วันที่ 2 ก.พ ที่อาคารรัฐสภา ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงเรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่า วันนี้สิ่งที่เห็นแตกต่างคือ ส่วนที่เห็นว่าไม่ควรทำอะไรเป็นส่วนที่บอกว่าไม่วิกฤต ส่วนที่อยากทำคือส่วนที่เข้าใจว่าวิกฤตคือวิกฤต และที่รัฐบาลกำลังทำครั้งนี้คือยืนยันว่าดิจิทัลวอลเล็ตเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการที่จะทำให้ประเทศที่กำลังวิกฤตอยู่ ได้รับการแก้ไข
“แม้หลายคนจะบอกว่าไม่วิกฤต แต่ผมมองว่าเราเลยคำว่าวิกฤตหรือไม่วิกฤตไปแล้ว จริงๆ วันนี้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือวิกฤตทางการเงิน ซึ่งมาเรื่อยๆ แต่สิ่งที่เขาได้เตือนไว้ก็เป็นเรื่องที่น่าห่วงใย อย่างไรก็ตาม มีนักเศรษฐศาสตร์ตระกูลหนึ่งเคยระบุไว้ว่า หากวันนี้ไม่ทำอะไรที่ลงแรงและไปเพิ่มกำลังซื้อ ไปทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งเหมือนปี 2540 จะกลับมา ซึ่งหากพูดเช่นนี้เราก็ต้องรีบกลับมาทบทวน และคนที่เห็นว่ายังไม่วิกฤต แล้วหากประเทศเกิดวิกฤตขึ้นมาในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเหมือนต้มยำกุ้ง ต้องไม่ใช่แค่วิจารณ์ ถามหาความรับผิดชอบด้วย” ภูมิธรรม กล่าว
ภูมิธรรม กล่าวอีกว่า ฉะนั้น วันนี้รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาไว้ชัดเจนเรียบร้อยแล้ว และได้หาเสียงกับประชาชนแล้ว ควรเปิดโอกาสให้รัฐบาลได้ทำงาน เดินไป และเรารับผิดชอบต่อนโยบายของเราอยู่แล้ว จึงอยากฝากให้เป็นแง่คิดกับทุกคน ทั้งนี้ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้จะไปอะไรกับใคร แต่เป็นอีกหนึ่งความเห็นที่อยากให้ทุกคนได้พิจารณา ที่จะทำให้ประเทศเกิดประโยชน์และเดินหน้าต่อไปได้
ภูมิธรรม ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 กล่าวหลังการประชุม กมธ.งบฯ ว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 9 ชุด ชุดละ 10 คน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย และในวันนี้ได้ให้อนุกรรมการต่างๆ เริ่มประชุม พร้อมขอให้คณะอนุฯ เข้าประชุม กมธ.งบชุดใหญ่ด้วย ทั้งนี้ อยากขอบคุณการร่วมมือกันของคณะอนุต่างๆ ซึ่งมีทั้งบุคคลจากพรรคและบุคคลภายนอก
ภูมิธรรม กล่าวว่า สำหรับการประชุมวันนี้ได้ให้แนวทางว่า การพิจารณางบนั้นควรจะเป็นกรอบเดียว และหาข้อสรุปร่วมกัน และได้บอกกับสมาชิกว่า เราไม่ได้ทำงานให้กับพรรคทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล แต่ทำงานเป็นหนึ่งเดียวเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ เพื่อจะได้ร่วมมือกันทำงานด้วยดี แต่ยอมรับว่ามีความเห็นที่แตกต่าง แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาในการทำงาน เพราะระบอบประชาธิปไตยต้องเคารพความเห็นที่แตกต่าง และทำให้เรามองประเด็นได้รอบด้านมากขึ้น
"ผมมองว่าหากมีความเห็นที่แตกต่างในที่ประชุม ก็ไม่อยากให้ใช้วิธียกมือเอาความคิดใดเป็นหลัก อยากให้คุยหาข้อสรุป เข้าใจซึ่งกันและกันมากกว่า ให้ยึดเรื่องนี้เป็นแนวทาง"
ภูมิธรรม กล่าวว่า เรามีการเชิญข้าราชการกระทรวง และกรมต่างๆ มา ซึ่งล้วนมีความอาวุโสและมีประสบการณ์ ดังนั้นคำถามต่างๆ ต้องสั้นกระชับ และได้ใจความตรงประเด็น รวมถึงให้เกียรติทุกคนในการถามคำถามเพื่อเข้าถึงข้อมูล สิ่งสำคัญ คือ เรามีหน้าที่ดำเนินการให้เสร็จเร็วที่สุด เราทำงานกับงบปี 2567 ในภาวะที่ไม่ปกติ จึงอยากให้รีบทำเพราะรัฐบาลได้ทำโครงสร้างพื้นฐานประกอบคิดไว้แล้ว หากใช้งบส่วนนี้ได้เร็วก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชน
ในส่วนการปรับลดงบประมาณ ได้กำชับให้ดูว่าโครงการที่เสนอมาสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก แม้จะเป็นโครงการที่คิดมาดีแล้ว แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนก็สามารถปรับลดงบประมาณลงได้ และย้ำว่าการพิจารณานั้นต้องเคร่งครัดกับกรอบกฎหมายโดย รัฐธรรมนูญมาตรา 144 ต้องไม่ไปก้าวล่วงหรือเกี่ยวข้อง
"วันนี้เราใช้วิธีการใหม่ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนเดิมเราใช้แบ่งภาพรวม ซึ่งทำให้มีปัญหาว่าหน่วยราชการทำงานหนักต้องวิ่งไปวิ่งมาจนลำบาก จึงใช้วิธีรวมเป็นรายมาตรา ทำให้แต่ละกระทรวงสามารถชี้แจงจบได้ภายใน 1-2วัน หากได้ผลลัพธ์ที่ดี ก็จะเป็นแนวทางในอนาคต เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพเร็วที่สุด แต่หากไม่เป็นอย่างที่หวังก็พร้อมที่จะกลับไปใช้ระบบเดิม"
เมื่อถามถึงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่า การตั้งคณะอนุกรรมาธิการ กมธ. ตามรายกระทรวงนั้น เป็นการปกป้องงบ ของกระทรวงตนเอง ภูมิธรรม กล่าวว่า ปกป้องไม่ได้ เพราะคณะกรรมการวิสามัญชุดใหญ่ มาจากทุกภาคส่วนทางการเมือง สุดท้ายแม้จะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจริง คณะกรรมการวิสามัญชุดใหญ่ก็ต้องเป็นผู้ตัดสินใจอยู่ดี อย่ากังวลเกินไป
"การที่เราเชิญบุคคลภายนอกมาก็ดี หรือตัวแทนจากทุกพรรคการเมืองก็ดี ล้วนช่วยให้การดำเนินงานคล่องตัวและรวดเร็วยิ่งขึ้น หากตั้งใจจะทำเพื่อเอื้อประโยชน์เช่นนั้น อยู่ตรงไหนก็ทำได้ เจตนาแบบนี้สามารถแฝงไปได้ทั้งนั้น วันนี้เราเปิดเผยต่อสาธารณะ เปิดเผยต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่เป็นตัวแทนมาจากทุกพรรคการเมืองอยู่แล้ว"
ภูมิธรรม กล่าวต่อว่า ขณะนี้เราดำเนินการมา 17 วัน ภายในกรอบระยะเวลา 105 วัน เราพยายามจะทำให้เสร็จก่อนอย่างน้อย 15 วัน หรืออาจเร็วกว่านั้นหากทุกอย่างเดินไปด้วยดี เพราะหากรีบทำให้เสร็จสิ้นเร็วที่สุด เราจะมีงบประมาณ เพื่อไปแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้เร็วที่สุด
ภูมิธรรม กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเคยระบุว่าจะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยระบุว่า เราพูดอยู่เสมอว่าเรื่องมาตรา 112 เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึง และการจะกระทำเรื่องนี้ได้ ก็ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ให้เรามารับปากว่าจะไปแก้ไขมาตรา 112 เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และวันนี้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่เป็นกลางทางการเมือง ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวและรัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดเจน
ภูมิธรรม กล่าวด้วยว่า ฉะนั้นหากเราจะแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนก็มีเรื่องสำคัญจำนวนมาก ทั้งในเรื่องชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชน ความยากลำบาก เศรษฐกิจ ยาเสพติด สิ่งต่างๆ เหล่านี้เราทำกันได้เต็มที่ในส่วนของพี่น้องประชาชนและพรรคการเมืองทุกฝ่าย ย้ำว่าเรื่องนโยบายที่เป็นการแก้ไขปัญหาพี่น้องประชาชนเราสามารถทำได้หมด ทำได้เต็มที่ ส่วนเรื่องที่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่เป็นกลางทางการเมืองนั้น เราก็ควรให้สถาบันได้เป็นกลางอย่างแท้จริง และเราไม่ควรต้องมาพิจารณาเช่นนี้
“จริงๆ ผมเห็นใจพรรคก้าวไกล เพราะเคยอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน แต่สิ่งที่สำคัญปัญหาในการทำงานพรรคการเมืองต่างๆ นั้น ต้องอยู่ที่จุดสมดุล ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม แนวทางในการพิจารณาการแก้ไขปัญหาและการดำเนินการต่างๆ จุดสมดุลคือในรัฐประชาธิปไตยทุกที่เขายอมรับความแตกต่าง สงวนความแตกต่างได้ และความแตกต่างที่อยู่ในรูปแบบนี้เป็นความแตกต่างที่มีอิสระของตัวเอง เราต้องเคารพทั้งหมด และต้องหาจุดสมดุลที่เพียงพอ ไม่มีความคิดใครเก่งที่สุด ไม่มีความคิดใครดีที่สุด ไม่มีความคิดใครเป็นประชาธิปไตยกว่ากัน วันนี้แม้เขาจะมี สส.มาคนเดียว สองคน สิบคน เขาล้วนเป็นตัวเป็นตัวแทนของประชาชนที่เลือกเขามาทั้งนั้น” ภูมิธรรม กล่าว
ภูมิธรรม กล่าวอีกว่า ฉะนั้น การคำนึงถึงหลายเรื่องที่จะไปเกี่ยวพันกับชีวิตพี่น้องประชาชน เกี่ยวข้องกับโครงสร้างกับสถาบันทางการเมือง เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประเทศชาติ ล้วนแต่ต้องคำนึงถึงความเห็นและต้องเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างกัน หากเป็นเช่นนี้การทำงานทางการเมือง เราก็จะเข้าใจความต้องการของคนทุกส่วน คนทุกกลุ่มได้ดีกว่านี้ สามารถร่วมมือกันเดินทางไปในสิ่งที่เกิดประโยชน์กับประเทศได้สูงสุดกว่านี้
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยไม่เคยหาเสียงเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ใช่หรือไม่ ภูมิธรรม กล่าวว่า เราระมัดระวังเรื่องมาตรา 112 แม้กระทั่งมีตัวแทนมายื่นหนังสือกับเรา เราก็ชี้แจงไปว่าเรื่องนี้เราเห็นเช่นนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง และปฏิบัติอย่างเหมาะสม หรือแม้กระทั่งที่มีกลุ่มเยาวชนมายื่นหนังสือกับเรา เราก็ได้แถลงแล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะกระทบต่อสาธารณะชน ไม่ว่าตัดสินใจไปเช่นไรก็มีผลกระทบที่คนส่วนหนึ่งเห็นด้วย และคนส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย และหากเป็นเช่นนี้ก็จะสร้างความแตกแยกครั้งใหม่ให้กับสังคม เราจึงบอกว่าจะต้องทำให้เกิดฉันทามติ พูดคุยกันอย่างเรียบร้อย หากคิดว่าสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องไปตัดสินใจ
"ฉะนั้นวันนี้จึงคิดว่าเราควรใส่ใจชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนก่อน หากเราบอกว่ารักประชาชน แล้วเราเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางก็จะพบว่าขณะนี้ประชาชนกำลังยากลำบากมาก จะบอกว่าวิกฤตหรือวิกฤตให้ลงไปดูของจริง ไปเดินตลาด หรือไปดูนักธุรกิจรายเล็กรายย่อยทั้งหมด เขาพูดเหมือนกัน หรือแม้กระทั่งสภาอุตสาหกรรมเขาก็ยืนยัน ฉะนั้น ตัวเลขทางเศรษฐกิจสามารถพูดได้หลายอย่าง แต่เราควรต้องเอาวิชาการมาผสมผสมกับความเข้าใจและความเห็นใจพี่น้องประชาชน จึงเป็นระบบทุนนิยมที่มีจิตใจที่ดี ที่จะคำนึงถึง" ภูมิธรรม กล่าว