วันที่ 14 ธ.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ที่มี ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม ได้ชี้แจงแนวทางทำความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่ารัฐธรรมนูญตามมาตรา 120 วรรค 1 กำหนดหลักการเบื้องต้นว่าการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรจะต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่จึงจะเป็นองค์ประชุม
เว้นแต่กรณีการพิจารณาระเบียบวาระกระทู้สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภาจะกำหนดข้อบังคับการประชุมเป็นอย่างอื่นได้ ซึ่งของกระทู้ได้มีการกำหนดไว้ใช้จำนวน 1 ใน 5 และในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรข้อ 25 วรรคสองกำหนดว่าเมื่อมีสมาชิกเข้ามาลงชื่อประชุมไม่น้อยกว่าตึงหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาจึงจะเป็นองค์ประชุม
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับองค์ประชุมและการลงมติในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สรุปได้ว่าองค์ประชุมมิได้มีความหมายแต่เพียงว่าเมื่อมีสมาชิกลงชื่อมาประชุมครบเพื่อเปิดการประชุม แล้วหลังจากนั้นสมาชิกจะอยู่ร่วมประชุมหรือไม่ก็ได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนสมาชิกในที่ประชุมอีกต่อไป หากเป็นเช่นนั้นผลจะเป็นว่า หลังเปิดประชุมแม้จะมีสมาชิกอยู่ประชุมไม่กี่คนก็อาจลงมติและมีเสียงข้างมากได้ ซึ่งไม่ใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
"เพราะฉะนั้น ขอสรุปเป็นแนวทางในการตรวจสอบองค์ประชุมเพื่อการลงมติว่า ในทุกกระบวนการ ทั้งการตรวจสอบองค์ประชุมก่อนลงมติ และขั้นตอนการลงมติ จะต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงจะถือเป็นองค์ประชุมที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและแนวทางการปฏิบัติ ของสภาชุดที่ 26"
ปดิพัทธ์ ระบุว่าจะแจ้งแนวทางปฏิบัติไปยังวิปฝ่ายค้านและวิปรัฐบาลได้ เพื่อจะได้มีความชัดเจนเรื่องขององค์ประชุมตลอดสมัยประชุม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเย็นวานนี้ (13 ธ.ค.) ปดิพัทธ์ ได้วินิจฉัยว่าองค์ประชุมไม่ครบ และสั่งปิดประชุมทันที เนื่องจากสมาชิกเสียงข้างมากที่ลงมติไม่รับหลักการร่างข้อบังคับสภาก้าวหน้าที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ มีจำนวน 223 คน ซึ่งไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด คือ 250 คน จึงวินิจฉัยว่าไม่ครบองค์ประชุม