ไม่พบผลการค้นหา
นิวซีแลนด์เสนอร่างกฎหมายใหม่ ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 ตารอย สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร พร้อมลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากภาคการเกษตร แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่มีมาตรการและแนวทางปฏิบัติหรือบังคับใช้รองรับ

ในวันที่ 8 พฤษภาคม ที่นิวซีแลนด์มีการเสนอร่างกฎหมายการแก้ปัญหาภูมิอากาศเข้าสู่สภา 'จาซินดา อาร์เดิร์น' นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ กล่าวว่าร่างกฎหมายที่เสนอนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะมุ่งเป้าไปที่การลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซมีเทนชีวภาพ รวมถึงจะมีการตั้งคณะกรรมการดูแลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยกฎหมายนี้มุ่งให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050

โดยหลักการแล้วการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ ไม่ได้หมายถึงการไม่ผลิตก๊าซคาร์บอนเลย แต่คือการลดปริมาณการปล่อยก๊าซ และกำจัดก๊าซคาร์บอนที่เกิดขึ้นเป็นการชดเชยเพื่อถัวกันให้ปริมาณการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์หรือติดลบ

'เจมส์ ชอว์' รัฐมนตรีกระทรวงการเปลี่ยนทางภูมิอากาศนิวซีแลนด์ กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้จะผ่านเป็นกฎหมายภายในสิ้นปีนี้

"เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องทำทุกอย่างที่ทำได้ในช่วง 30 ปี นับจากนี้ เพื่อจำกัดไม่ให้ภาวะโลกร้อนสูงขึ้นไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส และร่างกฎหมายปลอดคาร์บอนนี้ก็เป็นการผูกพันเป้าหมายดังกล่าวด้วยกฎหมาย" ชอว์กล่าว

พร้อมชี้ว่า นอกจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ร่างกฎหมายยังมุ่งเป้าไปที่การลดก๊าซมีเทนจากภาคเกษตรกรรม โดยมีเป้าหมายการลดก๊าซมีเทนชีวภาพลง 10 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2024

ขณะที่ เนื้อหาในหลายจุดได้รับการสนับสนุนจากพรรคอื่นๆ ด้วย แต่ด้วยความที่นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่มีภาคการเกษตรเป็นภาคธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในนิวซีแลนด์ การมุ่งเป้าไปที่การลดก๊าซมีเทนในภาคการเกษตรจึงเป็นข้อถกเถียงในสภา

พรรคแห่งชาติ (National Party) พรรคฝ่ายค้านของนิวซีแลนด์ ชี้ว่าเป็นการตั้งเป้าสูงเกินไป และวางตัวเป็นนักสิ่งแวดล้อมมากเกินไปที่มุ่งเป้าให้ปริมาณการก่อก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์

อีกด้านหนึ่ง 'แอนดรูว์ ฮอกการ์ด' รองประธานสหพันธ์เกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่าเป้าหมายดังกล่าวไม่ต่างจากการให้เลิกเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า

"พูดตรงๆ เลยนะ ทางเดียวที่จะลดการปล่อยก๊าซได้ขนาดนั้นคือการลดจำนวนการผลิต ไม่มีเวทมนต์หรือเทคโนโลยีอะไรรอให้เรานำมาใช้เลย" ฮอกการ์ดกล่าว

'รัสเซล นอร์แมน' กรรมการบริหารกรีนพีซนิวซีแลนด์ วิพากษ์วิจารณ์ร่างกฎหมายดังกล่าวว่าเป็นกฎหมายที่เห่าแต่ไม่กัด เนื่องจากไม่มีการระบุมาตรการหรือวิธีการที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายได้


ปี 2050 เป้าปลอดคาร์บอนของนานาชาติ

ขณะที่ นิวซีแลนด์ยังมีปัญหาเฉพาะตัวด้วยความที่เป็นประเทศเกษตรกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมฟาร์ม ซึ่งสัตว์อย่างวัวมีการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกผ่านการผายลมและการเรอ อีกทั้งแนวทางในการไปสู่อนาคตปลอดคาร์บอนนั้นยังคงคลุมเครือ แต่เป้าหมายของนิวซีแลนด์ก็อาจไม่ใช่เป้าที่เกินเลยดังฝ่ายค้านว่า เพราะไม่ใช่เพียงนิวซีแลนด์เท่านั้นที่หันมาตั้งเป้าเอาจริงกับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้ได้ภายในปี 2050

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 เมษายน สภาเมืองนิวยอร์กเพิ่งมีการรับรองร่างกฎหมายชุดหนึ่ง ซึ่งมีจุดหมายเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2050 ด้วยการใช้มาตรการต่างๆ กับอาคารในนิวยอร์ก เช่น บังคับให้อาคารขนาดใหญ่ในนครนิวยอร์กต้องหาทางปรับสภาพอาคารเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซลง ห้ามอาคารสร้างใหม่ใช้ผนังอาคารเป็นกระจกเว้นแต่กระจกฉนวนกันความร้อน เพื่อให้เครื่องปรับอากาศในอากาศใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการบังคับให้อาคารสร้างใหม่ต้องใช้มาตรการหลังคาเขียว ปลูกต้นไม้ปกคลุมพื้นที่ดาดฟ้า ติดตั้งแผงผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ หรือกังหันลม เพื่อบรรเทาปรากฏการณ์เกาะความร้อนเมือง ซึ่งเกิดจากการที่พื้นผิวของอาคารต่างๆ ปิดกั้นความร้อนจากพื้นดินไม่ให้แผ่ขึ้นสู่ท้องฟ้าในเวลากลางคืนทำให้พื้นที่เขตเมืองมีความร้อนสูงกว่าพื้นที่โดยรอบ มาตรการนี้จะทำให้อากาศเย็นลง และลดการใช้พลังงานภายในอาคารไปด้วย

ทางด้านสหราชอาณาจักรเอง คณะกรรมการการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศก็มีการปรับเป้าหมายใหม่ในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลง จากเดิมที่ตั้งเป้าว่าในปี 2050 จะลดการปล่อยก๊าซลง 80 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับระดับการปล่อยก๊าซในปี 1990 แต่เป้าหมายใหม่ที่คณะกรรมการชี้แนะ คือการทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปีดังกล่าว เป้าหมายนี้หมายความว่าภายในปี 2035 รถยนต์ทั้งหมดจะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้า และพื้นที่ป่าจะต้องเพิ่มจาก 13 เปอร์เซ็นต์ เป็น 17 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2050 อาคารต่างๆ ต้องมีการปรับสภาพ เช่น การติดกระจกฉนวนกันความร้อนแทน ประชาชนต้องรับประทานเนื้อน้อยลง และไม่เปิดเครื่องทำความร้อนในฤดูหนาวสูงกว่า 19 องศาเซลเซียส

หากรัฐบาลสหราชอาณาจักรรับแนวทางเป้าหมายใหม่ที่คณะกรรมการการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศนำเสนอ จะทำให้สหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศ G7 ที่มีเป้าหมายลดปริมาณคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์

นอกจากนี้ ล่าสุด 8 ประเทศจาก 28 ประเทศ ในอียู ได้แก่ ฝรั่งเศส เบลเยียม เดนมาร์ก ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน และสวีเดน ได้แสดงจุดยืนร่วมกันในเอกสารไม่เป็นทางการ เพื่อเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกในยุโรป ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิลงให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 พร้อมเสนอให้ใช้งบประมาณของอียูในช่วง 7 ปีนี้อย่างน้อย 25 เปอร์เซ็นต์ ไปกับโครงการที่มีเป้าหมายในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และแบนการสนับสนุนงบประมาณให้นโยบายที่ขัดขวางต่อเป้าหมายนี้


ที่มา: AFP/ The Guardian