ไม่พบผลการค้นหา
มติที่ประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2563 มีผลออกมา 99.99 % ไม่เข้าร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่กำหนดอำนาจให้ ส.ว. 250 คนตามบทเฉพาะกาลมีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วง 5 ปีนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้

เหตุผลที่ 'พรรคเพื่อไทย' ยังไม่คล้อยตามแนวทางของ 'พรรคก้าวไกล' ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย

เพราะ 'พรรคเพื่อไทย' ได้เคยผนึกกับ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ และพรรคพลังปวงชนไทย ยกเว้น พรรคก้าวไกล

ยื่นญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยเห็นชอบร่วมกันให้แก้ไขมาตรา 256 ปลดล็อกกติกาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับสืบทอดอำนาจ คสช.ที่ยากให้ง่ายขึ้น พร้อมเปิดทางตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง

นี่คือเงื่อนไขกุญแจเป็นเงื่อนไขที่ 'ฝ่ายค้าน' 5 พรรคยกเว้น 'พรรคก้าวไกล' ผลักดันชิงธงนำก่อนพรรคร่วมรัฐบาลเสนอไปยังรัฐสภาเพื่อรีบบรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาก่อนที่จะปิดสมัยการประชุมรัฐสภาในวันที่ 18 ก.ย.นี้

เพื่อไทย สมพงษ์ ฝ่ายค้าน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ชวน 17-9F00-4BD7-942B-BEF1273D4165.jpeg
  • 5 พรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติแก้ไข รธน. เปิดทางตั้ง ส.ส.ร.

ขณะที่ 'ก้าวไกล' แสดงจุดยืนชัดเจนว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อมาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่มีเงื่อนไขว่าไม่จำกัดว่าห้ามแก้หมวดใดหมวดหนึ่ง ซึ่งนั่นคือ หมวด 1 และ หมวด 2 สามารถเข้าไปแก้ไขโดยอำนาจของสมาชิกรัฐสภาได้

"พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมไปแล้วหนึ่งฉบับเพื่อแก้ไข ม. 256 ให้มีการตั้ง ส.ส.ร. แต่พรรคก้าวไกลไม่ร่วมลงชื่อด้วย เนื่องจากไปกำหนดไว้ว่า ห้าม ส.ส.ร. แก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1 และ 2 พรรคก้าวไกลเห็นว่า ข้อกำหนดดังกล่าวยิ่งไปสร้างความเข้าใจผิดในสังคม เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมามีการแก้ไขบทบัญญัติในหมวด 1 และ 2 มาโดยตลอด ไม่ใช่เรื่องต้องห้ามแต่อย่างใด และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของไทยมีการจำกัดขอบเขตอยู่แล้วว่า การแก้ไขที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้ ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน มาตรา 255" พรรคก้าวไกลประกาศจุดยืนผ่านเฟซบุ๊ก

'พรรคก้าวไกล' ยังต้องการยกเลิกบทเฉพาะกาล มาตรา 269-272 เป็นสิ่งที่ต้องผลักดันในลำดับถัดไปให้ทันในสมัยประชุมนี้ เพราะไม่ต้องการให้มี ส.ว. 250 คนที่ คสช. แต่งตั้งมาและมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี รวมทั้งต้องการยกเลิกบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 เพื่อมิให้มีการรับรองประกาศ-คำสั่ง คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมายไปตลอดกาล

ท่าทีของ 'พรรคก้าวไกล' ยังตรงกับเงื่อนไขข้อเรียกร้องของประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษานอกสภา ที่เคลื่อนไหวผ่านการชุมนุมของแฟลชม็อบนอกสภาฯ ที่กำลังกดดันรัฐบาล โดยต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่าน 3 ข้อเรียก คือ หยุดคุกคามประชาชน ยุบสภา และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วน 2 จุดยืนคือไม่เอารัฐประหาร ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ

ด้วยเหตุที่เสียง ส.ส.ของพรรคก้าวไกล มีไม่ถึง 1 ใน 5 ของสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ต้องอาศัยเสียงของเพื่อน ส.ส.มาร่วมช่วยกันผลักดันยกเลิก ส.ว.ตามบทเฉพาะกาล

นี่จึงเป็นที่มาของการเห็นต่างกันในหมู่พรรคร่วมฝ่ายค้าน

สมพงษ์ เสรีพิศุทธ์ พิธา ฝ่ายค้าน -473E-9151-464B98164565.jpeg

ในขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ผ่านวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ต้องใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา (ส.ส.เท่าที่มีอยู่ 489 คน + 250 ส.ว. รวม 739) คือต้องมีเสียงเห็นด้วย 370  เสียงขึ้นไป (หากแก้รัฐธรรมนูญในช่วง 5 ปีแรกนับแต่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ)

และในขั้นรับหลักการนี้ยังต้องอาศัยเสียง ส.ว.ร่วมโหวตเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 (84 เสียง) จำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา หากไม่ได้เสียงของ ส.ว.ร่วมเห็นชอบถึง 84 เสียง เท่ากับว่าญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยื่นเข้ามาจะต้องถูกคว่ำลงในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา

ส.ว. 250 คนจึงเป็นตัวแปรสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถึงแม้รัฐสภาจะได้เสียง ส.ส.ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน

โจทย์นี้ ทำให้ 5 พรรคร่วมฝ่ายค้านต้องลอยแพ 'พรรคก้าวไกล'

เพราะหากดึงดันเล่นบทไม่ประนีประนอมในรัฐสภา ด้วยการยกเลิกอำนาจ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาลในทันทีทันใดตั้งแต่ดันญัตติเข้าสู่รัฐสภา หรือ ‘เล่นเกมเร็วและแรง’

ย่อมมีความเสี่ยงสูงที่ร่างรัฐธรรมนูญ สูตรไขกุญแจเปิดประตูตั้ง ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งต้องเป็นหมันและย่อมถูก ส.ว.โหวตคว่ำ

วัลลภ-วุฒิสภา
  • ส.ว.ชุดปัจจุบันที่มาตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

"บทเรียนเคยมีมาแล้วในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในประเด็นที่มาของ ส.ว. เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเคยมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญ และมองว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง" ส.ส.ที่เป็นวิปพรรคร่วมฝ่ายค้าน ให้เหตุผลที่ พรรคเพื่อไทยไม่ร่วมลงชื่อกับพรรคก้าวไกล

ด่านต่อไปที่ พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่นำโดย 'พรรคเพื่อไทย' มองคือหากสามารถอาศัยเสียงของ ส.ว.มาร่วมสนับสนุนให้ตั้ง ส.ส.ร.ได้สำเร็จ ก็ยังไม่ปิดทางยกเลิกอำนาจ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาล ซึ่งก็ตรงกับจุดยืนของพรรคก้าวไกลในขณะนี้

"จะตามใจม็อบนักศึกษาไม่ได้ ในชั้นนี้ต้องให้ ส.ส.ร.เป็นผู้ร่างเพื่อเปิดทางให้ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในชั้นการยกร่างของ ส.ส.ร." แหล่งข่าวจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทย ระบุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง