบวินัยการเงินการคลังของรัฐตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ม.244 กำหนดให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจและหน้าที่ในการตรวจสอบนโยบายการใช้จ่ายเงินที่อาจทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมได้ โดยการทำความเห็นส่งหรือแจ้งไปยังคณะกรรมการ กกต. และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องได้
สอย ‘รวมไทยสร้างชาติ’ พาดพิงสถาบัน-แจกของ
อีกหนึ่งพรรคที่ถูกร้องคือ ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี มีการยื่นเรื่องขอให้ กกต.ตรวจสอบกรณีการจัดประชุมใหญ่ โดย สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย พร้อม วีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน
‘สมชัย’ ขอให้ตรวจสอบใน 5 ประเด็น ประกอบไปด้วย 1.ให้ กกต. วินิจฉัยการใช้ยานพาหนะขนคนข้ามจังหวัดมาฟังการปราศรัย เพราะเห็นว่าการขนคนถือเป็นการใช้ประโยชน์ที่สามารถตีเป็นมูลค่าเป็นเงินหรือไม่
2.การแจกเสื้อ หมวก และธง โดยไม่มีการเรียกคืน พบว่ามีการแจกประมาณ 4,000 ชุด มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท ซึ่งมีพยานยืนยันว่ามีบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคได้รับการแจกโดยไม่มีการเรียกคืน 3.การจัดมหรสพโดยนำ ชัชชัย สุขขาวดี หรือ หรั่ง ร็อคเคสตร้า ศิลปินชื่อดัง มาร่วมขึ้นร้องเพลงบนเวทีหาเสียง เข้าข่ายมหรสพหรือบันเทิงสามารถทำได้หรือไม่
4.การปราศรัยของ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี สมาชิกพรรค มีการใช้ถ้อยคำหยาบคายพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในทางที่ไม่เหมาะสม ถือเป็นทำผิดระเบียบการหาเสียงของ กกต.อย่างชัดเจน
5.การจัดประชุมใหญ่วิสามัญของพรรค รทสช. จากการกล่าวการปราศรัยของหัวหน้าพรรค ได้ระบุว่าวันไหนเป็นประชุมวิสามัญของพรรค แต่ไม่มีการลงชื่อของผู้เข้าร่วมประชุม หรือการลงมติเลือกกรรมการสรรหาก็ไม่ปรากฎให้เห็น จึงอาจไม่มีการจัดประชุมจริง เพียงแต่ว่าใช้ชื่อการประชุมเพื่อบังหน้า แต่เป็นการจัดประชุมเพื่อหาเสียง
สำหรับประเด็นที่น่าสนใจของการยื่นคำร้องครั้งนี้คือ ‘สมชัย’ เคยโพสต์ข้อความถึงประเด็นที่ 2 เนื่องจากที่ซองเขียนว่า “ทรัพย์สินของพรรค ใช้เฉพาะในงานประชุม” แต่กลับให้คนใส่เอากลับบ้านได้ ถือเป็นการแจกทรัพย์สิน อันอาจคำนวณเป็นเงินเพื่อจูงใจเลือกตั้ง ผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73(1) หรือไม่ หากกรรมการบริหารพรรครู้เห็นเป็นใจ ก็ไปไกลถึงยุบพรรค ตามมาตรา 158 วรรคสาม
‘ศรี’ จี้สอบ ‘ก้าวไกล’ ปราศรัยพาดพิงโครงการพระราชดำริ
ด้าน ‘พรรคก้าวไกล’ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะรอดพ้นการยุบพรรค ทั้งปมการใช้ตำแหน่ง ส.ส.ประกันตัวแกนนำม็อบ และการเสนอแก้ไข มาตรา 112 สั่งยุติไปแล้ว ทว่าล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 ในช่วงการปราศรัยหาเสียง ‘ศรีสุวรรณ’ ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบถ้อยคำปราศรัยของ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 และกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่ได้ปราศรัยหาเสียงพาดพิงสถาบัน ที่ จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2566
ศรีสุวรรณ ชี้ว่ามีการปราศรัยพาดพิงโครงการพระราชดำริ ซึ่งมองว่าเป็นการปราศรัยที่ให้ร้ายสถาบัน อาจจะเข้าข่ายความผิดหรือฝ่าฝืนตามข้อ 17 ของระเบียบ กกต. ว่าด้วยการหาเสียงเลือกตั้ง 2561 ในขณะเดียวกัน พ.ร.ป.การหาเสียงเลือกตั้งส.ส. 2561 มาตรา 73 (5) ระบุว่าห้ามพรรคการเมือง หรือผู้ใดไปดำเนินใดๆ ในลักษณะที่เป็นการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก็ถือว่าเป็นความผิด หาก กกต.วินิจฉัยตามคำร้อง สามารถเสนอให้ ศาล รธน.ยุบพรรคการเมืองได้ตามมาตรา 93 ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง
ทั้งนี้โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ได้สรุป 21 เงื่อนไขที่อาจใช้สั่งยุบพรรคการเมือง ตามหลักเกณฑ์ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 (กฎหมายพรรคการเมือง) พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 (กฎหมายเลือกตั้ง) รวมทั้งรัฐธรรมนูญ 2560
โดยมีเงื่อนไขที่น่าสนใจ อาทิ กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92(1)) , กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92(2))
ยินยอมให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกพรรค ควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92(3) 28), ให้เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อจูงใจให้สมัครเข้าเป็นสมาชิก (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92(3), 30)
อีกหลักเกณฑ์คือ การรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่น จากผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย บริษัทต่างชาติ คณะบุคคลที่ได้รับเงินอุดหนุนจากต่างประเทศ (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92(3) 74), หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีส่วนรู้เห็นหรือไม่ได้ยับยั้ง กรณีที่มีผู้สมัครทำให้การเลือกตั้งนั้นไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม (กฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 132 วรรคสาม) เป็นต้น
ขณะที่สำนักข่าวประชาไท รายงานว่านักวิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เคยให้ความเห็นกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 2563 โดยระบุความว่า ในช่วงหลัง 20 ปีที่ผ่านมา การยุบพรรคการเมืองกลายเป็นกระบวนการเพราะพรรคการเมืองทำผิดกฎเกณฑ์ตามกฎหมายพรรคการเมือง หรือมีความผิดในทางกฎหมายบางอย่าง ที่พระราชบัญญัติพรรคการเมืองกำหนดไว้ มันก็เลยกลายเป็นว่าหลายพรรคถูกยุบ
โดยเฉพาะพรรคที่มี ส.ส.มาก เป็นพรรคขนาดใหญ่ อย่างเช่นการยุบพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน หรือไทยรักษาชาติ ซึ่งในทางทฤษฎีการเมือง การที่เราจะสร้างประชาธิปไตยต้องทำให้พรรคการเมืองเติบโตเข้มแข็ง ถ้าพรรคการเมืองเข้มแข็ง ประชาธิปไตยก็เข้มแข็ง ดังนั้นสิ่งที่เราจะเห็นตลอดมาคือรัฐประหารจะพยายามทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอและสลายตัว ออกแบบให้พรรคการเมืองมีขนาดเล็กหรือขนาดกลาง หรือทำให้ ส.ส.ไม่ต้องขึ้นกับพรรคการเมือง เพื่อทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอ พลังประชาชนไม่สามารถไปต่อสู้คัดค้านอำนาจของกลุ่มเผด็จการหรือคณะรัฐประหารได้