ไม่พบผลการค้นหา
ครม.เห็นชอบตาม ธอส. เสนอปรับกรอบวงเงินปล่อยกู้ 'โครงการบ้านล้านหลัง' แบ่ง 4 หมื่นล้านให้คนเงินเดือนต่ำ 25,000 บาท อีก 1 หมื่นล้านให้คนเงินเดือนเกิน 25,000 บาท หลังพบคนรายได้น้อยขอกู้มากกว่า พร้อมขยายเวลาทำนิติกรรมถึง 30 ธ.ค. 2564 จากเดิมสิ้นสุดสิ้นปีนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (12 มี.ค.) มีมติเห็นชอบปรับกรอบการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ (โครงการบ้านล้านหลัง) โดยเป็นกรอบวงเงินกู้ของกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาท/คน/เดือน ปรับเพิ่มเป็น 40,000 ล้านบาท จากเดิม 20,000 ล้านบาท 

ส่วนกลุ่มรายได้เกินกว่า 25,000 บาท/คน/เดือน ปรับลดกรอบวงเงินใหม่เป็น 10,000 ล้านบาท จากเดิม 30,000 ล้านบาท และจะสิ้นสุดการทำนิติกรรม เมื่อ ธอส.ให้สินเชื่อเต็มตามกรอบวงเงินคือ 50,000 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 30 ธ.ค. 2564 จากเดิมที่จะสิ้นสุดการทำนิติกรรมภายในวันที่ 30 ธ.ค. 2562

นอกจากนี้ ได้เห็นชอบการชดเชยส่วนต่างระหว่างรายได้ดอกเบี้ยรับตามแผนรัฐวิสาหกิจของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กับรายได้ดอกเบี้ยรับจากโครงการจากรัฐบาล รวม 6 ปี (2562-2567) เพิ่มเติม จำนวน 789.66 ล้านบาท จากเดิมที่เคยขอรับการชดเชยมาแล้วจาก ครม.เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2561 จำนวน 3,876 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินที่ ธอส. ขอรับการชดเชยทั้งสิ้น จำนวน 4,666 ล้านบาท 

พร้อมกับยกเว้นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 และสำหรับค่าใช้จ่ายที่ ธอส. จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล เพื่อชดเชยส่วนต่างระหว่างรายได้ดอกเบี้ยรับตามแผนรัฐวิสาหกิจของ ธอส. กับรายได้ดอกเบี้ยรับจากโครงการฯ เป็นระยะเวลา 6 ปี วงเงินรวม 989.66 ล้านบาท ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้รายงานผลการดำเนินโครงการบ้านล้านหลัง ซึ่งหลังจากที่ ธอส. เปิดให้ประชาชนจองสิทธิสินเชื่อตามโครงการดังกล่าวรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ภายใต้กรอบวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท พบว่ามีประชาชนให้ความสนใจยื่นจองสิทธิสินเชื่อ รวมทั้งสิ้น 127,102 ล้านบาท ซึ่งสูงเกินกว่ากรอบวงเงินสินเชื่อที่ ธอส. ได้กำหนดไว้จำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่าโครงการบ้านล้านหลังสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการมีบ้านเป็นของตนเอง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน มีผู้ยื่นจองสิทธิ 113,064 ล้านบาท ซึ่งมากกว่ากรอบวงเงินที่ ธอส. กำหนดไว้ จำนวน 93,064 ล้านบาท (ธอส. กำหนดกรอบวงเงินไว้ 20,000 ล้านบาท) 

ขณะที่ ยอดจองสินเชื่อสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ต่อเดือนต่อคนเกิน 25,000 บาท มีผู้ยื่นจองสิทธิเพียง 14,038 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่ากรอบวงเงินที่ ธอส. กำหนดไว้ จำนวน 15,962 ล้านบาท (กำหนดกรอบวงเงินไว้ 30,000 ล้านบาท) ดังนั้น เพื่อสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อที่อยู่อาศัยและได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองตามวัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าว ธอส. จึงได้ปรับกรอบการดำเนินโครงการบ้านล้านหลัง ซึ่งคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ในครั้งนี้กระทรวงการคลังจึงนำเสนอ ครม.เห็นชอบปรับกรอบการดำเนินโครงการบ้านล้านหลังนี้

คนรายได้ต่ำ 25,000 บาทต่อเดือน ยื่นขอกู้ทะลุวงเงินแตะ 1.13 แสนล้านบาท

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ครม.วันนี้ เห็นชอบตามที่ธนาคารเสนอให้ปรับกรอบวงเงินกู้ของโครงการบ้านล้านหลังภายใต้กรอบวงเงินที่ ครม. ได้อนุมัติไว้เดิมจำนวน 50,000 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าประชาชนทั่วประเทศที่มาจองสิทธิสินเชื่อโครงการบ้านล้านหลัง รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2561 ซึ่งมีจำนวนเงินรวมสูงถึง 127,000 ล้านบาท 

โดยพบว่าเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาท/คน/เดือน มีจำนวนถึง 113,000 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มรายได้เกิน 25,000 บาท/คน/เดือน มีผู้มาจองสิทธิจำนวนเพียง 14,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ณ วันที่ 11 มี.ค. 2562 พบว่ามีลูกค้าประชาชนทยอยเดินทางเข้ามาติดต่อยื่นคำขอกู้รวมแล้วกว่า 4,100 ราย วงเงินกู้ 2,560 ล้านบาท และธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อให้ลูกค้าได้มีบ้านในฝันเป็นของตนเองได้แล้วทั้งสิ้น 3,580 ราย วงเงินกู้ 2,200 ล้านบาท 

ปรับกรอบวงเงิน ช่วยคนรายได้น้อยมีบ้าน รับดอกเบี้ยคงที่ 5 ปีแรก ร้อยละ 3

กรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวด้วยว่า การขยายระยะเวลาการทำนิติกรรมไปเป็นภายในวันที่ 30 ธ.ค. 2564 เพื่อให้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีเวลาในการเตรียมความพร้อมด้านเอกสารหลักฐานแสดงที่มาของรายได้ เพื่อมาประกอบการยื่นกู้มากขึ้น เพราะหลังจากที่ธนาคารเปิดให้ยื่นกู้ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. 2562 พบว่ามีประชาชนหลายรายประกอบอาชีพอิสระหรือ ไม่มีเอกสารแสดงรายได้ที่ชัดเจน โดยสามารถติดต่อขอรับคำปรึกษากับเจ้าหน้าที่สินเชื่อเพื่อเตรียมเอกสารที่ต้องนำมาประกอบการยื่นกู้กับธนาคารในแต่ละวัตถุประสงค์การกู้ และแต่ละอาชีพได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ 

ขณะเดียวกัน ยังทำให้ผู้ประกอบการมีระยะเวลาในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทเพิ่มเติม เพื่อรองรับความต้องการซื้อของประชาชนกลุ่มนี้ต่อไป 

ทั้งนี้ โครงการบ้านล้านหลัง กำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อย ให้กู้เพื่อซื้อ หรือปลูกสร้างที่อยู่อาศัย และซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ผ่อนชำระได้นานสูงสุด 40 ปี อัตราดอกเบี้ย แบ่งเป็น กรณีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาท/คน/เดือน อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 – ปีที่ 5 คงที่ร้อยละ 3.00 ต่อปี กรณีกู้ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระ 5 ปีแรก เริ่มต้นเพียง 3,800 บาท 

พร้อมฟรีค่าธรรมเนียม (4 ฟรี) ได้แก่ 1.ฟรีค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ 2.ฟรีค่าประเมินราคาหลักประกัน 3.ฟรีค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม และ 4.ฟรีค่าจดทะเบียนนิติกรรมจำนอง (ร้อยละ 1 ของวงเงินจำนอง) 

กรณีรายได้เกิน 25,000 บาท/คน/เดือน อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1- ปีที่ 3 คงที่ร้อยละ 3.00 ต่อปี เงินกู้ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระ 3 ปีแรกเริ่มต้นเพียง 3,800 บาท เช่นกัน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :