ไม่พบผลการค้นหา
'เครือข่ายคนรุ่นใหม่-ทะลุฟ้า-ไอลอว์' ยื่น 1.2 ล้านรายชื่อ ถอดถอน 'กกต.' หลังจัดเลือกตั้งล่วงหน้าพิรุธเพียบ ทำประชาชนแห่เข้าชื่อเพิ่มกว่า 4 แสนคนใน 3 วัน จี้ ป.ป.ช. สางความจริง เจตนาพลาดเพื่อทุจริตหรือไม่

11 พ.ค. ที่สำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) ตัวแทนเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม พร้อมด้วยเครือข่าย People Go โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ (iLaw) กลุ่มทะลุฟ้า และสมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) ยื่นหนังสือร้องเรียนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หลังพบการเลือกตั้งล่วงหน้าส่อแววทุจริต

ตัวแทนเครือข่ายระบุว่า ตามที่ กกต. ได้จัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า และการเลือกตั้งนอกเขตขึ้นเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ทางตัวแทนกลุ่มเล็งเห็นว่าการดำเนินการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตดังกล่าวเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริต หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 224 (2) จึงขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 234(1) โดยพบความผิดปกติดังนี้

  1. การปฏิบัติหน้าที่โดยความบกพร่องในการเปิดให้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า ในช่วงวันสุดท้ายเว็บไซต์ของการลงทะเบียนล่ม ส่งผลให้ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนไม่สามารถลงทะเบียนการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตตามกฎหมายได้
  2. การปฏิบัติหน้าที่โดยความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ในวันเลือกตั้งล่วงหน้ากระทบสิทธิทางการเมืองของประชาชนอย่างร้ายแรง คือ ผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตแล้วแต่เสียสิทธิในการเลือกตั้งเนื่องจากไม่ปรากฏชื่อในบัญชี, กรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยเขียนเขต และรหัสหน้าซองเลือกตั้งผิด ซึ่งอาจทำให้ผลคะแนนอาจไม่สะท้อนเจดนารมณ์ของผู้ใช้สิทธิอย่างแท้จริงและเกิดบัตรเขย่ง, ข้อมูลผู้สมัครและพรรคไม่ครบ, กรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยขัดขวางการสังเกตการณ์ของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน และการปิดผนึกซองบรรจุบัตรออกเสียงลงคะแนนไม่ถูกต้อง

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวที่ปรากฎขึ้นในหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตนั้น แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องในหน้าที่ และคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่สามารถปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ จึงขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ว่าเป็นการขัดต่อบทบัญญัติกฎหมายหรือไม่

หวิดวุ่น ปะทะคารม ป.ป.ช.

พิศิษฐ์ พัฒนกิจจำรูญ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นผู้รับหนังสือ พร้อมระบุว่าทางสำนักงาน ป.ป.ช. จะเร่งดำเนินการตรวจสอบต่อไป โดยเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอาจมาจากความไม่พร้อมของ กกต. ทำให้มีปัญหาในทางปฏิบัติ จากนั้นจึงมีการตั้งคำถามกันไปมา ระหว่าง ผอ.สำนักฯ และตัวแทนผู้ยื่นหนังสือว่า การปฏิบัติหน้าที่โดยไม่พร้อมถือว่าเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ ซึ่ง พิศิษฐ์ ระบุว่า ต้องดูที่เจตนาเป็นหลัก ทาง ป.ป.ช. ไม่สามารถตอบแทนได้

ผู้สื่อข่าวได้พยายามสอบถามถึงกรณีที่เครือข่ายเดียวกันนี้เคยได้มายื่นถอดถอน กกต. มาแล้วเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา ข้อมูลครั้งนั้นยังอยู่ในสารบบของ ป.ป.ช. หรือไม่ พิศิษฐ์ ระบุว่า ไม่ทราบเพราะเวลานั้นตนยังไม่ได้อยู่ในส่วนกลางของ ป.ป.ช. จึงไม่สามารถล่วงรู้ข้อมูลรายละเอียดของการไต่สวนได้ เนื่องจากมีข้อห้ามไว้

จากนั้น ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักเคลื่อนไหวกลุ่มทะลุฟ้า ได้สอบถามถึงความคืบหน้าของความผิดฐานจัดการขนส่งบัตรเลือกตั้งจากประเทศนิวซีแลนด์บกพร่องเมื่อปี 2562 ทำให้คะแนนไม่ถูกนับ ซึ่งแม้ว่า ป.ป.ช. จะมีการชี้มูลความผิด กกต. ที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากคะแนนที่ไม่ถูกนับจะรับผิดชอบเยียวยาอย่างไร ซึ่ง ผอ.สำนักฯ ระบุว่า ต้องไปถาม กกต. ซึ่งเป็นผู้รับต้องรับผิดชอบ ทั้งนี้มองว่าความเสียหายจากการเลือกตั้งไม่อาจประเมินเป็นมูลค่าได้

ด้าน วศินี บุญที ตัวแทนเครือข่ายคนรุ่นใหม่ฯ กล่าวว่า การทำงานของ กกต. ในการเลือกตั้งครั้งนี้ นับว่าย่ำแย่ลงกว่าปี 2562 อย่างการจ่าหน้าซองบัตรเลือกตั้งผิดจะส่งผลให้เกิดบัตรเขย่ง ซึ่งเป็นกรณีเดียวกันกับการเลือกตั้งในปี 2562

ทั้งนี วศินี ยังเผยว่า จากการลงชื่อถอนถอน กกต. ในเว็บไซต์ change.org ภายหลังจากวันที่ 7 พ.ค. นั้นมีตัวเลขเพิ่มขึ้นกว่า 4 แสนคน ภายในเวลาเพียง 3 วัน ทำให้ปัจจุบันมียอดรวมรายชื่อถึง 1,264,719 รายชื่อโดยประมาณ สะท้อนถึงความโกรธของประชาชน และความตื่นตัวในการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้คือความหวังของหลายคน ทาง กกต. ควรทำงานให้ถูกปต้อง และฝากไปถึงประชาชนให้ช่วยกันจับตาการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. นี้

550484.jpg550482.jpg