ไม่พบผลการค้นหา
'ผอ.ทอ.' ย้ำจัดซื้อบินรบ F-35 คุ้มค่าภาษี-มีประโยชน์ กระบวนการโปร่งใส วอน กมธ. งบฯ ผ่านงบจัดซื้อ เผยเงื่อนไขสภาคองเกรสไม่ง่าย แต่มีโอกาส

วันที่ 2 ส.ค. 2565 ที่กองบิน 41 กองทัพอากาศ จ.เชียงใหม่ พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) กล่าวถึงการจัดซื้อจัดหาโครงการเครื่องบินรบ F-35 หลังถูกคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์​ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน สภาผู้แทนราษฎร​ ตัดออกจากงบประมาณประจำปี 2566 และได้ยื่นเรื่องอุทรณ์ซึ่งจะเข้าคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566

โดย พล.อ.อ.นภาเดช ระบุว่า โครงการจัดซื้อเครื่องบิน F-35 A ที่กองทัพอากาศเสนอนั้น กำลังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์เนื่องจากถูกตัดงบประมาณ เครื่องบิน F-35 A ถือเป็นหนึ่งในเครื่องบินรบที่ดีที่สุดของโลก สามารถใช้กับอาวุธได้หลายอย่าง รวมถึงอาวุธที่กองทัพอากาศมีใช้ในปัจจุบัน จึงไม่มีความจำเป็นต้องจัดซื้ออาวุธใดๆ เพิ่มเติมอีก การซื้อเครื่องบินก็จะทำให้ประหยัดงบประมาณ หากในอนาคตมีอาวุธใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ก็สามารถสั่งซื้อเพิ่มเติมได้ โดย F-35 ถูกออกแบบมาให้รองรับกับอาวุธใหม่ๆ

พล.อ.อ. นภาเดช กล่าวต่อว่า กองทัพอากาศจัดซื้อโดยแบบวิธีความช่วยเหลือทางการทหาร ( FMS) ซึ่งเป็นการจัดซื้อเจรจาระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล จึงมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ไม่มีนอกมีใน ไม่มีผลประโยชน์ เป็นกระบวนการจัดซื้อที่เป็นแบบอย่างที่ประชาชนต้องการ แต่รัฐบาลไม่สามารถไปเจรจาแบบมือเปล่าได้ ต้องมีความพร้อมเรื่องงบประมาณและแผนการดำเนินการที่สมบูรณ์ เพื่อให้ผู้ขายเห็นความพร้อม

"F-35 A เป็นเครื่องบินล้ำสมัย เต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่เราไม่เคยมีมาก่อน จะเกิดการศึกษาเรียนรู้ การถ่ายโอนเทคโนโลยีเพิ่มเติม ถือเป็นประโยชน์ในการพัฒนาคนและงาน รวมถึงความมั่นคงของชาติด้วย ดังนั้นหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2566 จะเล็งเห็นถึงองค์ประกอบที่สำคัญที่ได้กล่าวมา และกรุณาสนับสนุนโครงการสำคัญนี้ของกองทัพอากาศด้วย ขอให้ประชาชนมีความเชื่อใจในความซื่อสัตย์และซื่อตรงและกองทัพอากาศ ได้ทำตามภาระหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว" พล.อ.อ.นภาเดช ระบุ

เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เห็นชอบในการจัดซื้อ F-35 อย่างไรบ้าง พล.อ.อ. นภาเดช กล่าวว่า เรามีผู้บังคับบัญชาที่ดีมาก ท่านได้พิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ในสภาวะเศรษฐกิจที่รุมเร้า แต่กองทัพอากาศได้ใช้งบประมาณของตัวเองในการจัดซื้อ ไม่ได้ขอเพิ่ม จากที่รัฐบาลได้ตั้งกรอบเอาไว้ให้ ส่วนที่จัดซื้อเพียง 2 เครื่อง และจะทยอยซื้อในระยะที่ 2 และ3 เพิ่มเติมโดยใช้เวลา 10 ปี ซึ่งหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ในปี 2575 กองทัพอากาศจะมีเครื่องบินเอฟ 35 ประจำการจำนวน 12 เครื่อง และพร้อมที่จะปฏิบัติการรบในปี 2576 ภายหลังเตรียมการในทุกด้านเรียบร้อยแล้ว

ส่วนที่มองกันว่าการจัดซื้อเพียง 2 เครื่องน้อยเกินไปนั้น เราได้ศึกษา จากกองทัพอากาศต่างประเทศ ซึ่งทยอยจัดซื้อเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ร่ำรวย หรือฐานะปานกลาง ก็มีวิธีการจัดซื้อที่แตกต่างกันไป ประเทศที่จัดซื้อครั้งเดียวครบฝูงมีน้อยมาก 

เมื่อถามว่าทางสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา มีเงื่อนไขอยู่หลายข้อที่จะขายเครื่องบิน F-35 ให้แต่ละประเทศ พล.อ.อ.นภาเดช กล่าวว่า คงต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป ขณะนี้เราได้ดำเนินการมาครึ่งทางแล้ว ได้แก้ปัญหาผ่านอุปสรรคต่างๆ เป็นเรื่องๆ ไป เพราะในส่วนของกองทัพอากาศ ที่ดำเนินการได้เอง ทั้งการประสานขอความร่วมมือในระดับของกองทัพอากาศไทย และสหรัฐ ก็ได้รับความร่วมมือด้วยดี และเข้าใจความต้องการของกองทัพอากาศไทย และกองทัพอากาศสหรัฐฯ พร้อมที่จะสนับสนุน 

เมื่อถามย้ำว่ามีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะได้ใช่หรือไม่ พล.อ.อ.นภาเดช กล่าวว่า เราก็หวังเช่นนั้น

เมื่อถามว่าการซื้อเครื่องบิน F-35 จะกลายเป็นภาระในเรื่องของงบประมาณที่อาจส่งผลกระทบถึงเครื่องบินรุ่นอื่น ซึ่งอาจปลดประจำการเช่น C130 หรือไม่ พล.อ.อ.นภาเดช มองว่า ต้องดูตามความจำเป็น เพราะกองทัพอากาศไม่มีเงินถุงเงินถัง ดังนั้น การพิจารณาจัดซื้ออะไรต้องรอบคอบ เป็นการจัดซื้อเพื่อทดแทนเครื่องที่ปลดประจำการไป เพราะเครื่องเก่ามีค่าซ่อมบำรุงสูง หากตัดงบประมาณส่วนซ่อมบำรุง ก็สามารถนำมาใช้จ่ายในเครื่องบิน F-35 ที่เป็นงบประมาณที่ต่ำกว่า เพื่อเหลือเงินไปสนับสนุนโครงการอื่นได้