เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2565 ที่พรรคเพื่อไทย ยุทธพงศ์ จรัสเถียร ส.ส.มหาสารคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณีเครื่องบินรบของประเทศเมียนมารุกล้ำเข้ามาในน่านฟ้าไทย ที่ ต.วาเล่ย์ อ.พบพระ จ.ตาก เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สู้รบระหว่างกองทัพกะเหรี่ยงกับกองทัพของรัฐบาลเมียนมา ทำให้ประชาชนชาวไทยในพื้นที่ดังกล่าว ต้องอพยพลี้ภัย ขอตั้งคำถามไปที่กองทัพอากาศ (ทอ.) ทำไม ไม่ส่งเครื่องบินรบที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าไปสกัดให้ทันท่วงที ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า เครื่องบินรบเมียนมา มาแค่ตีวงเลี้ยว เข้าน่านฟ้าไทย ไม่ใช่เรื่องใหญ่ คุยกันแล้วก็จบ ทั้งที่จริงแล้วควรเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นการรุกล้ำอธิปไตยของประเทศ แต่นายกฯ พูดเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ยุทธพงศ์ กล่าวกรณี พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ(ผบ.ทอ.) ที่ระบุว่า ก็เดือดเหมือนกัน แต่เครื่องบินไทยขึ้นช้า แต่ยังป้องกันทางอากาศได้ดี เมียนมาก็คือเพื่อนว่า เป็นการพูดปัดไปปัดมา หากดูประเทศไทยมีเครื่องบินเอฟ-16 ของสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศเมียนมามีเครื่องบินมิก-29 ของประเทศรัสเซีย จริงๆ แล้วเอฟ-16 มีประสิทธิภาพเหนือกว่า มีระบบอาวุธที่ทันสมัยกว่า แต่เป็นข้อกังขาว่าทำไมเครื่องบิน เอฟ-16 ไม่รีบบินขึ้นไปสกัดกั้น
ยุทธพงศ์ กล่าวว่า ในปี 2563 พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผบ.ทอ. ขณะนั้น ของบประมาณจากรัฐสภา จำนวน 904 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อระบบการป้องกันอากาศระยะใกล้พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ (GBAD) ซื้อมาป้องกันตามชายแดนไทยเมียนมา พอ พล.อ.อ.มานัต เกษียณอายุ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ์ อดีตผบ.ทอ.รับช่วงต่อ ได้รื้อโครงการดังกล่าว ตัดแนวทางจัดหาจัดซื้อพัฒนา ให้เป็นการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ได้มีระบบพัฒนา ผิดไปจากคำของบประมาณ ทำให้ผิดไปจากวัตถุประสงค์ที่ของบจากรัฐสภาฯ เปลี่ยนจากการให้บริษัทที่ชำนาญการเข้ามาประมูลแข่งขันกัน เป็นเลือกบริษัทเดียวของประเทศอิสราเอล สุดท้ายดำเนินการไม่ได้ ผิดจากการของบประมาณไป แทนที่จะมีระบบป้องกันประเทศ เพราะหากมีเครื่องบินเข้ามารุกล้ำจะถูกจรวดโจมตี ทำให้เห็นกองทัพอากาศใช้งบประมาณไม่เป็น ไม่มีประสิทธิภาพ
ยุทธพงศ์ กล่าวว่า ในปี 2566 กองทัพอากาศของบฯ 3 หมื่นล้านบาท ซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35 A ลำละ 2.7 พันล้านบาท ซื้อทั้งหมด 8 ลำ จะดูว่าขอเงินไปแล้วยังซื้อไม่ได้ ครั้งนี้จะกล้ามาขอซื้อเครื่องบินดังกล่าวเป็นเครื่องบินเปล่า ไม่มีอาวุธอีกหรือไม่ โดยวันที่ 18 ก.ค.นี้ งบฯ ของกระทรวงกลาโหมทั้ง 3 เหล่าทัพจะเข้ามาที่ กรรมาธิการ(กมธ.)ร่าง พ.ร.บ.บประมาณ จะต้องซักถามว่าประเทศไทยเสียหาย เสียเกียรติภูมิมาก เพราะถูกเครื่องบินของกองทัพเมียนมารุกล้ำอธิปไตย