ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (18 มิ.ย.) ประชาชนในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้มีการลงประชามติ เห็นชอบให้มีการเสนอร่างกฎหมายมาตรการใหม่ ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศลง โดยเสียงข้างมากของประชามติให้การสนับสนุนร่างกฎหมายนี้คิดเป็น 59.1%

ประชามตินี้ได้รับการสนับสนุนและผลักดัน จากนักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ออกมารณรงค์ให้ผุ้คนตระหนักถึงการละลายของธารน้ำแข็งบนเทือกเขาแอลป์ในระดับที่น่าเป็นห่วง โดยน้ำแข็งบนเทือกเขาแอลป์นับเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญแห่งชาติสวิตเซอร์แลนด์

นักกิจกรรมสนับสนุนแผนของรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ ที่ต้องการจะบรรลุสภาพการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือสภาวะที่ประเทศจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับการดูดซับกลับ ซึ่งแผนของรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์นั้น ต้องการที่จะบรรลุสภาพการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2593 

แผนการดังกล่าวนี้ของรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ จะมีการมอบเงินสนับสนุนถึง 3 พันล้านฟรังส์สวิส (ประมาณ 1.16 แสนล้านบาท) เพื่อช่วยให้ภาคประชาชนและภาคเอกชนต่างๆ ลดและเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล พร้อมกันกับการอนุญาตให้บริษัทต่างๆ สามารถสร้างโรงงานพลังไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนเทือกเขาแอลป์ได้ พร้อมกับการเพิ่มการสร้างกังหันลมผลิตไฟฟ้า

อย่างไรก็ดี มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากพรรคประชาชนสวิส (SVP) พรรคฝ่ายขวาของสวิตเซอร์แลนด์ ที่ออกมาให้ความเห็นต่อมาตรการใหม่นี้ว่า จะทำให้ค่าไฟฟ้าของประเทศปรับตัวสูงขึ้น และไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญในระดับโลก ทว่าข้อโต้แย้งจากฝ่ายสนับสนุนระบุว่า สวิตเซอร์แลนด์นั้นจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะโลกร้อนแน่นอน และได้ส่งผลให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วในตอนนี้

จากสถิติการละลายของธารน้ำแข็งของสวิตเซอร์แลนด์ในปีที่ผ่านมาพบว่า ธารน้ำแข็งได้สูญเสียปริมาตรไปกว่า 6% ซึ่งนักวิชาการชี้ว่า แค่เพียงธารน้ำแข็งที่สูญเสียปริมาตร 2% ไปก็ถือว่าน่าเป็นห่วงแล้ว 

ทั้งนี้ มัททีอัส ฮุส นักธารน้ำแข็งวิทยา ที่สถาบันเทคโนโลยีสวิสเมืองซูริค ได้เผยแพร่ภาพถ่ายของธารน้ำแข็งที่ลดน้อยลง และภาพถ่ายหินถล่มที่เกิดขึ้นจากการละลายของชั้นดินแข็งถาวร ลงบนสื่อออนไลน์ เพื่อเน้นย้ำการเปลี่ยนไปที่กำลังเกิขึ้นในเขตเทือกเขาแอลป์


ที่มา:

https://abcnews.go.com/International/wireStory/swiss-vote-climate-bill-alpine-nations-iconic-glaciers-100175552 

https://www.dw.com/en/switzerland-backs-net-zero-climate-law-in-referendum/a-65953012