ไม่พบผลการค้นหา
‘ปดิพัทธ์’ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 กางรายละเอียดดูงานสิงคโปร์ โชว์ตัวเลขงบประมาณใช้จริง 9 แสน ถูกกว่าที่ตั้งไว้ ขณะจ่อตั้ง คกก.สอบการแก้ไขสัญญาก่อสร้างอาคารรัฐสภาไม่เป็นธรรม ประวิงเวลาก่อสร้างล่าช้า-ไม่ตรงสเป็ค ชี้หากปล่อยข้อพิพาทคาราคาซัง ใช้พื้นที่สภาฯ ไม่คุ้มภาษีประชาชน

วันที่ 27 ก.ย. ที่อาคารรัฐสภา ปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฏร คนที่ 1 แจงรายละเอียดโครงการดูงานที่ประเทศสิงคโปร์ ว่า สรุปค่าใช้จ่ายจากงบประมาณที่ตั้งไว้ 1,493,800 บาท ใช้จริงไป 917,009.51 บาท ถือว่าใช้ต่ำกว่าที่ตั้งไว้ประมาณ 500,000 บาท

ส่วนงบรับรองตั้งไว้ 200,000 บาทใช้จริงไป 61,742 บาท ส่งคืนคลังจำนวน 138,257 บาทซึ่งรายละเอียดในการใช้จ่าย หมดไปกับการรับรองใช้ใน 2 งานหลัก คืองานเลี้ยงรับรองนักศึกษา และคนทำงานไทยในสิงคโปร์ที่ได้เชิญมาหารือกันในสถานทูตไทยประจำประเทศสิงคโปร์ รวมถึงรับรอง สส. สิงคโปร์ ส่วนที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ 

ในส่วนของรายละเอียดงานอยู่ระหว่างการรวบรวมรายงาน สิ่งที่พบมี 3 ประเด็น ประเด็นแรกเราต้องเตรียมความพร้อมในด้านกฎหมาย ที่จะทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าในอนาคต โดยตนได้พบกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าแบตเตอรี พบว่าหากประเทศไทยไม่เตรียมโครงสร้างทางกฎหมายรองรับ การพัฒนาอุตสาหกรรม EV ในประเทศไทยเป็นไปไม่ได้ เช่นเรายังไม่มีการตกลงกันเรื่องเบ้าชาร์จรถไฟฟ้า ทุกคนอยากมีรถไฟฟ้า 

แต่ยังไม่ตกลงเรื่องกระบวนการชาร์จ ยังไม่ตกลงกันเรื่องรูปแบบของตัวถัง ที่จะมีการใช้แบตเตอรีของทุกค่ายผู้ผลิต ซึ่งทั้งหมดต้องใช้มาตรการที่ออกแบบโครงสร้างทางกฎหมายที่เตรียมไว้ก่อน ผู้ประกอบการจึงสามารถลงทุนและสามารถที่จะดำเนินการได้ ตนจะส่งให้พรรคการเมืองต่างๆ เพื่อพิจารณา

เรื่องที่สองเป็นเรื่องปัญหาความท้าทายคนไทยที่ทำงานในระดับโลกอยู่ที่สิงคโปร์ ที่ไม่สามารถกลับประเทศไทยได้ เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น ระบบเศรษฐกิจที่ยังไม่พร้อม ยังไม่ดึงดูดชาวต่างชาติมาทำงานในประเทศไทย เนื่องจากไม่มีมาตรการทางภาษีในการสนับสนุน ปัญหา Open Data ยังไม่มีเพียงพอที่ทำให้บริษัทมาลงทุนในประเทศไทยได้

ประเด็นที่สาม เรื่องแรงงานไทยในสิงคโปร์ ตนได้มีโอกาสไปเยี่ยมพบว่า ในขณะที่เราได้ยินการอภิปรายเรื่องปัญหาแรงงานไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะแรงงานไทยที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ประเทศฟินแลนด์ ประเทศสิงคโปร์ไม่มีรายงานเรื่องนี้ แรงงานไทยเต็มใจและตั้งใจที่จะอยู่สิงคโปร์ แต่ต้องเป็นแรงงานที่มีทักษะสูงเท่านั้น และต้องการการสนับสนุนจากการที่แรงงานไทยจะสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น และมีลักษณะที่ดีขึ้น เพื่อทำให้เราแข่งขันในตลาดแรงงานที่มีทักษะสูงขึ้น

ส่วนการพัฒนาสภาให้ก้าวหน้าและโปร่งใส ปดิพัทธ์ กล่าวว่า ในสภาสิงคโปร์มีระบบที่ต่างกับประเทศไทยมาก ประเทศสิงคโปร์ลงทุนกับประสิทธิภาพของสภาสูงมาก ก็พบว่าสภาสิงคโปร์มีขนาดเล็ก เนื่องจากประเทศเล็ก มีเจ้าหน้าที่เพียงหลักร้อยคน แต่สามารถตัดสินใจเรื่องสำคัญของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากให้คุณภาพกับการประชุมสูงมาก 

“ประชุมเต็มที่เดือนละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 3-4 วันประชาชนสามารถนั่งในสภาได้ทั้งวัน เพื่อดูเรื่องการดีเบต การเสนอญัตติ และการตัดสินใจต่างๆของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้นในสภาชุดนี้ผมจะมีส่วนที่ทำให้ประชาชนมาสามารถนั่งดูได้” 

ปดิพัทธ์ ย้ำว่า เรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศเราไม่สามารถทำ Open Parliament ได้ ถ้ายังไม่มีนโยบายคลาวด์ ข้อมูลที่อยู่ในสำนักประชุม สำนักชวเลขไม่สามารถที่จะเปลี่ยนเป็นดิจิทัลให้ทันสมัยขึ้นได้ เรื่องนี้ตนจะนำเข้าสู่กรรมการ ICT ของรัฐสภา เพราะว่าการลงทุนในระบบคลาวด์จะทำให้เกิดความคุ้มค่าในอนาคต เพื่อทำให้การทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทันสมัยที่สุด และสื่อมวลชนสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีข้อมูลมากมายของสภาได้อย่างไร้รอยต่อให้ได้มากที่สุด 


ปดิพัทธ์ ยังกล่าวถึงข้อครหาในการดูงานว่า ในส่วนของคนที่ไป ก็จะมีสมาชิกที่ตามไปและกลับก่อน สมาชิกที่ตามไป ได้แก่ วรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เนื่องจากติดโควิด-19 ส่วนสมาชิกที่กลับก่อนมี 2 คน ได้แก่ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และศรัณย์ ทิมสุวรรณ สส.เลย พรรคเพื่อไทย ที่ทั้งคู่ติดภารกิจ แต่ได้มีการปรับตารางดูงานแล้ว


ส่วนเรื่องภาพการดื่มเบียร์ ปดิพัทธ์ กล่าวว่า มีความเข้าใจผิดว่าตนไปในช่วงเทศกาลคราฟท์เบียร์ ตนยืนยันว่าเราไม่ได้ไป เราไปแคมป์คนงาน และได้พบคนงานกว่า 30 คน เราพูดคุยกันเรียบร้อย แล้วมีการเชิญชวนกันว่าไปดูสถานที่ในหอพัก พบพวกเขากินอยู่อย่างไร เราได้ไปเยี่ยมสอบถามสารทุกข์สุขดิบ จึงเกิดภาพแบบที่เห็นขึ้นมา และไม่ได้เป็นภาพในร้านอาหาร แต่เป็นภาพในโรงอาหารในไซต์คนงานอยู่แล้ว

“ผมถือกระป๋องเบียร์ และก็ชนในวงต่างๆทำให้พวกเขากล้าที่จะพูดคุยกับผมมากขึ้น กล้าที่จะพูดคุยเรื่องความเป็นอยู่ ทำให้เกิดบรรยากาศแลกเปลี่ยน” ปดิพัทธ์ กล่าว

เมื่อถามว่า ยังมีคนมองว่าไม่เหมาะสมเพราะเป็นช่วงเวลาของการดูงานอยู่ ปดิพัทธ์ กล่าวว่าภาพลักษณ์ของตนต้องพิสูจน์ด้วยการทำงาน จนไม่สามารถแก้ตัวได้ เพราะตนก็ดื่ม แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่เลิกงาน ชีวิตส่วนตัวของตนพร้อมถูกตรวจสอบ และสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่เรื่องดังกล่าว จะถูกตรวจสอบเพื่อนำไปสู่อะไร เหตุผลของการตรวจสอบเป็นอย่างไร และตรวจสอบทุกหน่วยงานเท่าเทียมกันหรือไม่ นี่เป็นคำถามที่ตนต้องถามกลับไปยังผู้ที่ต้องการตรวจสอบ แต่หากภาพลักษณ์ของตน ทำให้น่าเชื่อถือทำงานในสภาฯ แล้วไม่ทำให้เกิดความเชื่อมั่น ตนก็พร้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ 

ปดิพัทธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่ตนเคยกล่าวไว้ก่อนไปว่าจะไปในฐานะทูต และเกิดภาพดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหมาะสมหรือไม่นั้น ตนคิดว่าการชนแก้วในทุกวาระโอกาส ตนได้เข้าพบกับเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย รวมถึงพบกับส.ส.ของประเทศสิงคโปร์ ก็มีการดื่มไวน์กัน ซึ่งเป็นเครื่องดื่มเท่านั้น ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับศักดิ์ศรี ซึ่งตนดื่มไวน์กับเจ้าหน้าที่ระดับสูง และดื่มแอลกอฮอล์กับคนไทยที่ไปทำงานในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสถานการณ์ปกติไม่ได้มีผลต่อภาพลักษณ์แต่อย่างใด


จ่อตั้ง คกก.สอบการแก้ไขสัญญาก่อสร้างอาคารรัฐสภา

ปดิพัทธ์ แถลงความคืบหน้าถึงการติดตามการส่งมอบอาคารรัฐสภาภายหลังเรียกหารือกรรมการตรวจรับงานตรวจการจ้าง พบว่า คณะกรรมการมีความเห็นแย้งในการที่จะตรวจรับโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภา เนื่องจากไม่สามารถทำให้อาคารรัฐสภาตรงตามแบบได้ทั้งหมด 6 จุดด้วยกัน โดย 6 จุดนี้ ทางกรรมการเสียงข้างน้อยทำความเห็นแย้งส่งให้กับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏรเรียบร้อยแล้ว 

ปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตามระเบียบการจ้างเมื่อมีความเห็นแย้งเกิดขึ้น คนที่จะชี้ขาดได้คือ เลขาธิการสภาฯ แต่ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงที่เลขาธิการสภาฯ คนปัจจุบันจะเกษียณอายุราชการ จึงอยู่ที่ว่า เลขาธิการสภาฯ จะจัดการเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จในสมัยของท่าน หรือรอรักษาการเลขาธิการสภาฯ ท่านใหม่ภายในเดือนหน้า แต่รักษาการเลขาธิการสภาฯ ก็ยังไม่มีอำนาจในส่วนนี้ ดังนั้นจะไปถึงขั้นตอนที่มีการแต่งตั้งเลขาธิการสภาฯ ท่านใหม่ก่อน 

สำหรับความเห็นแย้งที่ว่านั้น แยกออกเป็น 2 ฝั่ง และส่งผลต่อการตรวจรับ 2-3 กรณี โดยกรณีแรกคือ มีการฟ้องร้องของผู้บริษัทรับจ้างต่อสภาฯ มูลค่ากว่าพันล้านบาท ที่จะชี้มูลว่า จากการทำงานไม่แล้วเสร็จนั้น เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของสำนักเลขาธิการสภาฯ จึงเป็นเรื่องที่ทางฝ่ายกฎหมายของสภาฯ จะต้องต่อสู้เพื่อทำให้เกิดข้อเท็จจริง 

กรณีต่อมาคือ ค่าปรับการก่อสร้างล่าช้าที่ควรแล้วเสร็จในปี 2563 ที่มี 2 ช่วง เกิดขึ้นจาก มาตรการโควิด-19 ทำให้การก่อสร้างล่าช้าไป โดยมีกรรมการพิจารณา และมีมติให้งดเว้นค่าปรับประมาณ 857 วัน ส่วนอีก 150 กว่าวันนั้นเป็นเรื่องของมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่ปี 2559 ที่มีการช่วยเหลือเรื่องของค่าแรงที่ไม่สามารถจัดหาค่าแรงเป็น 300 บาทได้ เรื่องนี้ทำให้ค่าปรับวันละ 12 ล้านบาท จำนวน 990 วัน ทำให้ค่าปรับเป็น 0 

“เราต้องหากรรมการขึ้นมาว่า ในการแก้ไขสัญญาต่างๆ นั้น หรือ มติ ครม. รวมทั้งคนที่เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสัญญาทำไปโดยรอบคอบ และเกิดความชอบธรรมหรือไม่ ทำให้สภาฯ เสียมูลค่าไปอย่างไม่จำเป็นกว่าหมื่นล้านบาทได้อย่างไร” ปดิพัทธ์ กล่าว 

ทั้งนี้ ผลของกรรมการที่เสนอตั้ง หากเลขาธิการสภาฯ ยืนตามเสียงข้างมาก เราจะได้รับการตรวจมอบสภาฯ อย่างเป็นทางการภายในสิ้นเดือนนี้ แต่เรื่องที่ไม่ตรงแบบใครจะรับผิดชอบ ตอนนี้เป็นมากกว่าเรื่องผู้รับจ้าง แต่เราจำเป็นต้องได้รับความชัดเจนจากผู้ตรวจรับงาน ที่ปรึกษาในการดำเนินโครงการก่อสร้างด้วย 

ปดิพัทธ์ ชี้อีกว่า ถ้าไม่รับเรื่องนี้จะถูกดำเนินการต่อว่า ผู้รับจ้างจะดำเนินการปรับ 6 จุดที่ว่านั้นให้ตรงตามแบบได้หรือไม่ หากไม่ได้นำไปสู่การแก้สัญญาหรือไม่อย่างไร แต่กรรมการที่จะตั้งขึ้นมา ต้องเป็นกรรมการที่มาจากฝั่ง สส. และสว. โดยจะต้องยุติข้อพิพาทนี้ให้ได้ 

เพราะไม่ว่าเราจะเลือกทางไหนก็ตาม การที่เราปล่อยเรื่องให้คาราคาซังไม่สามารถตรวจรับได้ ส่งผลให้เราใช้พื้นที่ในสภาฯ ไม่ได้ และไม่คุ้มค่าต่อภาษีประชาชน แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องตรวจรับงาน และมีคนรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้น และไม่ตรงไปตามแบบสัญญา หรือเปลี่ยนแปลงสัญญาแบบไม่ชอบธรรม