ไม่พบผลการค้นหา
สวีเดนและฟินแลนด์ได้ยื่นใบสมัครขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) แล้วเมื่อวานนี้ (18 พ.ค.) อย่างไรก็ดี ตุรกีในฐานะหนึ่งในสมาชิกขององค์การได้เข้าขัดขวางการเปิดมติด่วนพิเศษ เพื่อพิจารณาคำขอของสองชาตินอร์ดิก โดยตุรกีเรียกร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” มายังตุรกี พร้อมเรียกร้องให้พันธมิตรเคารพต่อข้อกังวลของตุรกี

เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ได้รับคำขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การที่ทางฟินแลนด์และสวีเดนได้ยื่นโดยแฟ้มที่มีธงชาติของตนเองบนปก เพื่อเข้าเป็นพันธมิตรความมั่นคงทางการทหารร่วมกันกับองค์การที่มีสหรัฐฯ และชาติมหาอำนาจยุโรปเป็นสมาชิกในการคานอำนาจกับรัสเซีย หรืออดีตสหภาพโซเวียต

“ผมยินดีต้อนรับด้วยความอบอุ่นจากคำร้องของฟินแลนด์และสวีเดนในการเข้าร่วม NATO พวกคุณคือหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกับเราที่สุด” สโตลเทนเบิร์กระบุกับทูตของทั้งสองชาติที่เป็นตัวแทนยื่นใบสมัครเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ณ ที่ทำการประจำกรุงบรัสเซลส์ ก่อนกล่าวว่าโอกาสในครั้งนี้เป็น “ก้าวครั้งประวัติศาสตร์” และ “วันที่ดีของความมั่นคงของพวกเราในช่วงเวลาวิกฤต”

อย่างไรก็ดี จากรายงานเอกสารทางการทูตในหลายแห่งระบุตรงกันว่า ตุรกีได้เข้าขัดขวางการเปิดการหารือโดยทันทีของทูตประจำองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนแรกของกระบวนการภาคยานุวัติในการรับฟินแลนด์และสวีเดนเข้าร่วมองค์การ อาจใช้เวลานานกว่าสองสัปดาห์จากแผนเดิมที่กลุ่มพันธมิตรได้วางเอาไว้

การเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือของฟินแลนด์และสวีเดน จะต้องได้รับฉันทานุมัติจากชาติสมาชิกองค์การ 30 รัฐ ก่อนที่จะส่งไปให้สัตยาบันบนรัฐสภา กระบวนการดังกล่าวอาจใช้เวลายาวนานร่วมปี อย่างไรก็ดี กลุ่มพันธมิตรกล่าวว่าตนพยายามจะเร่งกระบวนการให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากเกรงว่าฟินแลนด์และสวีเดนอาจถูกคุกคามโดยรัสเซีย

ทั้งนี้ ฟินแลนด์มีพรมแดนติดกับรัสเซียกว่า 1,300 กิโลเมตร และวางตัวเป็นกลางตลอดจนเป็นประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดมาตลอดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในขณะที่สวีเดนวางตัวเป็นกลางทางด้านการทหารตลอดระยะเวลาสองทศวรรษที่ผ่านมา การตัดสินใจขอเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือของทั้งสองชาติ เกิดขึ้นหลังจากการที่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครนในวันที่ 24 ก.พ. ก่อนเกิดการทำลายล้างอย่างทารุณโหดร้ายตามมาตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา

ในทางตรงกันข้าม เรเซป ทายยิป เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกีแถลงต่อหน้าสมาชิกรัฐสภาในกรุงอังกาลาว่า พันธมิตรองค์การจะต้องเคารพข้อสงวนของตุรกี เออร์โดนกันพยายามขัดขวางการเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือของฟินแลนด์และสวีเดน จากการที่ชาติยุโรปเหนือเป็นแหล่งพักพิงให้กับสมาชิกของกองกำลังชาวเคิร์ดที่ทางตุรกีกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ตลอดจนการที่ทั้งสองชาติลงมติแบนการส่งอาวุธมาให้ตุรกีในการเข้าทำปฏิบัติการ ณ สงครามซีเรียเมื่อปี 2562 ด้วย

“เราขอให้พวกเขาส่งผู้ร้ายข้ามแดนทั้ง 30 คนมา แต่พวกเขาปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น” เออร์โดกันกล่าวหาว่าสวีเดนให้ที่พักพิงแก่กลุ่มก่อการร้าย “คุณไม่ยอมให้ตัวผู้ก่อการร้ายเราคืนมา แต่คุณขอสมาชิกภาพขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคง ดังนั้นเราจึงไม่สามารถพูดว่า 'ได้' กับองค์กรความปลอดภัยนี้ ที่ลิดรอนการรักษาความมั่งคง (ของตุรกี)”

ตุรกีไม่ได้ปิดตายหนทางในการเจรจากับฟินแลนด์และสวีเดน แต่พยายามหาทางพูดคุยเพื่อให้ทั้งสองชาติยอมส่ง “ผู้ก่อการร้าย” กลับคืนมายังตุรกี ทั้งนี้ ตุรกีโจมตีองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือว่าไม่เคยเข้าช่วยเหลือประเทศของตนในการรบกับกลุ่มกองกำลังทหารชาวเคิร์ดติดอาวุธแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี ฟินแลนด์และสวีเดนมองในภาพบวกว่าตนจะสามารถเจรจากับตุรกีได้ อีกทั้งนักวิเคราะห์ยังได้ชี้อีกว่า เออร์โดกันกำลังเจอศึกเลือกตั้งในปีหน้า และเขาอาจยอมให้ฟินแลนด์และสวีเดนเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือในท้ายที่สุด

ทั้งนี้ แมกดาเลนา แอนเดอร์สสัน นายกรัฐมนตรีสวีเดน และ ซาอูลี นีนิสโต ประธานาธิบดีฟินแลนด์มีกำหนดการเยือนกรุงวอชิงตันดีซี เพื่อเข้าพบ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันนี้ (19 พ.ค.) เพื่อหารือกันในประเด็นการเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ มีท่าทีสนับสนนุทั้งสองชาติในการเข้าร่วมองค์การที่มีตนเป็นผู้นำอยู่ พร้อมยืนยันว่าจะช่วยเร่งกระบวนการในการพิจารณารับทั้งสองชาติเข้าร่วมเป็นสมาชิกโดยเร็ว

ในอีกทางหนึ่ง วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียยังคงรักษาท่าทีต่อการที่ประเทศเพื่อนบ้านของตนอย่างฟินแลนด์ และสวีเดนที่อยู่ห่างกันออกไปไม่ไกลกำลังพยายามเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ทั้งนี้ ปูตินระบุว่ารัสเซียยังไม่เห็นความพยายามในครั้งนี้ของทั้งสองชาติเป็นภัยต่อรัสเซียในตัวของมันเอง แต่หากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือมีการคเลื่อนกำลังพลเข้ามายังดินแดนของทั้งสองชาติ การกระทำดังกล่าวอาจเป็นการยั่วยุรัสเซียให้เกิดการป้องกันตนเองได้


ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2022/may/18/sweden-and-finland-formally-apply-to-join-nato?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR0al0uZZGbLfFuN9LDUl0vhaee-IuQeSUq2CZqfUp70M5Z-P806BX7MImk