ไม่พบผลการค้นหา
ถึงคิวต้องโหวตร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 7 ญัตติที่ถูกบรรจุเข้าสู่กวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ ซึ่งจะเป็นการลงมติในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ หลังถูกยื้อ-เตะถ่วง-ดองไว้ก่อนโหวตวาระที่ 1

มาจากคราวประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2563 ซึ่งที่ประชุมรัฐสภาได้มีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.)พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ก่อนรับหลักการ จำนวน 6 ฉบับ 

ตรวจสอบท่าทีของบรรดาสมาชิกรัฐสภา การลงมติในขั้นรับหลักการวาระที่ 1 จะใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (ปัจจุบันมี ส.ส. และ ส.ว.เท่าที่มีอยู่ 732 คน) ดังนั้น ต้องมีเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 366 เสียง และต้องมีเสียงของ ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือไม่น้อยกว่า 82 เสียง 

สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ ประกอบด้วย 

1.เลือกตั้ง ส.ส.ร. ฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน (แก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) 

2.เลือกตั้ง ส.ส.ร. ฉบับพรรคร่วมรัฐบาล (แก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) 

3.ยกเลิก อำนาจของ ส.ว.ปฏิรูปประเทศ และอำนาจยับยั้งกฎหมาย ฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน (ยกเลิกมาตรา 270 และมาตรา 271)  

4.ร่าง รธน. เลือกนายกฯ จาก ส.ส. ยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน (แก้ไขมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 )

5.ยกเลิกมรดกคำสั่ง-ประกาศ คสช. ฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน (ยกเลิกมาตรา 279 )

6.แก้ไขระบบเลือกตั้ง หวนคืนบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน (แก้ไขมาตรา 91 มาตรา 92 และมาตรา 94 และยกเลิกมาตรา 93 มาตรา 101 (4) และมาตรา 105 วรรคสาม) 

7.ฉบับภาคประชาชน นำโดยจอน อึ๊งภากรณ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 98,041 คน หรือในโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) โดยมีประเด็นที่ขอแก้ไขประกอบด้วย เลิก ส.ว.ชุดพิเศษจาก คสช. / เลิกอำนาจเลือกนายกฯ - ปฏิรูปประเทศ ส.ว. / เลิกนายกฯ คนนอก

เลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ / เลิกที่มาผู้บริหารท้องถิ่นไม่ได้มาจากเลือกตั้ง / แก้ไขที่มาองค์กรอิสระ / เลิกรับรองอำนาจ-นิรโทษกรรม คสช. / ระบบเลือกตั้ง 2 ใบ / แก้หลักเกณฑ์แก้ไข รธน. / ให้มี ส.ส.ร. / ร่าง รธน.ฉบับใหม่ทุกหมวด 

iLaw-รณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ รัฐสภา ไอลอว์ จอน รัฐธรรมนูญ

ท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้ ยังคงประกาศว่าจะรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านเท่านั้น ส่วนอีก 4 ฉบับของพรรคฝ่ายค้านจะงดออกเสียง ขณะที่ร่างของภาคประชาชนจะขอรอฟังการชี้แจงของผู้แทนเจ้าของร่างก่อน

ส่วนท่าทีของ ส.ว.มีท่าทีจะให้ความเห็นชอบกับ 2 ฉบับที่เปิดทางตั้ง ส.ส.ร. โดยคาดว่าจะมีเสียงเกินกว่า 100 เสียง เพื่อนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาในชั้นแปรญัตติ

ส่วน 4 ร่างของพรรคฝ่ายค้านและ 1 ร่างของไอลอว์ มีแนวโน้มไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา แม้จะได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้านเกินกว่า 200 เสียง 

ในการอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับภาคประชาชน ส.ว.จะใช้สิทธิอภิปรายเป็นเวลากว่า 5 ชั่วโมงครึ่ง ขณะที่ ส.ส.ซีกรัฐบาลและฝ่ายค้านจะใช้เวลารวมกัน 5 ชั่วโมง ส่วนผู้แทนจากไอลอว์จะใช้สิทธิชี้แจง 1 ชั่วโมง คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาไปจนถึง 21.00 น.ของวันที่ 17 พ.ย. จากนั้นจะสั่งพักการประชุมเพื่อลงมติทั้ง 7 ฉบับในวันที่ 18 พ.ย. 2563

ขณะที่หน้ารัฐสภาจะมีการชุมนุมของกลุ่มไทยภักดี และมวลชนคณะราษฎร 2563 

กลุ่มไทยภักดีจะคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่คณะราษฎรจะกดดันให้รัฐสภาลงมติร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ โดยฉบับที่ให้ความสำคัญที่สุดคือร่างของ 'ไอลอว์' 

ฝ่ายค้าน เพื่อไทย วิรัช สมพงษ์ รัฐสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยื้อตั้ง กมธ ศึกษา

เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลขณะนี้มีจำนวน 276 เสียง (ไม่รวม เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ที่หยุดปฏฺิบัติหน้าที่ ส.ส.) ขณะที่ฝ่ายค้านมีจำนวน 211 เสียง ส่วน ส.ว. 245 เสียง (ไม่รวมผู้นำเหล่าทัพ ที่ยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ เป็น ส.ว.)

คาดว่าเสียงสนับสนุน 2 ร่างแรกจะมีเสียงสนับสนุนเกินกว่า 500 เสียง ในขณะที่ 5 ฉบับร่างจะไม่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว.ให้ถึง 82 เสียง ส่งผลให้ 5 ร่างต้องถูกคว่ำในวาระที่หนึ่งทันที

หากทิศทางออกมาเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้อุณหภูมิข้างนอกรัฐสภาต้องร้อนระอุขึ้นมาอีก

เพราะ 'ม็อบคณะราษฎร' ย่อมไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่คว่ำร่างภาคประชาชนที่ได้ล่ารายชื่อมากว่า 1 แสนรายชื่อ

การปฏิเสธร่างภาคประชาชนของที่ประชุมรัฐสภา จึงเท่ากับปฏิเสธเจ้าของอำนาจที่แท้จริง

ยังไม่นับรวมกับปลายทางข้างหน้าอีกว่า แม้ 2 ฉบับแรกที่เปิดทางให้ตั้ง ส.ส.ร.ได้จะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

แต่ก็ยังไม่มีหลักประกันว่า 2 ร่างที่เปิดทางตั้ง ส.ส.ร. จะได้รับความเห็นชอบในวาระที่สองและสามหรือไม่

ภาณุพงศ์ จาดนอก หมุดประชาชนปลดแอก รัฐสภา แก้รัฐธรรมนูญ

แม้ว่า คำแถลงนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2562 จะกำหนด 1 ใน นโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง ไว้ว่า

"การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดําเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ"

ทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังผ่านวาระที่หนึ่ง จึงต้องประเมินอีกครั้งและขึ้นอยู่กับกับกระแสกดดันของมวลชนนอกรัฐสภาอีกครั้งด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง