ไม่พบผลการค้นหา
'จาตุรนต์ ฉายแสง' ชี้ความมั่นคง 'รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 2' ต้องพึ่งงูเห่าในสภา เพื่ออยู่ในอำนาจต่อไป เตือนหากไม่สามารถแก้โจทย์ปัญหาปากท้องอยู่ยาก

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) วิเคราะห์สถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ว่า ที่ผ่านมาการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการโปรดเกล้าฯ นายกรัฐมนตรี จะใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์ในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี เพราะมีการหารือกันมาก่อนแล้ว โดยเฉพาะการปิดช่องในการต่อรองการขอตำแหน่ง โดยใช้ระบบพรรคเข้ามาช่วย แต่การจัดตั้งรัฐบาลในปัจจุบันมันสับสนอลหม่านและไม่โปร่งใสมาตั้งแต่ต้น 

ส่วนการคิดสัดส่วนแบ่งเป็นพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ มี 126 เสียง และมีส.ว. 250 เสียงสนับสนุน ดังนั้นจึงมีความต้องการที่จะเข้าไปคุมกระทรวงสำคัญ ขณะเดียวกันพรรคภูมิใจไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ ���าจจะมีการตกลงกับพล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ประวิตรไว้แล้ว ในการเข้าไปนั่งในกระทรวงต่างๆ ทำให้เกิดความไม่ลงตัว

จุดที่น่าสนใจคือข้อตกลง เพราะหลังจากนั้นเพิ่งจะมีการพูดถึงนโยบายต่างๆ เช่นนโยบายประกันรายได้หรือนโยบายกัญชา ขณะที่นายสมคิด มีแนวคิดที่จะผลักดันโครงการของรัฐบาลประยุทธ์ 1 ขณะที่ฟากของกลุ่มพรรคพลังประชารัฐมีชุดนโยบายอีกแบบหนึ่งที่ไม่ตรงกันกับรัฐบาลประยุทธ์ จึงต้องตั้งคำถามว่ารัฐบาลแบบนี้จะตอบสนองประชาชนได้หรือไม่ และจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ ซึ่งน่าสนใจว่านโยบายที่จะออกมาจะมีส่วนผสมอย่างไร

นอกจากนี้ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ และพวก บอกมาตลอดว่าอย่าไปเลือกนักการเมืองแบบเก่า สุดท้ายไปงัดนักการเมืองรุ่นเก่าเชิงอำนาจแท้ ดังปรากฎการณ์ตระบัดสัตย์ เพื่อมาเป็นรัฐบาล สะท้อนให้เห็นว่าเป็นเพียงข้ออ้างในการยึดอำนาจและสืบทอดอำนาจต่อไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าใน ครม.ชุดนี้ก็มีความสามารถหลายคน แต่ที่มาของการได้มาซึ่งอำนาจ มันทำให้รัฐบาลชุดนี้จะทำงานตอบสนองประเทศอย่างมีข้อจำกัด

ส่วนประเด็นถือหุ้นสื่อของ 41 ส.ส. ถือเป็นเรื่องใหญ่หากมีการวินิจฉัยในเรื่องคุณสมบัติ เพราะล้วนเป็นของฝ่ายรัฐบาล หากเป็น ส.ส.เขต จะทำให้ต้องจัดเลือกตั้งกันใหม่และไม่สามารถคาดเดาผลเลือกตั้งได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรัฐบาลชุดนี้ เพราะที่ผ่านมามีการใช้วิธิสารพัด ทั้งให้พรรคเล็กได้เสียง ทั้งสูตรการนับคะแนน รวมถึงการใช้งบประมาณหาเสียง โดยไม่ต้องเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ 

อีกประเด็นที่หน้าจับตาคือการถูกวินิจฉัยของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ซึ่งต้องดูว่าแกนนำพรรคที่อยู่ในสภาที่ส่วนมากเป็น ส.ส.หน้าใหม่ๆ จะดำเนินการอย่างไร ส่วนเพื่อไทยมี 136 เสียง ล้วนเป็นส.ส.เขต ที่ส่วนใหญ่ล้วนมีประสบการณ์แต่ก็ไม่ใช่แกนนำของพรรค ที่อยู่บัญชีรายชื่อ ดังนั้นจึงต้องสร้างแกนนำใหม่ ขณะที่ฟากรัฐบาลก็มีแนวโน้มที่จะขัดแย้งกันเพราะผลประโยชน์

ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ มีจุดอ่อน เพราะเมื่อเข้ามาในระบบรัฐสภา ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะรับมือกับฝ่ายค้าน ที่จะทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบ โดยไม่มีมาตรา 44 อาจเห็นปรากฎการณ์ ส.ส.ฝ่ายค้านหน้าใหม่ต้อนพล.อ.ประยุทธ์ ในสภาได้ 

สำหรับ ส.ว. 250 เสียง เป็นเรื่องยากที่อีกฝ่ายจะตั้งรัฐบาลแข่ง พร้อมทั้งมาจากการมีอำนาจและกวาดต้อนพรรคการเมืองทั้งจากการบีบหรือจูงใจมาแบบทุลักทุเล อย่างไรก็ตามเมื่อพวกเขาเข้ามาแบบนี้จึงจำเป็นต้องอยู่ในอำนาจนานๆ อีกทั้งยังมีวิชามารยังไม่ถูกใช้หมด ซึ่งได้เกิดขึ้นบ้างแล้วในการเลือกประธานสภาแน่นอนว่ามีงูเห่า ดังนั้นอาจจะมีการใช้งูเห่าไปเพื่อใช้ในเรื่องจำเป็นทั้งนี้พรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วไม่อยากเลือกตั้งเร็ว เพราะบางพรรคก็เสียหายเกียรติภูมิจึงต้องการพักฟื้นเลียบาดแผล 

ในด้านความมั่นคงของรัฐบาล ประเด็นสำคัญคือปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นเรื่องใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ประชาชนคาดหวังหากแก้ไขไม่ได้ คราวนี้เมื่อบวกกับความไม่ชอบธรรมจะมุ่งตรงไปที่รัฐบาล ประชาชนต้องติดตามแบบตรวจสอบและเสนอผลักดัน ความคิดเห็นให้ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านจะทำหน้าที่อย่างไร เพราะตอนนี้สามารถเสนอได้ตามช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตามสื่อโชเชียลหรือสื่อมวลชน