ไม่พบผลการค้นหา
ประเทศทั่วโลก 187 ประเทศยังให้สิทธิการทำงานระหว่างหญิง - ชายไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเชียใต้

รายงานของธนาคารโลกเรื่องผู้หญิง ธุรกิจ และกฎหมาย ประจำปี 2019 ระบุว่า ประเทศทั่วโลก 187 ประเทศยังมีการปฏิบัติระหว่างเพศอย่างไม่เท่าเทียมกัน และ เมื่อ 10 ปีก่อนหน้านี้ไม่มีประเทศไหนที่ให้สิทธิการทำงานตามกฎหมายระหว่างผู้ชายและผู้หญิงอย่างเท่าเทียมกัน

ในรายงานระบุว่า ส่วนใหญ่ในหลายประเทศทั่วโลกมีเฉลี่ยมีคะแนนชี้วัดสิทธิความเท่าเทียมในกฎหมายการทำงานระหว่างหญิงและชายอยู่ที่ 70 -75 คะแนน และมีเพียง 39 ประเทศที่มีคะแนนในเรื่องนี้ 90 คะแนนขึ้นไป ซึ่งกว่า 26 ประเทศอยู่ในประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป สหราชอาณาจักร เอเชียกลาง และมีประเทศในละตินอเมริกาอย่างเปรู และปารากวัย รวมไปถึงไต้หวัน ถูกจัดอยู่ในประเทศที่มีสิทธิทางกฎหมายในการทำงานระหว่างหญิงและชายในลำดับสูงด้วยเช่นกัน

สำหรับประเทศที่ให้สิทธิการทำงานตามกฎหมายระหว่างหญิง-ชายอย่างเท่าเทียมกันนั้นมีเพียง 6 ประเทศ ได้แก่ เบลเยี่ยม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ลัตเวีย ลักเซมเบิร์ก และสวีเดน

ขณะที่ประเทศในกลุ่มเอเชียใต้ และกลุ่มประเทศในซับ-ซาฮารา แอฟริกานั้นต่างจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องรับการปรับปรุงด้านสิทธิการทำงานตามกฎหมายของผู้หญิง  

อย่างไรก็ตาม ประเทศในตะวันออกกลางและในอเมริกาเหนือต่างมีพัฒนาการความก้าวหน้าในการปรับปรุงสิทธิการทำงานตามกฎหมายระหว่างหญิงและชายน้อยที่สุด โดยได้คะแนนเพียง 47.37 เท่านั้น

'คริสตาลิน่า จอร์จิเอว่า' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารโลกกล่าวว่า "ความเท่าเทียมกันทางเพศเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประชากรบนโลกว่าครึ่งเป็นผู้หญิง และมีบทบาทในการพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้แก่โลก แต่ผู้หญิงมักไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากถูกกฎหมายกำกับรั้งความสำเร็จเอาไว้"

นอกจากนี้ ในรายงานยังพบว่า การปฏิรูปต่างๆ มักได้รับการผลักดันสนับสนุนจากกลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิสตรี

สำหรับประเทศไทยนั้นมีคะแนนตามตัวชี้วัดของธนาคารโลกที่ 75 คะแนน ร่วมกับกัมพูชา

ในรายงานฉบับนี้ธนาคารโลกใช้ดัชนีการให้คะแนนจาก การมีส่วนร่วมในการตัดสินทางเศรษฐกิจของผู้หญิงในระหว่างการทำงาน โดยวัดจากการมีเสรีภาพในการเคลื่อนไหวต่างๆ การรับเงินบำนาญ รวมไปถึงข้อกฎหมายต่างๆ และการจ้างงานหรือการเป็นผู้ประการของผู้หญิง

ที่มา the guardian

ข่าวที่เกี่ยวข้อง