ฟินแลนด์และสวีเดนละทิ้งนโยบายการเป็นกลางทางการทหารของตนเองที่ยึดถือมาตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษ โดยทั้งสองรัฐบาลของทั้งสองประเทศจะเสนอแบบร่างการเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือเข้าต่อรัฐสภาของตนเองในวันนี้ (16 พ.ค.) และอาจจะส่งใบสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การความมั่นคงทางทหารที่มีสมาชิกอยู่แล้ว 30 ชาติทันที หลังจากรัฐสภาของตนผ่านมติการขอเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ
“ประธานาธิบดีและคณะกรรมการนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลเห็นพ้องกันว่า หลังจากการปรึกษาหารือกับรัฐสภาแล้ว ฟินแลนด์จะสมัครเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ” ซาอูลี นีนิสโต ประธานาธิบดีฟินแลนด์กล่าว พร้อมกล่าวยกย่องว่าการตัดสินใจในครั้งนี้เป็น “วันประวัติศาสตร์” สำหรับประเทศของตนเอง ทั้งนี้ ฟินแลดน์มีพรมแดนติดกันกับรัสเซียกว่า 1,300 กิโลเมตร
“ยุคใหม่กำลังเริ่มต้นขึ้น” นีนิสโตกล่าว “ฟินแลนด์ที่ได้รับการคุ้มครองถือกำเนิดขึ้น โดยเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคนอร์ดิกที่มีเสถียรภาพ แข็งแกร่ง และมีความรับผิดชอบ เราได้รับความปลอดภัยและเรายังได้แบ่งปันมัน มันเป็นการดีที่ตอกย้ำตนเองไว้ว่า การรักษาความปลอดภัยไม่ใช่เกมที่มีผลรวมเป็นศูนย์” นอกจากนี้ ซานนา มาริน นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ย้ำว่า ตนคาดว่ารัฐสภาจะรับรองมติในครั้งนี้ “ภายในระยะเวลาไม่กี่วันที่จะมาถึง”
ในระยเวลาไม่กี่ชั่วโมงต่อมา แมกดาเลนา แอนเดอร์สสัน นายกรัฐมนตรีสวีเดนกล่าวยืนยันเจตนาในการเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หลังจากพบเห็นการฆ่าล้างที่โหดร้ายในยูเครนจากฝีมือของรัสเซีย “สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับความมั่นคงของสวีเดนและชาวสวีเดน คือการเข้าร่วมกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ” แอนเดอร์สสันกล่าว “เราเชื่อว่าสวีเดนต้องการการค้ำประกันอย่างเป็นทางการ ที่มาพร้อมกับการเป็นสมาชิกในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ”
แอนเดอร์สสันย่้ำว่า การเป็นชาติเป็นกลางทางการทหารก่อนหน้านี้ ตอบรับกับสถานการณ์ของสวีเดนได้ดี แต่มัน “จะไม่เป็นเช่นนั้นในอนาคต” สวีเดนจะ “เปราะบาง” เนื่องจากเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคบอลติกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ทั้งนี้ แอนเดอร์สสันหวังว่าสวีเดนจะสามารถส่งใบสมัครสมาชิกเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือพร้อมกันกับฟินแลนด์
การเดินหน้าเข้าร่วมและประกาศชัดเจนถึงเจตนารมณ์ของทั้งสองชาติ ในการเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ เกิดขึ้นหลังจากที่มีรายงานว่ารัสเซียเริ่มพบกับความเสียหายอย่างหนักในการสู้รบที่ยูเครน และเสี่ยงที่จะติดชะงักแผนการของตนเองในบริเวณทางตะวันออกของยูเครน ท่ามกลางกระแสการต้อต้านอย่างรุนแรงจากทั้งกองทัพยูเครน และการประกาศคว่ำบาตรรัสเซียจากนานาชาติ
ตั้งแต่รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครนในวันที่ 24 ก.พ.เป็นต้นมา ความคิดเห็นของสาธารณชนจากทั้งสองชาติที่วางตัวเป็นกลางทางการทหารได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรงและรวดเร็ว โดยประชาชาชนจำนวนมากเห็นด้วยกับการเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ทั้งในฟินแลนด์ที่เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 75% และ 50% ถึง 60% ในสวีเดน
ก่อนหน้านี้ ทั้งสองชาติได้ออกมาระบุว่าตนกำลังพิจารณาการเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ก่อนที่ทางรัสเซียจะออกมาเตือนเสมอว่า การเข้าร่วมองค์การความร่วมทางการทหารดังกล่าว จะส่งผลให้รัสเซีย “รื้อฟื้นสมดุลทางการทหาร” โดยการเสริมความแข็งแกร่งและระบบป้องกันตนเองในภูมิภาคทะเลบอลติก ซึ่งหมายรวมถึงการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ อย่างไรก็ดี ฟินแลนด์และสวีเดนยืนยันที่จะเดินหน้าเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือเช่นเคย
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (14 พ.ค.) ประธานาธิบดีฟินแลนด์ได้ต่อสายตรงถึง วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เพื่อแจ้งว่าฟินแลนด์ตั้งเป้าที่จะเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ โดยนีนิสโตระบุว่า บทสนทนาระหว่างตนกับปูตินนั้น "ตรงเป้าและตรงไปตรงมา" แต่ยัง "สงบและเยือกเย็น… สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือเขาดูใจเย็นมาก"
ทั้งนี้ ปูตินตอบกลับนีนิสโตในสายว่า การเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือของฟินแลดน์ “จะเป็นความผิดพลาด เนื่องจากไม่มีภัยคุกคามใดๆ ต่อความมั่นคงของฟินแลนด์” จากรายงานระบุว่า ปูตินไม่ได้มีท่าทีขู่นีนิสโตแต่อย่างใด ทั้งนี้ ประธานาธิบดีฟินแลนด์ยืนยันว่าทางการ “มีการเฝ้าระวังอย่างเต็มที่” ถึงแม้ตนจะเชื่อว่ารัสเซียจะไม่ตอบโต้การเคลื่อนไหวดังกล่าวของฟินแลนด์
ในอีกด้านหนึ่ง เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือกล่าวว่า ทางองค์การ “ยินดีและอ้าแขนรับ” ทั้งฟินแลนด์และสวีเดนในการเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ โดยจะมีการดำเนินการอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากสมาชิกพันธมิตรทั้งหมดอาจใช้เวลาหลายเดือน ทั้งนี้ ยังคงมีตุรกีเพียงชาติเดียวในฐานะสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือที่ดูจะไม่พอใจกับการเข้าร่วมองค์การดังกล่าวของฟินแลนด์และสวีเดน อย่างไรก็ดี การรับรองทั้งสองชาติให้เข้าร่วมองค์การจะต้องอาศัยเสียงของสมาชิกทุกชาติที่เป็นเอกฉันท์
ที่มา: