ไม่พบผลการค้นหา
ครม.เศรษฐกิจนัดแรก รับเศรษฐกิจปีนี้แผ่ว ดัน 3 มาตรการสำคัญ อุ้มเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง- ปลุกใช้จ่ายท่องเที่ยวในประเทศ-เติมเงินเข้าบัตรคนจน หวังหมุนเงิน 3.16 แสนล้านเข้าระบบเศรษฐกิจ ค้ำยันจีดีพีต้องโตเหนือร้อยละ 3

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณการชะลอตัวจากทั้งภาคการผลิต การเงิน และความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมทั้งปัญหาสงครามการค้าที่เข้ามาซ้ำเติม ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2562 อย่างมาก

ขณะที่ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เลขานุการคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ฝ่ายเศรษฐกิจนัดแรก ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีปัญหามากกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้า แต่รัฐบาลยังสามารถจัดการได้ ด้วยชุดนโยบายที่นำเสนอกันในวันนี้ (16 ส.ค.) จึงไม่อยากให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก

โดยชุดมาตรการที่ ครม. เศรษฐกิจ นำเสนอ มีเป้าหมายเพื่อตรึงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้ให้อยู่ที่ร้อยละ 3 และหวังผลให้เป็นฐานจีดีพีในปี 2563 ให้อยู่ที่อัตราร้อยละ 3.5 โดยหากมีการอนุมัติผ่านนโยบายช่วยเหลือทั้งหมด จะส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจราว 316,000 ล้านบาท


กอบศักดิ์ ภูตระกูล-แถลงผลครม.เศรษฐกิจ

ช่วยเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง 13 จังหวัด 9 แสนราย

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสริมว่า มาตรการที่เข้าสู่ที่ประชุมครม. เศรษฐกิจวันนี้ มี 3 ด้าน มาตรการที่ 1 เป็นมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง ผ่านการดำเนินการของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. โดยจะช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งใน 13 จังหวัด จำนวน 909,000 ราย ที่เป็นหนี้กับ ธ.ก.ส. โดยจะปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เป็นระยะเวลา 1 ปี 

ขณะที่ เกษตรกรรายย่อยจะได้รับสินเชื่อฉุกเฉินจำกัดไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย ฟรีดอกเบี้ยปีแรก วงเงินทั้งหมด 50,000 ล้านบาท สินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูซ่อมแซมเสียหายจากภัยแล้ง วงเงินรายละไม่เกิน 500,000 บาท รวมวงเงิน 5,000 ล้านบาท อีกทั้ง ธ.ก.ส. จะขยายเวลาชำระหนี้ของลูกหนี้รายเดิมด้วย

พร้อมกับมีมาตรการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/2563 สำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 3 ล้านราย

ปลุกใช้จ่ายภายในประเทศ เติมเงินให้ ปชช. เที่ยวไทย 10 ล้านคน ๆ ละ 1,000 บาท

มาตรการที่ 2 กระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ โดยจะสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศผ่านโครงการ 'ชิม ช็อป ใช้' ข้ามจังหวัด โดยให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารกรุงไทย เป้าหมาย 10 ล้านคน

โดยมีเงื่อนไขคือ เป็นประชาชนมีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยจะได้รับเงินจากการท่องเที่ยวผ่านอีวอลเลตจำนวน 1,000 บาท สามารถใช้จ่ายผ่านแอปฯ ได้ทันที และเมื่อใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวครบ 3 หมื่นบาท จะได้รับเงินคืนในอัตราร้อยละ 15 จากการใช้จ่าย เป็นต้น

พร้อมกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยว ด้วยการยกเว้นการตรวจลงตรา (วีซ่า) สำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนและอินเดีย ที่เดินทางมาประเทศไทย ซึ่งจะมีการหารือถึงความชัดเจนอีกครั้งกับหน่วยงานความมั่นคง 

"สำหรับมาตรการ ชิม-ช็อป-ใช้ ประชาชนที่มีอายุมากกว่า 18 ปี จำต้องไปลงทะเบียนเพื่อสร้างกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านธนาคารกรุงไทย และจะมีระยะเวลาการใช้เงินจำนวน 1,000 บาท เป็นเวลา 2 เดือน นับตั้งแต่วันที่ ครม. ชุดใหญ่มีมติอนุมัติมาตรการ" นายอุตตม กล่าว

โดยเป้าหมายการสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศผ่านการท่องเที่ยวนี้ ครม. เศรษฐกิจ ต้องการให้มีตัวเลขนักท่องเที่ยวในครึ่งหลังของปีนี้อยู่ที่ 20 ล้านคน ขณะที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวเป้าหมายของปี 2563 อยู่ที่ 41.8 ล้านคน ส่งผลให้ มาตรการผ่อนปรนวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีนและอินเดียจึงยังอยู่ในแผนดึงชาวต่างชาติเข้าไทย

ให้กรุงไทย-ออมสินปล่อยกู้เอสเอ็มอี วงเงิน 1 แสนล้าน

อีกด้านหนึ่ง คือสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี ด้วยการให้สถาบันการเงินของรัฐทั้งธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสินเข้ามาสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อพิเศษให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีวงเงินรวม 100,000 ล้านบาท และให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ยกเว้นค่าธรรมเนียม 2 ปีแรกให้กับเอสเอ็มอีและสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ 

รวมทั้งการสนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยให้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสิน เตรียมวงเงินดูแล 52,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ธอส. 25,000 ล้านบาท ออมสิน 27,000 ล้านบาท


อุตตม-แถลงผลประชุมครม.เศรษฐกิจ

"ครม. เศรษฐกิจ เสนอให้มีมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ โดยเน้นว่าต้องเป็นการลงทุนในเครื่องจักรเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าเงื่อนไขลดภาษีได้ 1.5 เท่า" นายอุตตม กล่าว

เติมเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ-พักชำระหนี้กองทุนหมู่บ้าน

มาตรการที่ 3 ช่วยเหลือค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อย ผ่านกลไกบัตรสวัสดิการณ์แห่งรัฐ แบ่งเป็น

  • ผู้ถือบัตรฯ ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเป็น 800 บาทต่อเดือน จากเดิม 300 บาทต่อเดือน
  • ผู้ถือบัตร ที่มีรายได้ 30,000-100,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเป็น 700 บาทต่อเดือน จากเดิม 200 บาทต่อเดือน

ส่วนผู้สูงอายุจะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกเดือนละ 500 บาท และให้เงินดูแลเด็กแรกเกิด (0-6 ปี) เพิ่มอีกเดือนละ 300 บาท โดยการช่วยเหลือเงินผ่านบัตรฯ มีระยะเวลา 2 เดือน หลังจาก ครม. ชุดใหญ่มีมติอนุมัติ

นายอุตตม กล่าวด้วยว่า หากไม่เพิ่มเม็ดเงินในกระเป๋าเงินของประชาชนก็จะไม่สามารถทำให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศได้ ดังนั้น ครม. เศรษฐกิจ จึงพิจารณานำเสนอ การเติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ในระยะเวลา 2 เดือน นับตั้งแต่นโยบายได้รับการอนุมัติ โดยจะได้เงินให้เปล่ากับประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ได้รับเงินเพิ่มจากเดิมอีกรายละ 500 บาทต่อเดือน 

รวมทั้ง จะออกมาตรการพักชำระหนี้กองทุนหมู่บ้านที่ประชาชนกู้จาก ธ.ก.ส. และ ธนาคารออมสิน เพื่อเปิดโอกาสให้กองทุนหมู่บ้านสามารถปล่อยกู้ให้กับประชาชนได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มาตรการทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นคือสิ่งที่ ครม. เศรษฐกิจ นำเสนอเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว ส่วนความชัดเจนของมาตรการต้องรอการลงมติจาก ครม. ใหญ่ 


ผู้มีรายได้น้อย-คนจน-คนไทย-บัตรสวัสดิการ

เพื่อไทย มอง "แจกเงินเที่ยวเมืองรอง-สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ" กระตุ้นศก.ไม่ได้จริง

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ มองว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นเรื่องดี แต่บางมาตรการยังขาดประสิทธิภาพ เช่น การแจกเงินเพื่อสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวเมืองรอง เมื่อไปพิจารณารายละเอียดจะพบว่า มาตรการในลักษณะดังกล่าวไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง จะเห็นได้จาก งบครึ่งปีแรกของสายการบิน ตกลงอย่างน่าใจหาย จำนวนนักท่องเที่ยวในเมืองรองก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากจังหวัดยังขาดความพร้อมให้เกิดการท่องเที่ยว และรัฐบาล ไม่มีนโยบายที่จะเข้าไปพัฒนาเมืองรองให้เป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างต่างๆ ด้านคมนาคม และจุดสนใจที่จะทำให้นักท่องเที่ยวมีความอยากไปท่องเที่ยวในเมืองนั้น 

ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยเคย เสนอแนะการพัฒนาวัฒนธรรมในเมืองรอง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจ กระตุ้นให้เกิดความต้องการในการท่องเที่ยว จึงเห็นว่ารัฐบาล ควรนำเงินไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างดังกล่าวก่อน จึงจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดประสิทธิภาพได้จริง

นอกจากนี้ ยังเห็นว่ามาตรการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ อาจต้องทบทวน เพราะปัญหาแท้จริงของ SME ในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องของการผลิตให้ได้มากขึ้น แต่ปัญหาของประเทศเป็นเรื่องของกำลังซื้อ เป็นเรื่องของความต้องการประชาชนที่ยังไม่ต้องการซื้อของ ซึ่งรัฐบาลต้อง ทำความเข้าใจเพื่อให้รู้ถึงปัญหาแท้จริงว่าอยู่ตรงจุดใด 

พร้อมกับชี้ว่า เมื่อไปดูกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ร้อยละ 60-70 เท่านั้นหมายความว่ายังไม่ได้ถูกเดินหน้าอย่างเต็มที่ ส่วนหนึ่งมาจากกำลังซื้อเพราะเมื่อผลิตมาแล้วไม่มีคนซื้อ รัฐบาลจึงต้องไปดูว่าปัญหาที่แท้จริง คือกำลังซื้อ และความเชื่อมั่นของประชาชน ที่จะออกไปใช้จ่าย

รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยย้ำว่า หากภาครัฐมองปัญหาไม่ขาดอาจเป็น การตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ดังจะเห็นได้จากการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง และจะขาดดุลงบประมาณต่อไปจนอาจเป็นภาระทางการคลังของประเทศ นั่นเพราะเมื่อใช้จ่ายไปแล้วไม่สามารถทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ ฐานภาษีจึงไม่ถูกพัฒนาให้ขยายขึ้น การเก็บภาษีจึงไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :