ไม่พบผลการค้นหา
ชีวิตต้องสู้ของข้าราชการหญิงน้ำดี ผู้กระโจนลงไปขัดขวางการกระทำทุจริต ก่อนถูกระบบอุปถัมภ์และความล้มเหลวเล่นงานจนแทบสิ้นหวัง

สัปดาห์ที่ผ่านมากระทู้ในเว็บไซต์พันทิปที่มีชื่อว่า “19 ปีแห่งความทุกข์ ถ้าพ่อแม่ผมไม่เป็นคนดี ครอบครัวเราคงมีแต่ความสุข” ได้รับความสนใจและเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื้อหาภายในกระทู้ระบุถึงชีวิตของข้าราชการหญิงผู้ขัดขวางการกระทำทุจริตและประพฤติมิชอบ แต่กลับถูกฟ้องร้องจนกลายเป็นคดีความ แม้สุดท้ายเธอจะชนะคดีและได้รับการยกย่องเชิดชู แต่ชีวิตหลังจากนั้นกลับอยู่ไม่เป็นสุข ถูกกลั่นแกล้งสารพัดสารเพ ไม่เติบโตในหน้าที่การงาน ไม่ได้รับการปรับตำแหน่งและเงินเดือนเป็นเวลากว่า 19 ปี พูดง่ายๆ ว่า แทบหาความสุขไม่ได้ในชีวิต 

เธอและครอบครัว บอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดกับ 'วอยซ์ออนไลน์' โดยไม่ขอเปิดเผยชื่อ-นามสกุล รวมถึงหน่วยงานต้นสังกัด เนื่องจากยังรับราชการ เกรงจะกระทบกับสวัสดิการต่างๆ ที่ควรได้รับ โดยหวังว่าความเจ็บปวดของเธอจะเป็นบทเรียนและสะท้อนปัญหาในวงการราชการให้ทุกคนได้ตระหนัก 

นี่คือเรื่องราวชีวิตของข้าราชการไทย ผู้ที่ถูกมองว่า “ทำดี ไม่ได้ดี”


อนาคตดับวูบเพราะป้องกันทุจริต 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2543 ในฐานะหัวหน้าฝ่ายพัสดุ เธอถูกแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตรวจการจ้างในการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก 7 ชั้นของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในสังกัดกรม ก. กระทรวง ส. และได้พบการทุจริตและประพฤติมิชอบของคณะกรรมการตรวจการจ้างและผู้ควบคุมงานในหลายๆเรื่อง โดยสรุปเป็นประเด็นสำคัญได้ดังนี้

1. การก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานทางวิชาการด้านวิศวกรรมการก่อสร้าง อาคารขาดความมั่นคงแข็งแรงตามมาตรฐานทางวิศวกรรมการก่อสร้าง

2. การติดตั้งวงกบประตูหน้าต่างและช่องแสงผิดไปจากรูปแบบสัญญากำหนด

3. การก่อสร้างลานจอดรถ และงานถนนรอบอาคาร ไม่เป็นไปตามแบบกำหนด

4.การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามที่สัญญากำหนด แต่กลับขยายเวลาและตรวจรับงานทั้งที่งานยังไม่เสร็จเรียบร้อย

เธอเล่าว่า หลังพบความผิดปกติ ช่วงแรกได้ทำหนังสือแจ้งถึงผู้บังคับบัญชา เพื่อให้ดำเนินการสอบสวนกับผู้ควบคุมงานที่มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต แต่แทนที่ผู้บังคับบัญชาจะพิจารณาและดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง กลับส่งต่อหนังสือที่ตนแจ้งไปให้ต้นสังกัดของผู้ควบคุมงาน ส่งผลให้ผู้คุมงานและพรรคพวกไม่พอใจ ฟ้องร้องต่อศาลทั้งทางแพ่งและอาญาในฐานความผิดหมิ่นประมาท รวม 5 สำนวน พร้อมเรียกค่าเสียหายถึง 7 ล้านบาท 

“ฉันทำหนังสือผ่านผู้บังคับบัญชาอีกครั้งตามระบบราชการ เพื่อให้อธิบดีกรมทำหนังสือให้อัยการ ช่วยเหลือในเรื่องคดีความ เพราะเรื่องนี้เป็นการรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ แต่ท่านอธิบดีกลับเพิกเฉย โดยสรุปว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ทำให้ต้องจ้างทนายมาแก้ต่างเองและหมดเงินไปอีกหลายแสน”  

“ในระหว่างที่มีคดีนั้น ทางผู้บังคับบัญชาเติบโตในหน้าที่การงานจนเป็นอธิบดีกรมและได้เรียกตัวฉันเข้ามาพบ สั่งให้ไปขอขมาลาโทษกับพวกพ้องของตัวเอง แล้วจะให้พรรคพวกถอนฟ้องให้ แต่ฉันไม่ยอมเพราะมันไม่ถูกต้อง” 

สุดท้ายเธอชนะคดี ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าทำถูกต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติตามหน้าที่ของประชาชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่วุฒิสภาโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญซึ่งรับพิจารณาสอบสวนและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต ได้ทำการสอบสวนเรื่องดังกล่าวเช่นกัน และสรุปว่าคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องมีความผิดจริง ขณะที่เธอได้รับการประกาศเชิดชูเกียรติจากวุฒิสภา 


1.jpg

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่รายงานผลการพิจารณาสอบสวน ราว 500 หน้า จะได้เข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาคณะกรรมาธิการฯ ก็ได้หมดวาระลงเสียก่อน เนื่องจากประเทศเกิดการปฏิวัติ 

“ผลการพิจารณาออกมาแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อคือเสนอในที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อตัดสินลงโทษ แต่มันเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติเสียก่อน คณะชุดนั้นหมดวาระไป ไม่มีใครถูกเอาผิด แต่เขาก็ส่งเรื่องต่อมาให้กรมดำเนินการ แต่สุดท้ายก็เงียบหาย” เธอเล่า 


2.jpg

ถูกกลั่นแกล้งตลอดชีวิต 

จากการขัดขวางการกระทำความผิดและประพฤติมิชอบของเธอในครั้งนั้น ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า จะทำให้อนาคตทางราชการของเธอจะใกล้เคียงกับคำว่าอวสาน โดยต่อไปนี้คือตัวอย่างความทุกข์ทรมานที่เธอต้องเผชิญ 

- ถูกสั่งย้ายหน่วยงานฝ่ายพัสดุให้ไปทำงานในหน่วยงานฝ่ายบริหาร ซึ่งเธอที่ไม่มีความชำนาญ แม้จะยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครอง แต่ศาลก็ไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่า ผู้บังคับบัญชามีสิทธิ

- ไม่เจริญเติบโตในหน้าที่การงาน ไม่ได้รับการปรับตำแหน่งและเงินเดือนมา 20 ปี 

- สอบเพื่อเลื่อนตำแหน่งผ่านตามเกณฑ์และคุณสมบัติ แต่ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้รับตำแหน่ง

- ถูกขัดขวางและกลั่นแกล้งให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยากลำบาก

- พยายามยัดเยียดให้รับสินบน เพื่อจัดฉากยัดเยียดความผิดให้

- ถูกกดดันให้ทำงานที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบและส่อไปในทางทุจริต

- ผู้บังคับบัญชาจงใจสร้างเรื่องสร้างเหตุ ให้พรรคพวกนำมาฟ้องเป็นคดีหมิ่นประมาท เพื่อให้เป็นคดีความ เสียหาย และได้รับความยากลำบากในการสู้คดี

- ถูกมอบหมายงาน และถูกตั้งกรรมการสอบในงานต่างๆ ที่มอบหมายเพื่อหาความผิดให้

- ถูกกล่าวหาและสั่งสอบในข้อหาร้ายแรง ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานและข้อมูลใดๆรองรับ

- ถูกคุกคาม ข่มขู่จะทำร้าย ลวนลาม หลายกรณี แต่ผู้บังคับบัญชาเพิกเฉยในคำร้องทุกข์-ร้องเรียน

- ร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมใดๆ ก็ถูกเพิกเฉยในทุกกรณี

ทั้งนี้ในการสอบเลื่อนขั้น แม้เธอจะทำคะแนนผ่านเกณฑ์และมีคุณสมบัติครบถ้วน รวมถึงฟ้องร้องจนศาลปกครองออกคำสั่งให้หน่วยงานพิจารณาแต่งตั้งตำแหน่งให้กับเธอ แต่เมื่อเรื่องถูกส่งกลับมาที่ต้นสังกัด ผู้มีอำนาจก็ไม่ให้ผ่าน 

“เมื่อเขาไม่ให้ผ่านซะอย่าง คะแนนสูง คุณสมบัติครบ ยังไงก็ไม่ผ่าน เรายื่นเรื่องกลับไปที่ศาลอีกครั้งว่ายังไม่ได้รับความธรรม และตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ แต่มันก็ต้องแลกกับเวลาและเงินที่เสียไปในการต่อสู้” 

ข้าราชการหญิงผู้เคยได้รับรางวัลการันตีความสามารถในเส้นทางที่เธอชำนาญ อธิบายว่า ศาลปกครองมีหน้าที่เพียงแค่สั่งให้ยกเลิกหรือถอนคำสั่งเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ลงโทษ ผลการตัดสินและคำวินิจฉัยที่ได้รับเป็นลักษณะที่ชี้ให้เห็นว่า 

“คำสั่งจากผู้มีอำนาจในหน่วยงานไม่เป็นธรรมกับเรา โดยให้ยกเลิกและพิจารณาใหม่เท่านั้น” 

“ศาลมีคำวินิจฉัยว่าหน่วยงานคุณต้องทำให้ถูกต้อง ให้คะแนนเราใหม่และดำเนินการต่อไปให้ถูกต้อง รวมถึงวินิจฉัยด้วยว่าพวกที่กลั่นแกล้งเรา เป็นพวกที่ประพฤติผิด แต่สุดท้ายเมื่ออำนาจกลับไปที่หน่วยงาน เขาก็เลือกที่จะดองเรื่องไว้หรือไม่พิจารณา” ข้าราชการวัยใกล้เกษียณบอกด้วยความผิดหวัง

ต่อมาเธอได้นำคำพิพากษาจากศาลไปร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งมีอำนาจในการลงโทษผู้กระทำความผิด อย่างไรก็ตาม ผ่านไปกว่า 3 ปี ป.ป.ช. มีคำสั่งให้หน่วยงานต้นสังกัดไปตั้งคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งให้เธอใหม่อีกครั้ง โดยครอบครัวเธอเปรียบเปรยการตัดสินดังกล่าวว่า 

“เมื่ออำนาจถูกโยนกลับมาให้หน่วยงานเราเหมือนเดิม เขาก็เลือกที่จะไม่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่หรือตั้งแล้วก็บอกว่าผลการพิจารณาเหมือนเดิม”

ขณะที่ลูกชายที่เห็นคุณแม่เจ็บปวดมาตลอดชีวิตเสริมว่า “มันเอาชนะการทุจริตได้ยาก เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับว่า คนที่ใหญ่ที่สุดจะเลือกใคร พูดง่ายๆ ว่าเหมือนจำเลยเป็นผู้แต่งตั้งคณะลูกขุนเอง แล้วโจทย์จะเอาผิดจำเลยได้อย่างไร” 



3.jpg

(ตัวอย่างเนื้อหาในรายงานการสอบสวนของวุฒิสภา)


ความยุติธรรมราคาแพง

เกือบ 20 ปีที่ครอบครัวของเธอต้องทนทุกข์ทรมาน ไม่กล้าใช้เงินอย่างที่ต้องการเพราะต้องเก็บไว้ต่อสู้คดี สิ่งที่เธอได้เรียนรู้และอยากสะท้อนให้สังคมได้รับฟังก็คือ ความยุติธรรมและความตรงไปตรงมานั้นมีราคาแพง 

“ความยุติธรรมในสังคมไทยมันแพง คนที่ซื่อตรงอย่างครอบครัวเรา ไม่สามารถจ่ายเงินซื้อความยุติธรรมนี้ได้ อยากให้ทุกคนตระหนักว่า ด้วยระบบอุปถัมภ์และระบบความล้มเหลวของราชการ ทำให้เราไม่สามารถทำอะไรได้ หากไม่ผ่านผู้บังคับบัญชา ซึ่งถ้าผู้บังคับบัญชาเขาเป็นพรรคพวกเดียวกันกับกลุ่มคนที่คุมงาน ทุกอย่างก็จบ เรื่องนี้มันมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ หากคุณเลือกเดินเส้นทางเดียวกับเรา”

แม้จะเผชิญกับความลำบากมาเกือบ 20 ปี แต่เธอเลือกที่จะไม่ลาออกเพราะศักดิ์ศรีและการไม่ยอมก้มหัวให้กับคนที่เธอคิดว่าผิด 

“ไม่แน่ใจว่า..ไปกราบไหว้คนพวกนี้แล้วเราจะเจริญหรือได้รับความเป็นธรรม เขาส่งต่อความเกลียดชังกันเรื่อยมาเราเป็นข้าราชการกินเงินหลวง ทำงานให้หลวงเพียงแต่มีพวกคุณเป็นหัวหน้า แล้วเราต้องออกเพียงเพราะถูกคนพวกนี้แกล้งเหรอ น่าอายคนอื่นไหม เด็กใหม่หลายคนคงเลือกวางตัวเงียบๆ คิดว่าปล่อยเขาไปเถอะ เห็นเขาโกงไม่อยากยุ่ง ไม่คุ้ม เพราะความยุติธรรมมันราคาแพง” เธอส่ายหน้าและทิ้งท้ายว่า

“สังคมนี้ไม่ได้ส่งเสริมคนดี แต่กลืนกินคนดี ยังไงคุณก็แพ้และไม่มีที่สำหรับคนดี หรือหากคุณดีก็จริง แต่คุณดีได้สักกี่ปี 5 ปี 6 ปี ก่อนที่คุณจะถูกกลืน” 



4.jpg5.jpg6.jpg7.jpg

(ตัวอย่างเนื้อหาในรายงานการสอบสวนของวุฒิสภา)

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog