ไม่พบผลการค้นหา
นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ 2 วัน เพื่อหารือด้านความร่วมมือทางการค้าและบทบาทของมาเลเซียในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข 'ชายแดนใต้' ของไทย

กระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซียออกแถลงการณ์ว่า 'มหาเธร์ โมฮัมหมัด' พร้อมด้วยภริยา รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงพาณิชย์ และอุตสาหกรรม เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในวันที่ 24-25 ต.ค. 2561 ซึ่งเป็นการเยือนครั้งแรกนับตั้งแต่มหาเธร์เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

ทางการมาเลเซียระบุว่า นายกฯ มหาเธร์มีกำหนดการพบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อหารือความร่วมมือในกรอบทวิภาคี รวมถึงความร่วมมือด้านนโยบายทางการค้า การลงทุน เนื่องจากมาเลเซียและไทยเป็นคู่ค้าที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

เว็บไซต์แชนแนลนิวส์เอเชียรายงานว่า มูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างมาเลเซียและไทยในปี 2560 เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 18.4 และไทยถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ2 ของมาเลเซียเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน โดยเป็นรองเพียงสิงคโปร์เท่านั้น

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งในการพบกันของผู้นำสองประเทศในครั้งนี้ ได้แก่ การหารือความร่วมมือในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข เพื่อยุติความขัดแย้งและสถานการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในเชิงนโยบาย เนื่องจากทางการไทยและมาเลเซียต่างมีคำสั่งเปลี่ยนตัวผู้นำและผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยดังกล่าวในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ขณะที่เว็บไซต์นิกเกอิเอเชี่ยนรีวิว รายงานว่า การหารือเรื่องกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข ทำให้มีความหวังมากขึ้นว่าจะนำไปสู่การบรรเทาและยุติความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยรอบใหม่ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 15 ปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,000 ราย และบาดเจ็บกว่า 10,000 คน

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิเคราะห์ด้านการแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ให้สัมภาษณ์กับนิกเกอิเอเชี่ยนรีวิวเพิ่มเติม โดยระบุว่า แม้มาเลเซียจะรับบทบาทผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข มาตั้งแต่แรก แต่ข้อเสนอให้มีการสรรหา 'ผู้สังเกตการณ์' จากองค์กรระหว่างประเทศ ให้มาเข้าร่วนการพูดคุยด้วยนั้นก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม รุ่งรวีกล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่สุดอยู่ที่ว่าทางการไทยจะยอมอนุญาตให้มีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมในกระบวนการพูดคุยที่นอกเหนือจากผู้อำนวยความสะดวกซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลมาเลเซียหรือไม่ และในขณะนี้ทางการไทยเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจมากกว่าอีกฝ่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: