ไม่พบผลการค้นหา
'ปดิพัทธ์' พร้อมแจงทุกรายละเอียดงบฯ นำคณะบินสิงคโปร์ ถามกลับผลสัมฤทธิ์กระทรวงอื่นดูงานมีบ้างหรือไม่

วันที่ 20 ก.ย. ที่อาคารรัฐสภา ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 แถลงชี้แจงกรณีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์การใช้งบประมาณ เพื่อไปดูงานที่ประเทศสิงคโปร์ โดยระบุว่า โครงการนี้ถูกกำหนดเอาไว้แล้ว จากการประชุมทั้งในส่วนของกรรมการชุดใหญ่ กรรมการขับเคลื่อน และอนุกรรมการนั้น 

"เราเจอโจทย์ ที่ต้องการเห็นภาพและรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถพัฒนาสภาให้เป็นสากลให้ได้ ซึ่งเราพบว่า การดูงานในประเทศที่ไกลเกินไปไม่มีความจำเป็น เราควรเริ่มต้นศึกษาประเทศที่เป็นพันธมิตรในระดับอาเซียน จึงเลือกประเทศสิงคโปร์"

ปดิพัทธ์ กล่าวต่อว่า โดยงบประมาณที่ได้ตั้งไว้ครั้งแรกก็เป็นไปตามระเบียบการคลัง ในส่วนของค่าใช้จ่ายของรองประธานสภาคนที่ 1 เพราะฉะนั้น กรณีที่หลายคนกังวลว่า งบประมาณที่ตั้งไว้นั้นสูงเกินไปหรือไม่ ข้อเท็จจริงคือ เป็นการตั้งในตอนที่เรายังไม่ได้มีการจองโรงแรม จองตั๋วเครื่องบินจริง และยังไม่สามารถลงรายละเอียดในทริปได้ เจ้าหน้าที่โครงการจึงตั้งโครงการและงบประมาณตามสิทธิที่อยู่ในระเบียบทุกประการไว้ก่อน ซึ่งค่าใช้จ่ายจริงบางส่วนก็สามารถเปิดเผยได้ในวันนี้ และจะเปิดเผยแบบละเอียดได้เลยในช่วงที่เดินทางกลับมา 

ในเรื่องของคณะเดินทาง มีองค์ประกอบ 3 ส่วนคือ 1.กรรมการ ซึ่งมี ปดิพัทธ์ พร้อมด้วย ณัฐพงศ์ เรืองปัญญาวุฒิ วรภพ วิริยะโรจน์ ที่ตั้งใจให้ไปดูในเรื่องระบบสารสนเทศ ระบบฐานข้อมูลโปร่งใส เพราะเราจะได้มีโอกาสไปเยี่ยมเทคโนโลยีของรัฐบาลสิงคโปร์ด้วย โดยในงานด้านเทคนิคเช่นนี้ เราจำเป็นต้องได้คนที่เหมาะสมกับงานเท่านั้นที่จะสามารถเข้าไปดูได้ จึงต้องเชิญทั้ง 2 คนนี้ไป

 2.ตอนที่เราตั้งคณะทำงานนี้ขึ้นมายังไม่มีทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล รวมถึงยังไม่มีกรรมาธิการกิจการสภา ความตั้งใจแรกของที่ตั้งขึ้นมาคือ ถ้าเรากำหนดทริปดูงานได้แล้วจะเชิญประธานกรรมาธิการกิจการสภาไปด้วย และจะให้เลือกสรร หรือคัดเลือกคนที่จะเดินทางไปด้วยกัน แต่เนื่องจากยังไม่มี ตนจึงใช้วิธีแบ่งคร่าวๆ คือพรรคก้าวไกล 3 คน ที่มีความจำนงค์อยากทำงานในกรรมาธิการกิจการสภา ตนไม่ได้ดูว่าเป็นใครอย่างไร และได้เชิญอีกสองพรรคการเมืองใหญ่ คือพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยเดินทางไปด้วยกัน 

แต่สถานการณ์การเมืองตลอด 1 เดือนที่ผ่านมานั้น เรารู้ว่ามีทั้งความแปรปรวน มีการตัดสินใจหน้างานมาก เพราะฉะนั้น สมาชิกที่ไม่มีความพร้อมจึงไม่ได้ส่งชื่อเข้ามา จึงมีเพียงคนจากพรรคเพื่อไทย 2 คน ที่เดินทางไปด้วยกันกับเรา หนึ่งในนั้นคือ ศรันย์ ซึ่งมีบทบาทชัดเจนในการขับเคลื่อนสภาของพรรคเพื่อไทย ส่วน พัชระ ที่เป็นคนรุ่นใหม่และเป็นวิศวกรที่มีความเข้าใจเป็นอย่างดี 

"เราคิดว่าการเลือกสรรบุคลากรไปในที่นี้ จะนำมาซึ่งองค์ความรู้และภาคปฏิบัติในการนำกลับมาพัฒนาสภาของพวกเราด้วย ในส่วนของอีก 2 คนในส่วนของพรรคภูมิใจไทยที่ไม่ได้เดินทางไปด้วยนั้น เนื่องจากไม่สามารถส่งรายชื่อมาในเวลาที่กำหนด จึงทำให้มีเพียง 12 รายชื่อ ได้แก่ เจ้าหน้าที่สภา 4 คน ทั้งฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และถิ่นทำงานของสำนักเลขาธิการประธานสภา"

สำหรับค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้นนั้น ได้สรุปออกมาแล้วว่า ค่าตั๋วเครื่องบินจากที่ตั้งไว้ตามสิทธิ 52,000 บาท เราจองจริงได้ในราคา 28,000 บาท และจะส่งส่วนที่เหลือกลับคืนคลังทั้งหมด ค่าโรงแรมตามสิทธิเบิกได้ 12,500 บาท จองจริง 9,000 บาท เราพยายามประหยัดให้ได้มากที่สุด แต่ในฐานะที่ตนทำหน้าที่เป็นทูตของสภา การเยี่ยมคารวะ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงการเลี้ยงรับรองบุคคลต่างๆ ที่เข้าพบ ก็ต้องรับรองให้สมเกียรติกับประเทศไทยด้วย 

ในส่วนของงบรับรองที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามากเกินไปหรือไม่นั้น เนื่องจากตอนที่ตั้งงบประมาณไว้ตอนแรก เรายังไม่ทราบโปรแกรมละเอียด ยังไม่ได้มีการหักออก เช่น เมื่อสถานทูตเลี้ยงรับรองเรา เราจะหักส่วนนี้ออกจากเบี้ยเลี้ยงของคณะที่ไป ทำให้จ่ายเบี้ยเลี้ยงไม่เต็ม หรือในกรณีที่เราไปพบปะกับคนงานไทย นักศึกษาไทย ในสิงคโปร์ ตนก็ใช้งบรับรองนี้ในการดูแลและรับประทานอาหารง่ายๆ ร่วมกัน หักลบกลบหนี้แค่ไหน เท่าไหร่ อย่างไร ส่งกลับคืนคลังทั้งหมด ทั้งนี้ ตนยินดีที่จะแสดงใบเสร็จทั้งหมด ว่าใช้ไปเท่าไหร่อย่างไรบ้าง 

สำหรับข้อสงสัยที่ว่า ทำไมต้องไปวันเสาร์และวันอาทิตย์ เนื่องจากภารกิจของรองประธานสภาฯ จำเป็นต้องอยู่ในสภาเต็มเวลา วันจันทร์-วันศุกร์ ทำให้การจัดทริปเช่นนี้ปลอดภัยที่สุด ในตอนที่เราไม่รู้วาระการประชุม หากประธานสภาฯ มอบหมายให้ดำเนินการประชุมในวันพุธหรือวันพฤหัสบดี ตนก็ไม่สามารถหลักเลี่ยงได้ เราจึงเริ่มเดินทางในช่วงเย็นของวันพฤหัสบดี และพร้อมทำงานในวันศุกร์ 

ดังนั้น การทำงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐสภาสิงคโปร์ ทั้งการเยี่ยมคารวะ และการติดต่อราชการ จะเกิดขึ้นในวันศุกร์และวันจันทร์ที่เป็นวันทำการของสิงคโปร์ ส่วนในวันเสาร์และวันอาทิตย์นั้น เราให้การติดต่อหรือขอความช่วยเหลือไปยังสถานฑูตไทยในสิงคโปร์ สถานทูตจึงเป็นผู้จัดการให้เราไปดูงานในสถานที่ต่างๆ

เมื่อถามว่าการเดินทางไปดูงานที่ต่างประเทศจะขัดกับนโยบายของพรรคก้าวไกล ที่เคยหาเสียงไว้ว่าจะลดงบส่วนนี้นำไปเป็นสวัสดิการหรือไม่ ปดิพัทธ์ ระบุว่า ยังคงเป็นนโยบายเดิม แต่การดูงานในไทยของกระทรวงต่างๆ จะเห็นชัดเจนว่าในชั้นการอบรมสัมมนางบประมาณที่ใช้มหาศาล แต่ไม่สามารถตอบกลับมาเป็นผลสัมฤทธิ์ได้ 

"ยกตัวอย่าง ไปดูงานประเทศฝรั่งเศส แต่ไม่มีอะไรที่นำได้กลับมาใช้ได้ จึงต้องตั้งคำถามถึงผลสัมฤทธิ์ นโยบายไปดูงานการทำงานต้องให้ ให้ประหยัด คุ้มค่า ไม่ใช่วัฒนธรรมการดูงาน แต่เป็นจุดประสงค์ของการไปดูงาน ซึ่งคิดว่าพรรคก้าวไกลก็เห็นด้วยกับผมในการไปดูงานครั้งนี้ และภายหลังจากการไปดูงานต้องสามารถตอบคำถามของสังคมได้ ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ของข้าราชการหลายท่านตอบไม่ได้เลยว่า ดูไปแล้วได้อะไร หรือหลายท่านมองว่า ผมอยากไปเที่ยวหรือไม่ ผมต้องบอกว่าประเทศสิงคโปร์ไม่ใช่ประเทศท่องเที่ยว ผมไปดูงานจริง ๆ ไปดู Smart Parliament และคิดว่าถ้าสิ่งที่ผมทำได้รับการตรวจสอบแล้วสามารถพิสูจน์ได้ถึงผลลัพธ์ของการดูงานก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงมาตรฐานของการดูงานในประเทศไทยได้เช่นเดียวกัน"

ปดิพัทธ์ กล่าวต่อไปว่า หากเราทำโครงการอะไร ต้องตรวจสอบกับทางสำนักเลขาฯ ก่อนว่ามีงบประมาณในการดำเนินการหรือไม่ ซึ่งทางสำนักเลขาฯ แจ้งว่ามีงบประมาณ ซึ่งได้ประสานกับการทูต และการต่างประเทศ ว่ามีงบประมาณ 1,300,000 บาท ทางคณะฯ จึงมีหน้าที่ในการจัดโปรแกรมอย่างไรก็ได้ให้ไม่เกินงบและต้องเป็นการบริหารจัดการเงินให้ต่ำงบประมาณที่ได้มา

ส่วนเรื่องของผู้ติดตามที่เดินทางไปดูงานที่ต่างประเทศนั้น ปดิพัทธ์ ระบุว่า สำหรับโครงการนี้มีผู้ติดตามเพียงท่านเดียวคือ ไกลก้อง ไวทยการ ซึ่งเป็นอดีตกรรมาธิการกิจการสภา และเป็นผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้โดยตรง โดยการใช้จ่ายของผู้ติดตามจะเป็นการออกค่าใช้จ่ายโดยส่วนตัวเองทั้งหมด ไม่เกี่ยวกับงบประมาณของสภา ใครก็ไปได้ แต่ต้องออกเอง และต้องไม่กระทบต่อแผนการดูงานของสภา

เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการล้างท่องบประมาณหรือไม่ เพราะเป็นช่วงปลายงบประมาณ ปดิพัทธ์ กล่าวว่างบประมาณที่จัดไว้ประมาณล้านเศษ เทียบกับงบประมาณที่ค้างมีมหาศาล ถ้าตะช้างท่อจริงต้องไปประเทศที่มีค่าใช้จ่ายมากกว่านี้ เราใช้เท่านี้ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการเคลียร์ท่อ เราวางแผนตั้งแต่ต้นเทอม ซึ่งมาพอดีกันในช่วงเดือนกันยายน