ไม่พบผลการค้นหา
สรุปข้อกล่าวหาของ กกต. กรณียื่นคำร้องต่อศาล รธน. เพื่อยุบพรรคอนาคตใหม่ ปมกู้เงิน 191.2 ล้านบาท จาก 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' ถือเป็นการรับเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมข้อโต้แย้งของ อนค. ยืนยันการกู้เงินเป็นหนี้สิน ไม่ใช่รายได้ ย้ำการยุบพรรคการเมืองอาจขัดรัฐธรรมนูญ

79 วัน คือ ระยะเวลาที่นับจากวันที่นายศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดนี้ถูกแต่งตั้งขึ้นในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีการกู้ยืมเงินระหว่างนายธนาธร จึงรุงเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กับพรรคอนาคตใหม่ ว่าเป็นการกระทำที่ขัดหรือฝ่าฝืน มาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จำนวน 191.2 ล้านบาท จนถึงวันที่ กกต. มีมติเสียงข้างมากยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ หลังที่ประชุมเห็นว่า การที่พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจาก นายธนาธร 191.2 ล้านบาท เป็นการกระทำฝ่าฝืน มาตรา 72 แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง

72 วัน คือระยะเวลาที่นับจากวันที่ กกต. มีมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ จนถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคดีดังกล่าว รวมระยะเวลาทั้งหมด 151 วัน

กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. รวมคู่สมรสจำนวนกว่า 5,600 ล้านบาท โดยมีการแจ้งรายการที่น่าสนใจ คือ เงินปล่อยกู้ยืมแก่พรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191.2 ล้านบาท สัญญาแรก 161.2 ล้านบาท และสัญญาที่สอง 30 ล้านบาท

วอยซ์ ออนไลน์ ชวนทบทวนข้อกล่าวหา กกต. และข้อโต้แย้งของ พรรคอนาคตใหม่ ในคดีนี้ ก่อนศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสิน 21 ก.พ. นี้

ประธาน กกต กรรมการการเลือกตั้ง อิทธิพร บุญประคอง 20190123_Sek_03.jpg


เหตุผล กกต. ยื่นยุบพรรคอนาคตใหม่

ในการประชุมประชุม กกต. เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2562 ที่ประชุมมีมติเห็นว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อว่าการกู้เงินนายธนาธร ของพรรคอนาคตใหม่เป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72 แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง จึงมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ตาม มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง

ทั้งนี้มาตรา 72 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วน มาตรา 92 บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น วรรคหนึ่ง (3) กระทําการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74 

ขณะที่กระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของ กกต. ได้มีมติพิจารณาตัดพยานหลักฐาน หลังจากที่พรรคอนาคตใหม่ขอขยายระยะเวลาอีก 120 วัน ในการส่งข้อมูลพยานหลักฐาน

โดย กกต. แจ้งว่า เอกสารหลักฐานการกู้ยืมเงินของพรรคอนาคตใหม่นั้น เป็นเอกสารที่อยู่ในการครอบครองของพรรคอยู่แล้ว ไม่ต้องรอรอบเวลาเพื่อที่จะรวบรวม และถือเป็นเอกสารที่เป็นประโยชน์ต่อพรรคอนาคตใหม่ที่จะยืนยันให้ กกต. เชื่อว่ามีการกู้ยืมเงินกันจริง ดังนั้นเมื่อพรรคอนาคตใหม่ไม่สามารถนำส่งเอกสารหลักฐานดังกล่าวได้ ถือว่าเป็นผลเสียต่อพรรคเอง กกต. จึงมีมติให้ตัดพยานหลักฐานที่เหลือ และให้คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนกรณีนี้ พิจารณาจากพยานหลักฐานที่พรรคอนาคตใหม่ส่งมาบางส่วนก่อนหน้านี้ และให้เสนอที่ประชุม กกต. พิจารณา

ต่อมาในวันที่ 10 ม.ค. 2563 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยว่ากรณีดังกล่าว กกต. ได้มีมติส่งเรื่องต่อให้คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน คณะที่ 13 ที่มี นายเกรียงศักดิ์ ม่วงอ่อน เป็นประธาน หลังจากนั้น ได้เรียกตน เหรัญญิกพรรค หัวหน้าพรรค และผู้เกี่ยวข้องไปสอบสวนในฐานะพยาน ซึ่งสุดท้ายคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนได้มีมติยกคำร้องไปแล้ว แต่ กกต. ยังคงเดินหน้าพิจารณาและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ

"หากยกคำร้องแล้ว คดีของพรรคอนาคตใหม่จะต้องจบ โดยคณะที่ 13 ให้เหตุผลว่า เป็นการกู้เงินกันจริง พรรคการเมืองสามารถกู้เงินได้ เพราะไม่มีกฎหมายข้อใดห้าม และในอดีตพรรคการเมืองอื่นๆ ก็กู้เงินเช่นกัน โดยในเอกสารระบุไว้ว่าพรรคการเมืองใดเคยกู้เงินบ้าง และยังระบุอีกว่า เงินกู้ไม่ใช่รายได้ แต่เป็นหนี้สิน ดังนั้น จึงไม่เข้ามาตรา 62 เรื่องแหล่งที่มาของรายได้"

นายปิยบุตร ระบุด้วยว่า พรรคอนาคตใหม่กู้มาเพื่อทำกิจกรรมทางการเมือง มิใช่เอาไปทำธุรกิจเพื่อแสวงหากำไร คณะกรรมการสืบสวนและไต่จึงสรุปว่า การกู้เงินของพรรคอนาคตใหม่กู้ได้ จึงไม่ผิดตามมาตรา 66 ว่าคุณธนาธรบริจาคเกิน 10 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งพยานในฝ่ายเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ กกต.ที่ทำเรื่องกิจการพรรคการเมือง ให้เหตุผลทำนองนี้ตรงกันหมดเกือบทุกคน"

อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ให้สัมภาษณ์ในวันเดียวกันว่า แม้กรรมการสืบสวนไต่สวนเห็นควรยกคำร้อง แต่ที่ประชุม กกต.มีความเห็นประเด็นข้อกฎหมายที่ต่างไป และเรื่องทั้งหมดเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ที่จะวินิจฉัยออกมาในแนวทางใด และให้ตั้งคณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง พิจารณาเรื่องนี้ต่อ ก่อนจะมีมติ 3-2 ให้ดำเนินคดี และส่งเรื่องต่อให้ กกต.

โดยหนึ่งในความเห็นของอนุกรรมการใน 3 เสียงที่ให้เอาผิดพรรคอนาคตใหม่ตั้งข้อสังเกตคำชี้แจงของพรรคว่ากู้เงินก้อนแรก 161.2 ล้านบาท และทยอยใช้คืนไปบางส่วนพร้อมดอกเบี้ยแล้ว ทำไมยังต้องกู้เงินก้อนอีก 30 ล้านบาทจึงมีพิรุธกับการให้การของนายธนาธรและนายปิยบุตร ที่ว่าได้นำส่งคืนเงินกู้ไปแล้วบางส่วน นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่าการให้กู้โดยไม่มีหลักประกันสัญญาใดๆ ถือเป็นการให้ประโยชน์แก่พรรคเกิน 10 ล้านบาทต่อปี


ข้อโต้แย้ง และข้อสงสัย คดีกู้เงินพรรคอนาคตใหม่
ปิยบุตร อนาคตใหม่ ยุบพรรค  014.jpg

ไม่ใช่แค่อนาคตใหม่ที่กู้เงิน

14 ม.ค. 2563 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาเปิดเผยว่า นอกจากพรรคอนาคตใหม่ ยังมีพรรคอื่นกู้ยืมเงินอีก โดยเอกสารงบการเงิน ลงวันที่ 31 ธ.ค. 2561 ที่ทุกพรรคนำส่ง กกต. ภายในเดือนพ.ค.2562 มีถึง 18 พรรค (รวมพรรคอนาคตใหม่) ที่ปรากฏรายการเงินกู้ในเอกสารงบการเงินดัง โดยในจำนวนดังกล่าวนี้ มีพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ด้วย แต่เหตุใด กกต. จึงพุ่งเป้ามาที่ ‘อนาคตใหม่‘

ต่อมา 18 ก.พ. 2563 นายปิยบุตร แสงกนกกุล แถลงปิดคดีนอกศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดอ่านคำวินิจฉัย โดยยืนยันว่า เงินกู้ไม่ใช่ประโยชน์อื่นใด แต่คือหนี้สิน ตามหลักการบัญชีเขียนไว้ชัดเจนว่าเงินกู้ เงินยืมทั้งหลายจะอยู่ในหมวดหนี้สิน

นิยามของการบริจาค ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 66 ให้ความหมายว่า “การให้เงินหรือทรัพย์สินแก่พรรคการเมืองนอกจากค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมือง และให้หมายความรวมถึงการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมืองบรรดาที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ตามที่คณะกรรมการกำหนดด้วย"

ส่วนนิยามคำว่า “ให้” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 521 นั้น สำหรับเงินกู้ก็มีความชัดเจนว่าไม่ใช่การให้ เพราะเงินกู้คือเมื่อถึงเวลาก็ต้องใช้คืน เป็นหนี้สิน นายธนาธร ในฐานะผู้ให้กู้ ประกาศชัดเจนว่าจะทวงคืนทุกบาททุกสตางค์ที่พรรคกู้ไป พรรคเองก็ทำแคมเปญช่วยกันระดมทุน ช่วยกันบริจาค ช่วยกันซื้อสินค้าที่ระลึกพรรคเพื่อเอาเงินไปใช้หนี้ แบบนี้จะเป็นเงินบริจาคได้อย่างไร และยังได้ชำระหนี้ไปแล้วบางส่วน มีเอกสารเรียบร้อย จึงไม่มีทางเข้าข่ายเงินบริจาคได้เลย

อีกทั้งในกระบวนการพิจารณาในชั้น กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เรื่องนี้ กกต. มีการดำเนินคดีกับพรรคอนาคตใหม่ อยู่ 2 ช่องทางคือตามมาตรา 66 และมาตรา 72 กรณีมาตรา 66 เริ่มต้นเมื่อ 4 มิ.ย. 62 คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนที่ 13 เรียกเจ้าหน้าที่ กกต. ฝ่ายบัญชีพรรคการเมือง นายธนาธร นายปิยบุตร และเหรัญญิกพรรคไปเป็นพยาน จนเมื่อ 23 ส.ค. คณะกรรมการฯ ก็ยกคำร้องด้วยมติเอกฉันท์ว่าพรรคการเมืองกู้เงินได้ เงินกู้ไม่ใช่เงินบริจาค 

ต่อมา กกต. ส่งไปให้สำนักสืบสวนที่ 18 ในวันที่ 23 ก.ย. คณะกรรมการก็มีมติเอกฉันท์ยกคำร้องเช่นกันด้วยเหตุผลทำนองเดียวกัน แต่ กกต. ก็ไม่หยุด ยังส่งไปให้อนุกรรมการ และมีมติเมื่อเดือน ตุลาคม ด้วยเสียง 3-2 ให้มีความผิดในกรณีมาตรา 66 นี้

ทำไม กกต. ไม่ยุติเดินเรื่อง?

นายปิยบุตรตั้งข้อสังเกตว่า 2 คณะแรกนั้นยกคำร้องไปแล้ว ตามกฎหมายการเลือกตั้ง มาตรา 41 ระบุว่า หากคณะกรรมการยกคำร้องเมื่อไหร่ เรื่องต้องยุติทันที แต่กรณีนี้ กกต.ไม่ยุติ เดินเรื่องต่อไปทั้งๆ ที่กฎหมายระบุว่าให้หยุด ส่วนกรณีมาตรา 72 กกต. เพิ่งมาคิดออกเมื่อ 27 พ.ย. 2562 จน 11 ธ.ค. 2562 กกต. มีมติ 5-2 ว่า มีความผิดฝ่าฝืนมาตรา 72 จึงยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญขอยุบพรรค คำถามคือวันที่ 27 พ.ย.-11 ธ.ค. เวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ อยู่ดีๆ ความผิดเกี่ยวกับมาตรา 72 โผล่มาได้อย่างไร และไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อพรรค ไม่เคยเรียกไปชี้แจงใดๆ ทั้งสิ้น มารู้อีกทีพร้อมๆ ประชาชนและสื่อมวลชนในวันที่มีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ

ศาล รธน. มีอำนาจยุบพรรคในคดีนี้?

นายปิยบุตร ยังระบุด้วยว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคในกรณีนี้ เนื่องจาก รัฐธรรมนูญมาตรา 210 เขียนว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจดังต่อไปนี้ (1) วินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมาย (2) เข้ามาชี้ขาดเวลาอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆขัดกัน และ (3) หน้าที่อื่นๆ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

โดยที่ผ่านมาเคยมีการถกเถียงกันในวงวิชาการว่า สามารถตรากฎหมายเพิ่มเติมอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ซึ่งตอนนั้นก็มีการตรา พ.ร.ป. เพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญกัน แต่ปัจจุบันทำไม่ได้อย่างสิ้นเชิงเพราะใน (3) เขียนไว้ชัดเจนว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจและหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการล็อคไว้แล้วว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจได้เท่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และไม่มีมาตราไหนเขียนให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจยุบพรรค

นายปิยบุตรย้ำว่า อำนาจยุบพรรคเกิดจาก พ.ร.ป.พรรคการเมืองมาตรา 92 แสดงให้เห็นว่า พ.ร.ป. พรรคการเมืองมาตรา 92 ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 210 ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยว่าอำนาจยุบพรรคตาม พ.ร.ป. พรรคการเมืองขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

นอกจากนี้ น่าสังเกตว่า เหตุใดศาลรัฐธรรมนูญจึงนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 21 ก.พ. ที่เป็นการนัดก่อนหน้าวันทีี่จะมีการประชุมสภาฯ เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ 6 รัฐมนตรี เพียง 3 วัน ซึ่งมีผลต่อสถานะความเป็น ส.ส.ของกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 11 คนด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง